หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

หาดใหญ่ | ย้อนเวลาเกือบ 2 ศตวรรษ "ทุ่งหาดใหญ่" สู่ "เมืองหาดใหญ่"
24 พฤษภาคม 2561 | 43,076

"หาดใหญ่" ศูนย์การค้าธุรกิจแดนใต้ เมืองที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ยาวนานเหมือน "สงขลา" แต่เมืองแห่งนี้ก็มีเรื่องเล่าขานมากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาวมานักต่อนัก เกิดเป็นสิ่งปลูกสร้าง บุคคลสำคัญ และความเชื่อ จากเมืองเล็กๆ ที่เรียกว่า "โคกเสม็ดชุน" สู่เมืองใหญ่ที่มีนามว่า "นครหาดใหญ่" นครปารีสของประเทศไทยในปัจจุบัน เรื่องราวของดินแดนแห่งนี้ แท้ที่จริงแล้วมีอายุอานามมานานเกือบ 200 ปี วันนี้ หาดใหญ่โฟกัส จะพาชาวหาดใหญ่และท่านผู้อ่านทุกท่าน ย้อนเวลากลับไปถึงจุดเริ่มต้นของเมืองแห่งนี้ไปพร้อมๆกัน

หากเราจะพูดถึงหาดใหญ่เราต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2381 โดยปรากฏชื่อครั้งแรกในนาม "ทุ่งหาดใหญ่" ในเอกสารจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ถึง พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) ฉบับที่ 1 และ ในพงศาวดารเมืองสงขลา เรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรคิรี (ชม) โดยในระหว่านั้นได้เกิดศึกสงครามระหว่าง เมืองไทรบุรี และ เมืองสงขลา มีทุ่งหาดใหญ่เป็นหนึ่งในเส้นทางสนับสนุนการทำสงคราม

พ.ศ.2405 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างทางหลวงระหว่างเมืองไทรบุรีเชื่อมต่อเมืองสงขลา (ถนนกาญจนวนิช) เพื่อให้ประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ส่งผลให้หาดใหญ่กลายเป็นในทางผ่านเส้นทางดังกล่าว และกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

พ.ศ.2411 เมืองสงขลา แบ่งออกเป็น 5 แขวง คือ อ.กลางเมือง อ.ปละท่า อ.ฝ่ายเหนือ อ.จะนะ และ อ.เมืองเทพา

พ.ศ.2415 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จกลับจากอินเดียผ่านเมืองไทรบุรี และเสด็จประทับพักแรมบริเวณหาดทรายใหญ่ (คลองอู่ตะเภา)

พ.ศ.2427 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช เสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้ทรงแต่งหนังสือ “ชีวิวัฒน์” เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 โดยทรงบรรยายถึงสภาพคลองอู่ตะเภา มีการกล่าวถึงสวนส้มของชาวบ้าน และพูดถึงวัดแห่งหนึ่งชื่อว่า "วัดสระเต่า" หรือ วัดคูเต่า(เดิม)

พ.ศ.2428 ปรากฏหลักฐานการตั้งบ้านเรือนบริเวณโคกเสม็ดชุน ซึ่งขณะนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของโคกเสม็ดชุน มีสภาพเป็นหนองบึงและป่ารกร้าง

พ.ศ.2429 นายเจียกีซี หรือ ขุนนิพัทธ์จีนนคร ได้ถือกำเนิดขึ้นในปีนั้น

พ.ศ.2432 จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 5 ครั้นเสด็จประพาสแหลมมลายู โดยมีการกล่าวถึงสภาพของ "คลองอู่ตะเภา" กล่าว่า คลองอู่ตะเภาเป็นคลองที่ใหญ่กว่าคลองทุกสาย ขณะเดียวกันสงขลาแบ่งการปกครองเป็น 13 อำเภอ โดยหาดใหญ่อยู่ภายในเขตของ "อำเภอหลวงรักษาพลสยาม" หาดใหญ่ประกอบด้วย บ้านหาดใหญ่ 4 หลังคาเรือน และบ้านโคกเสม็ดชุน 10 เรือน

พ.ศ.2433 มีการสร้างสะพานข้ามคลองและปักเสาโทรเลขบนถนนสายสงขลา-ไทรบุรี

พ.ศ.2434 เมืองสงขลาแบ่งออกเป็น 14 แขวง (อำเภอ) และมีนายอำเภอประจำ

พ.ศ.2439 ก่อตั้ง "อำเภอฝ่ายเหนือ"

