หลังจากที่เราได้นำเสนอประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองหาดใหญ่ อันเป็นการบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อกำเนิดของเมืองหาดใหญ่ โดยในบทความนี้ หาดใหญ่โฟกัส จะมานำเสนอประวัติความเป็นมาของชุมชนแต่ละชุมชนของอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งได้ถูกเก็บรวมและเขียนโดย "คุณคุณาพร ไชยโรจน์" หนึ่งในบุคคลที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เมืองหาดใหญ่และสงขลาเป็นอย่างดี วันนี้เราขอนำเสนอในตอนที่ 1 อันจะกล่าวถึงที่มาที่ไปของชื่อ บ้านหาดใหญ่ บ้านทุ่งตำเสา บ้านทุ่งรี บ้านทุ่งโดน บ้านทุ่งใหญ่ บ้านพรุเตาะนอก บ้านทุ่งลุง บ้านน้ำน้อย บ้านคอหงส์ และบ้านคูเต่า เป็น 10 ชุมชนจาก 29 ชุมชนในเขตอำเภอหาดใหญ่
ก่อนอื่นเลยการที่จะตั้งชื่อหมู่บ้านหรือสถานที่ใดๆก็ตาม จำต้องมีสาระสำคัญเข้าประกอบด้วยเสมอ อาทิ สภาพแวดล้อม ลักษณะทางภูมิประเทศ ตัวบุคคล รวมถึงสภาพทางการดำรงชีพตามปกติวิถี ความเชื่อ และประเพณี เป็นต้น เป็นดังนั้นแล้วชื่อหมู่บ้านที่ปรากฏในเขตของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงมีที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจควรค่าแก่การศึกษายิ่ง ดังนี้
1.บ้านหาดใหญ่ (เทศบาล) หมู่ที่ 4 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า ชื่อบ้านหาดใหญ่นี้มาจากชื่อของ “ต้นมะหาดขนุน” ขนาดใหญ่ ซึ่งยืนต้นเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งคลองเตย (ทางเข้าหมู่บ้านจันทร์นิเวศน์และบ้านทุ่งเสา ปัจจุบันคือช่วงปลายสุดของถนนนิพัทธ์อุทิศ 3) ต้นมะหาดขนุนนี้เองที่ชาวบ้านในสมัยก่อนใช้เป็นที่หลบไอแดดในช่วงกลางวัน ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันเป็น “หาดใหญ่” ดังปัจจุบัน
2.บ้านทุ่งตำเสา หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านนี้ยังคงสภาพเป็นทุ่งโล่งกว้างยังมีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอย่างหนาแน่นชาวบ้านนิยมตัดมาใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนเรียกกันว่า “ต้นตำเสา” ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านที่ตั้งในบริเวณดังกล่าวว่าบ้านทุ่งตำเสา เพื่อให้ระลึกว่าแต่เดิม ณ สถานที่แห่งนี้เคยมีต้นตำเสาอยู่อย่างหนาแน่นมาก่อน
3.บ้านทุ่งรี หมู่ที่ 5 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านนี้เป็นท้องทุ่งนา ลักษณะเป็นรูปวงรี เวลาชาวบ้านไปทำกิจธุระที่ใดก็ตามมักเรียกสถานที่อยู่ของตนว่า “อยู่ทุ่งรี” จนกระทั่งเรียกติดปากว่า “บ้านทุ่งรี” ดังปัจจุบัน
4.บ้านทุ่งโดน หมู่ที่ 8 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านนี้ยังเป็นทุ่งนาอยู่และมีต้น “โดน” ใหญ่ขึ้นอยู่ปลายนา ต้นโดนนี้เองที่ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวมักนิยมนำส่วนยอดและใบมารับประทานร่วมกันกับน้ำพริก ส่วนผลก็ใช้รับประทานได้ และเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะของต้นโดนใหญ่ว่า “บ้านทุ่งโดน” ดังปัจจุบัน
5.บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง กว้างใหญ่ ประกอบด้วยที่ราบลุ่มและทุ่งนาเป็นหลัก ชาวบ้านในพื้นที่จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทุ่งใหญ่” อันเป็นลักษณะเด่นทางสภาพแวดล้อมที่ปรากฏแต่เดิม
6.บ้านพรุเตาะนอก หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมในบริเวณดังกล่าวนี้ยังเป็น “พรุ” หรือบริเวณที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังเป็นประจำ และภายในบริเวณดังกล่าวนี้เองยังมี “ต้นเตาะ” ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น วันดีคืนดีใบของต้นเตาะก็ตกหล่นลงมาสู่พรุอย่างมากมาย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านที่มีลักษณะดังกล่าว และมีอาณาบริเวณอยู่นอกสุดของหมู่บ้านว่า “บ้านพรุเตาะนอก” ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในก็เรียกว่า “บ้านพรุเตาะใน” เป็นต้น
7.บ้านทุ่งลุง หมู่ที่ 1 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงสภาพเป็นทุ่งนากว้างใหญ่และกลางทุ่งนานี้เองยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ต้นหนึ่งเป็นที่ศักการบูชาของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวว่ามีเทวดาสถิตอยู่ภายในเรียกกันว่า “ต้นลุง” ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี(ปัจจุบันต้นลุงยืนต้นอยู่บริเวณตรงข้ามวัดทุ่งลุง) ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่ๆตนอยู่อาศัยว่า “บ้านทุ่งลุง”
8.บ้านน้ำน้อย หมู่ที่ 1,2,3 ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมในบริเวณหมู่บ้านนี้มีแหล่งน้ำธรรมชาติมีหินผาสูงใหญ่ และที่หินผานี้เองจะปรากฏว่ามีน้ำไหลย้อยออกมาอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หินน้ำย้อย” ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันเป็น “บ้านน้ำน้อย” ดังปัจจุบัน
9.บ้านคอหงส์ หมู่ที่ 3 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมบริเวณพื้นที่ดังกล่าว(ที่ตั้งวัดคอหงส์)ยังมี “ต้นฆ้อหงส์” ขึ้นอย่างหนาแน่น เวลาเกิดกระแสลมพัดยามใดก็จะแลดูคล้ายคอของหงส์ที่ลิ่วลมแลดูสวยงามยิ่ง จนชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านฆ้อหงส์” ต่อมาจึงเพี้ยนไปเป็น “บ้านคอหงส์” ดังปัจจุบัน
10.บ้านคูเต่า หมู่ที่ 6 ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า เดิมทีนั้นภายในบริเวณดังกล่าวยังมีคูเล็กๆซึ่งมีเต่าอาศัยอยู่ชุกชุมมาก (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านคูเต่า”
ขอบคุณ: คุณคุณาพร ไชยโรจน์
รอติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้
บัวของคนภาคใต้...ที่ไม่ได้หมายถึงดอกบัว
11 พฤษภาคม 2568 | 357ร่องรอยเจดีย์บนเกาะหนู โบราณสถานสำคัญสมัยอาณาจักรอยุธยา
11 พฤษภาคม 2568 | 333ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 669จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 346บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 636ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 550พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 1,291รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 1,102