หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ตำนานสงขลา | สมเด็จเจ้าเกาะยอ กับพระสามสมเด็จภาคใต้
24 เมษายน 2561 | 13,952

ย้อนหลังกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา "สมเด็จเจ้าเกาะยอ" หรือในชื่อ "พระราชมุนีเขากุด" ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายคำมีกับนางแก้ว แต่เดิมท่านมีชื่อว่า "ขาว" ครั้งเมื่อเกิดมากลางฝ่ามือของท่านเป็นรูปดอกบัวสีขาว เมื่ออายุ 20 ปี ตาของท่านได้นำไปฝากกับ "อธิการอ่ำ" วัดต้นปาบ ตำบลบ้านพรุ เพื่อให้บวชเรียนและอุปสมบทในที่สุด และจำพรรษาอยู่ที่วัดต้นปาบอยู่ถึง 7 พรรษา เมื่อศึกษาหลักธรรมจนแตกฉาน จึงขอลาพระอธิการอ่ำเพื่อออกเดินธุดงค์ สมเด็จเจ้าเกาะยอไปจำพรรษอยู่ที่วัดสุวรรณคีรี ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร (วัดโบราณเก่าแก่อีกแห่งของจังหวัดสงขลา) อยู่ถึง 6 พรรษา ก่อนท่านจะออกเดินธุดงค์ต่อไปยัง วัดบางโหนด ตำบลคูเต่า และเมื่อออกพรรษาท่านได้เดินธุดงค์ไปยังเมืองสทิงพระ เพื่อพบกับ "สมเด็จเจ้าพะโคะ" หรือ "หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ที่เราชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งสองได้นั่งสนทนาธรรมจนเป็นที่ชอบพอกัน

บางตำนานเล่าว่า ระหว่างที่หลวงปู่ทวดกับสมเด็จเจ้าเกาะยอกำลังสนทนากัน สมเด็จเจ้าเกาะยอตั้งสัจอธิษฐานว่า หากตัวท่านและสมเด็จเจ้าพะโคะได้ร่วมสร้างบารมีร่วมกันมา ขอให้สมเด็จเจ้าพะโคะนั่งอยู่บนพรมสีแดง เหตุการณ์อัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อสมเด็จเจ้าเกาะยออธิษฐานเสร็จ ก็เห็นสมเด็จเจ้าพะโคะนั่งอยู่บนพรมสีแดงจริงๆ หลังจากนั้นทั้งสองจึงออกเดินธุดงค์ไปด้วยกัน จนไปพบ "สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่" เมื่อสนทนาธรรมเสร็จ สมเด็จเจ้าเกาะยอก็ตั้งสัจอธิษฐานต่อว่า หากตัวท่านกับสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ เคยสร้างบุญบารมีร่วมกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็ขอให้สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ยืนอยู่บนพรมสีเหลือง เมื่ออธิษฐานเสร็จท่านก็เห็นสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ยืนอยู่บนพรมสีเหลือง ต่อมาทั้งสมเด็จสามจึงร่วมออกเดินธุดงค์ เพื่อไปพบกับสมเด็จเจ้าท่าเภา (วัดท่าสำเภาเหนือ จังหวัดพัทลุง) ชาวบ้านมักเรียกท่านว่า "สมเด็จเจ้าพรหมทอง" ทั้งสี่ได้ร่วมสนทนาธรรมจนพอใจ สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ตั้งสัจอธิษฐานอีกครา ครั้งนี้หากสมเด็จเจ้าท่าเภาเคยร่วมบุญบารมีกับท่านมา ก็ขอให้สมเด็จเจ้าท่าเภานั่งบนพรมสีขาว ผลปรากฏว่าเป็นไปตามดังที่สมเด็จท่านอธิษฐานไว้

สมเด็จเจ้าทั้งสี่ออกเดินทางธุดงค์ร่วมกันอยู่ระยะหนึ่งก็แยกจากกัน โดยสมเด็จเจ้าพะโคะออกเดินธุดงค์กลับไปที่วัดช้างไห้ สมเด็จเจ้าท่าเภาเดินกลับไปที่วัดท่าสำเภาเหนือ และสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เดินทางกลับไปวัดสูงเกาะใหญ่ ส่วนสมเด็จเจ้าเกาะยอได้ออกเดินธุดงค์ไปเมืองสงขลา ลงเรือข้ามฝั่งที่เกาะยอ บ้านแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ ท่านไปปักกลดจำพรรษาอยู่บริเวณนี้นานถึง 7 เดือน จึงเดินทางกลับไปเยี่ยมบิดาและมารดา ณ บ้านพรุ และจำพรรษาที่วัดต้นปาบ ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น สมเด็จเจ้าเกาะยอได้เหยียบรอยเท้าเอาไว้ในบริเวณวัดต้นปาบ เหมือนสมเด็จเจ้าพะโคะที่เหยียบไว้ ณ วัดพะโคะ ต่อมาชาวบ้านเรียกวัดต้นปาบว่า "วัดพระบาทบ้านพรุ"

หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางกลับไปยังเกาะยออีกครั้งหนึ่ง ท่านได้ไปปักกลดอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า "เขากุุฏิ" (เขากุฏิ มาจากการเป็นที่ตั้งของกุฏิสมเด็จเจ้าเกาะยอ) คืนวันหนึ่งระหว่างที่สมเด็จเจ้านั่งสมาธิยู่นั้น ได้เกิดนิมิตรเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จลอยลงมายังยอดเขา ทำนายว่าต่อไปสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ขอให้สมเด็จท่านจำพรรษอยู่ที่นี่ ให้สร้างรูปเหมือนพระพุทธองค์ ต่อมาสมเด็จเจ้าเกาะยอก็ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานยังยอดเขากุฏิ จนกระทั่งสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดฺ์ว่า "พระราชมุนีเขากุฏิ" แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียกท่านว่า "สมเด็จเจ้าเกาะยอ" หรือ "สมเด็จเจ้าเขากุฏิ"

หาดใหญ่โฟกัส

เรื่องที่เกี่ยวข้อง