พ.ศ.2442 อำเภอฝ่ายเหนือ ตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ท่าหาดใหญ่ บริเวณริมคลองอู่ตะเภา (บริเวณที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน)

พ.ศ.2447 หลวงภูวนารถบุรารักษ์ (อ่อน เศวตนันท์) เป็นนายอำเภอฝ่ายเหนือคนแรก

พ.ศ.2448 นายเจียกีซี อพยพมาจากประเทศจีน

พ.ศ.2450 หลวงพ่อปาน ปุญญมณี เจ้าอาวาสวัดคลองเรียน รับเด็กๆในละแวกวัด เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในอาคารเรียนและที่กุฏิ

พ.ศ.2452 รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการให้สร้างทางรถไฟสายใต้  และ "นายเจียกีซี" ได้เข้าทำงานกับบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไป ช่วงเส้นทางพัทลุง-สงขลา

พ.ศ.2453 ทางรถไฟสายใต้ได้สร้างมาถึงบริเวณ บ้านอู่ตะเภา และ บ้านโคกเสม็ดชุน โดยเส้นทางรถไฟได้สิ้นสุดตรงบริเวณสถานีอู่ตะเภา

พ.ศ.2555 นายเจียกีซีซื้อที่ดิน 50 ไร่ บริเวณบ้านโคกเสม็ดชุน (บริเวณสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ในปัจจุบัน)

พ.ศ.2456 เริ่มมีการทำเหมืองแร่ที่หาดใหญ่

พ.ศ.2457 นายเจียกีซี ก่อตั้ง "บริษัทนิพัทธ์และบุตร" ดำเนินกิจการทั้งแร่ดีบุกและวุลแฟรม / พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) ย้ายจาก จ.พัทลุง มาเป็นนายอำเภอ (นับเป็นนายอำเภอเหนือคนสุดท้าย)

พ.ศ.2458 นายเจียกีซีและชาวบ้าน ช่วยกันสร้างสะพานข้ามคลองเรียน และขยายทางเดินไปวัดคลองเรียน ต่อมาถนนสายนี้มีชื่อว่า "ถนนศรีภูวนารถ" / ทางการได้มีการขอซื้อที่ส่วนหนึ่งของนายเจียกีซี เพื่อสร้างย่านรถไฟ

พ.ศ.2459 นายเจียกีซี ตัด ถนนเจียกีซี 1,2,3 โดย ถนนเจียกีซี ภายหลังเป็นชื่อเป็น "ถนนธรรมนูญวิถี" ส่วนถนนเจียกีซี 1-3 ก็เปลี่ยนเป็น ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1-3 (สาย1,2,3นั่นเอง) และสร้างห้องแถว 5 ห้องแรก มีลักษณะเป็นฝาขัดแตะหลังคาจาก เพื่อทำเป็นโรงแรมเคี่ยนไท้และโรงแรมหยี่กี

พ.ศ.2460 หลายมองว่ามันคือจุดเริ่มต้นก่อกำเนิดเมืองหาดใหญ่ เนื่องจาก "อำเภอฝ่ายเหนือ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอหาดใหญ่" โดยมี พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) เป็นนายอำเภอหาดใหญ่คนแรก และได้มีการย้ายสถานีไฟ จากสถานีอู่ตะเภามายังบ้านโคกเสม็ดชุน โดยใช้ชื่อว่า "สถานีรถไฟหาดใหญ่"

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2460-2467 เกิดบริษัทเกี่ยวกับยางพารา เหมืองแร่ โรงแรม ตลาด โรงมหรสพมากมาย นับว่าเป็นช่วงที่หาดใหญ่รุ่งเรืองมาจากตอนนั้น

พ.ศ.2465 หลวงพ่อปาน ปุญญมณี เริ่มบุกเบิกวัดโคกเสม็ดชุน (แต่เดิมเป็นวัดร้าง) โดยหลวงพ่อปานได้สร้างที่พักสงฆ์ในบริเวณวัดร้าง ซึ่งปรากฏร่องรอยพัทธสีมาเป็นไม้แก่นปักอยู่ / หาดใหญ่ก่อตั้ง "โรงเรียนประจำตำบลหาดใหญ่" ขึ้น (โรงเรียนเทศบาล2)

