"วัดสุวรรณคีรี" หรือ "วัดออก" เป็นวัดที่ใช้ทำพิธีถือน้ำสาบาน หรือ น้ำพิพัฒน์สัตยาอธิษฐาน ของบรรดาเหล่าข้าราชการเมืองสงขลา ในช่วงปี พ.ศ. 2379 หรือในช่วงที่เมืองสงขลาตั้งอยู่ที่ท่าแหลมสน การที่ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดออก" มาจากตัววัดสุวรรณคีรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ของวัดบ่อทรัพย์ วัดภูผาเบิก วัดสิริวรรณาวาส วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) "พระยาวิเชียรคีรี" ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 6 เคยอธิบายถึงผู้สร้างวัดแห่งนี้ ผ่านโคลงกลอนบทหนึ่ง ซึ่งทำให้ทราบว่า วัดสุวรรณคีรีสร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสงขลาคนใดคนหนึ่ง ระหว่าง หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยียง ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา คนที่ 1 (พ.ศ.2318-2322) หรือ หลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา คนที่ 2 (พ.ศ.2322-2355) การที่พินิจพิเคราะห์เบื้องต้น มาจากชื่อของวัดสุวรรณคีรี ที่มาสอดคล้องกับชื่อของเจ้าเมืองสงขลาทั้งสอง
วัดสุวรรณคีรี เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ไม่แพ้วัดดังในประเทศไทยเลยทีเดียว ภาพจิตรกรรมดังกล่าวเป็นภาพเขียนสี ที่มีลวดลายสวยงาม อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีหอระฆัง และเจดีย์หินสถาปัตยกรรมแบบจีน (ถะ) ตั้งอยู่บริเวณรอบพระอุโบสถอีกด้วย
เมื่อพูดถึง "หอระฆัง แห่งวัดสุวรรณคีรี" ทางกรมศิลปากรได้ให้ข้อมูลไว้ว่า หอระฆังด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นตัวอาคารที่ก่อด้วยปูน มีทั้งหมดสองชั้น ชั้นล่างก่อทึบ ชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปวงรีทั้งสี่ด้าน ภายในแขวนระฆัง อาคารดังกล่าวสะท้อนถึงลักษณะศิลปะทางตะวันตก เช่น การทำซุ้มประตูอาร์ตโค้งที่ชั้นล่าง ซุ้มหน้าต่างทรงรูปไข่ที่ชั้นบน ทั้งนี้ อิทธิพลของตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 และชัดเจนขึ้นในสมัยถัดมา ดังนั้น พอสรุปได้ถึงอายุของหอระฆัง ซึ่งไม่น่าจะเก่าไปกว่ารัชกาลที่ 3
ส่วน "เจดีย์หิน หรือ ถะศิลา" ด้านหน้าอุโบสถ มีลักษณะสำคัญ คือ ด้านล่างเป็นฐานเขียง รองรับส่วนกลางซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคาร 6 ชั้น และอยู่ในผัง 8 เหลี่ยม ด้านบนสุดประดับปล้องไฉน ทั้งนี้ ถะ คือ สถูปทรงอาคาร ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของชาวจีน ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง ชั้นที่ 2 ปรากฏจารึกภาษาจีน อ่านว่า "เจียงชิ่งซื่อเหนียน" แปลว่า ปีที่ 4 แห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง ซึ่งอยู่ในปี พ.ศ.2342 ตรงกับรัชกาลที่ 1
สุดท้ายที่เราจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ "เจดีย์หน้าวัดสุวรรณคีรี" เจดีย์แห่งนี้ชาวบ้านล่ำลือ เล่าต่อ ๆ กันว่า หินที่ล้อมรอบเจดีย์องค์นี้ สามารถงอกขึ้นมาได้เอง ชาวบ้านและวัดจึงมาบูรณะใหม่ ด้วยการทาสีให้ดูสวยงามกว่าเดิม รอบฐานเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ มีรูปพระสาวกปูนปั้นนูนต่ำประนมมือ อยู่ภายในวงกลม
การที่ผู้เขียนได้หยิบยกวัดแห่งนี้มาเขียน อาจเป็นเพราะว่าวัดสุวรรณคีรี เป็นเสมือนวัดสำคัญสมัยสงขลาฝั่งแหลมสน ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ และความสำคัญมากมายนัก
วัดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองสงขลาอีกแห่งหนึ่ง ที่เราชาวสงขลาควรอนุรักษ์ไว้สืบต่อไป ในฐานะวัดโบราณสมัยรัชการที่ 1 นั่นเอง
Cr: กรมศิลปากร / เทศบาลเมืองสิงหนคร / Gotoknow
เขียนและเรียบเรียง: หาดใหญ่โฟกัส
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 111จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 116บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 182ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 225พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 854รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 650เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 508ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 814