พ.ศ.2466 หาดใหญ่มีประชาชนอาศัยอยู่ 100 หลังคาเรือน และมีการสร้าง "วัดโคกเสม็ดชุน" / "นายซีกิมหยง" ได้อุทิศที่ดินเพื่อสร้าง "ตลาดซีกิมหยง" และสร้างวัดจีน สุเหร่า โรงเจ โรงพยาบาลมิชชั่น / ก่อกำเนิด "โรงเรียนศรีนคร" โดยนายซีกิมหยง

พ.ศ.2467 มีการจัดงานเฉลิมฉลองสถานีรถไฟ และ "ตลาดหาดใหญ่" หรือ "ตลาดโคกเสม็ดชุน" ขณะเดียวกันได้มีหมอจากอินเดีย นามว่า "หมอปิแอร์" ได้เข้ามาเปิดร้านหมอรักษาโรคทุกชนิด ชื่อ “ดาราสยามโอสถ” (ถนนนิพัทธ์อุทิศ1)

พ.ศ.2470 คนสัญจรทั่วไปต้องมาข้ามฟากเพื่อขึ้นเรือที่บริเวณ "ท่าหาดใหญ่" ตรงริมคลองอู่ตะเภา ทำให้บรรยากาศบริเวณนี้คึกคัก

พ.ศ.2471 "ตลาดหาดใหญ่" ถูกยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาล

พ.ศ.2472 รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสภาคใต้ ได้พิจารณาคุณงามความดี "นายเจียกีซี" จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "ขุนนิพัทธ์จีนนคร" ขณะเดียวกันในปีนี้ก็ได้ถือกำเนิดโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า "หาดใหญ่สำเริงสถาน" หรือ "HAADYAICINEMA" ดำเนินการโดยบริษัทภาพยนตร์ซีตงก๊ก และเกิดเรื่องเศร้าเมื่อ หลวงพ่อปาน ปุญญมณี มรณภาพ / กำเนิดอาคารรูปแบบผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ที่เรารู้จักในชื่อ ตึกชิโนยูโรเปี้ยน หรือ ตึกชิโนโปรตุกีส บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1

 

พ.ศ.2474 รัชกาลที่ 7 พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ "นายจันฮกซุ่น" เป็น "หลวงพิธานอำนวยกิจ"

พ.ศ.2476 กระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้ง "สถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้" ที่ ตำบลคอหงส์

พ.ศ.2478 เมื่อหาดใหญ่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงมีประกาศในพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะเป็น "สุขาภิบาลหาดใหญ่" และได้มีการก่อตั้ง "โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา" โรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของอำเภอหาดใหญ่ โดยมี "อาจารย์ประดิษฐ์ ดิษยะศริน" เป็นครูใหญ่

พ.ศ.2480 คุณละม้าย ฉัยยากุล บริจาคที่ดินสร้าง "มัสยิดปากีสถาน" ที่ ถนนรัถการ (ตลาดสด) / กำเนิดโรงภาพยนตร์สุคนธหงส์ ของพระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) / กำเนิดตลาดเอกชน ชื่อว่า “ตลาดเจียซีกี” / ทำพิธีผูกพัทธสีมา และเปลี่ยนชื่อ “วัดโคกเสม็ดชุน” เป็น “วัดโคกสมานคุณ” / กำเนิด "คาสิโนเมืองหาดใหญ่" บริเวณหน้าสถานีรถไฟ

พ.ศ.2482 ก่อตั้ง "ค่ายเสนาณรงค์" ณ ตำบลคอหงส์ และทางเทศบาลได้ซื้อที่ดินจาก "นายลีเอ็งเสียง" จำนวน 20 ไร่ บนถนนเพชรเกษม เพื่อสร้างที่ทำการเทศบาลหาดใหญ่ / กำเนิด "โรงภาพยนตร์เฉลิมยนต์" ของขุนนิพัทธ์ / เกิดอัคคีภัยในเมืองหาดใหญ่

พ.ศ.2484 โลกได้เกิด "สงครามมหาเอเชียบูรพา" และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพแห่งจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นบุกสงขลา มีการทิ้งระเบิดบริเวณหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่

พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นสร้างสะพานข้ามคลองอู่ตะเภา ข้างที่ว่าการอำเภอ

พ.ศ.2488 "หลวงพิธานอำนวยกิจ" เปิด "บริษัทพิธานพาณิชย์ จำกัด" สาขาหาดใหญ่ ในปีนั้นก็ได้เปิด "โรงเรียนหาดใหญ่" อย่างเป็นทางการ

พ.ศ.2489 เกิดอัคคีภัยอาคารบริเวณถนนรถไฟ / บริเวณแถวๆ หาดใหญ่พลาซ่าในปัจจุบัน ได้มีการเปิดบริการโรงรำวง

พ.ศ.2490 ยกฐานะหาดใหญ่ขึ้นเป็นอำเภอชั้นเอก

พ.ศ.2491 เริ่มมีคณะรถไต่ถังเข้ามาเปิดการแสดงในเมืองหาดใหญ่หลายคณะด้วยกัน

พ.ศ.2492 ยกฐานะ "เทศบาลตำบลหาดใหญ่" เป็น "เทศบาลเมืองหาดใหญ่"

พ.ศ.2493 เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ในเมืองหาดใหญ่ โดยเปลวเพลิงเผาผลาญบ้านเรือนบริเวณถนนิพัทธ์อุทิศ 1 เสียหายเกือบทั้งสาย นับว่าเป็นอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่สุดของเมืองหาดใหญ่

พ.ศ.2496 พิธีวางศิลาฤกษ์ "ที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่"

พ.ศ.2497 "นายกี่ จิระนคร" เป็นนายกเทศมนตรี ได้เริ่มสร้าง "ตลาดสดหาดใหญ่"

พ.ศ.2498 เริ่มก่อสร้าง สนามจิระนครหาดใหญ่ หรือ สนามกีฬากลาง

พ.ศ.2500 เปิดตลาดสดหาดใหญ่ / เปิดใช้ "หอนาฬิกาหาดใหญ่" บริเวณหน้าพลาซ่า สร้างเป็นอนุสรณ์แก่หลวงพิธานอำนวยกิจ / มีการก่อสร้าง "โรงพยาบาลหาดใหญ่" ในพื้นที่ป่าช้าเก่า

พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรภาคใต้ และเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในอำเภอหาดใหญ่ / เปิดทำการโรงพยาบาลหาดใหญ่

พ.ศ.2503 เมืองหาดใหญ่ ถูกเปรียบให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้

พ.ศ.2510 สร้างที่ทำการเทศบาลหาดใหญ่ / เริ่มมีการวางผังเมืองหาดใหญ่

พ.ศ.2511 ประกาศใช้ พรบ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พ.ศ.2512 เปิดใช้สะพานลอยข้ามทางรถไฟ

พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพระพุทธมงคลบพิตร ณ วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร วัดมหัตตมังคลาราม (วัดหาดใหญ่ใน)

พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาทรงประกอบพิธียกช่อฟ้า อุโบสถวัดโคกสมานคุณ

พ.ศ.2526 เปลี่ยนชื่อจาก “ศูนย์วิจัยการยาง” เป็น “ศูนย์วิจัยยางสงขลา”

พ.ศ.2528 เปิด "อนุสาวรีย์ขุนนิพัทธ์จีนนคร" ณ สนามกีฬาจิระนคร

พ.ศ.2529 รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการก่อสร้างอาคารที่พักผู้ป่วยและญาติเพิ่มเติม ต่อมาทุกฝ่ายมีมติให้ใช้ชื่อ “อาคารเย็นศิระ”

พ.ศ.2531 เปิดทำการ "ท่าอากาศยานหาดใหญ่"

พ.ศ.2538 ยกฐานะจาก "เทศบาลเมืองหาดใหญ่" มาเป็น "เทศบาลนครหาดใหญ่"

พ.ศ.2543 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด โดยน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่เกือบสัปดาห์ ส่งผลให้ศูนย์เสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

พ.ศ.2553 เกิดพายุดีเปรสเข้าถล่มหลายพื้นที่ภาคใต้ หาดใหญ่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

พ.ศ.2560 ประชาชนชาวหาดใหญ่จำนวนมากเดินทางมายังวัดโคกสมานคุณ เพื่อถวายความอาลัยแก่ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" รัชกาลที่ 9

 

ขอบคุณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ และกระทู้เรื่องราวแต่แรกกิมหยง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง