"สวนหม่อม" หนึ่งในสถานที่ ที่ชาวสะเดารู้จักกันดี แต่หลาย ๆ คนคงยังไม่รู้ว่า...ครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 7 เคยเสด็จมายังสวนแห่งนี้ วันนี้หาดใหญ่โฟกัสจะพาทุกท่านไปรู้จักสถานที่ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาแห่งนี้กัน
ในปี พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จมาพักแรม ณ สวนหม่อม ตำบลปริก อำเภอสะเดา พระองค์ทรงได้ปลูกต้นปาล์มเอาไว้ ณ สวนแห่งนี้ โดยหลักฐานพบว่า...มีการจารึกชื่อพระนามของเชื้อพระวงศ์ เอาไว้บนหลักเสาสามต้น ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสตามเสด็จ รัชกาลที่ 7 และได้คอยช่วยเหลือพระองค์ ในการปลูกต้นปาล์ม ซึ่งต้นปาล์มดังกล่าวเราเรียกกันว่า "ปาล์มทรงปลูก"
พื้นที่สวนหม่อม (ปัจจุบัน)
ราชสกุลกิติยากร
"ปาล์มทรงปลูก" ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณ หมู่ที่ 8 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พื้นที่บริเวณแห่งนี้ถูกเรียกว่า "สวนหม่อม" เนื่องมาจากการตั้งชื่อตามสวนปาล์มของ "หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร" จากการที่ได้สอบถามชาวบ้านและศึกษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า เมื่อเกือบร้อยปีที่มา มีเจ้านายไทยองค์หนึ่ง มีนามว่า "หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร" ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฏมณเฑียรบาล ลำดับที่ 8 นับจากรัชกาลที่ 7 เป็นโอรสองค์ที่ 2 ใน "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ" หลังจากที่ท่านได้ลาออกจากราชการ ท่านได้ไปประกอบอาชีพอย่างสามัญชน นั่นคือ การทำสวนปาล์มน้ำมัน ที่บ้านหัวถนน ตำบลปริก บริเวณแห่งนี้เป็นการปลูกปาล์มเชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย
ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่าในหลวงรัชการที่ 8-9) พร้อมเชื้อพระวงศ์พระองค์อื่น ๆ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ณ เมืองสงขลา และได้เสด็จมายังสวนปาล์มน้ำมันของหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร ขณะประทับแรม รัชกาลที่ 7 ได้ทรงปลูกต้นปาล์ม โดยมีการลงพระปรมาภิไธยย่อและพระนามาภิไธยย่อ สลักลงบนหินแกรนิตรองรับด้วยเสาคอนกรีตสามเสา ทรงระบุวันเดือนปีที่ทรงปลูก ก่อนเสด็จกลับเมืองสงขลา ต้นที่ 1 สลักว่า "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปปร ปลูกเมื่อวันที่ 4 เดือน 8 พ.ศ.2476" ตรงกับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 และเสาต้นที่ 2 สลักว่า "สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รพ ปลูกเมื่อวันที่ 4 เดือน 8 พ.ศ.2476" ต้นสุดท้าย "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงปลูกเมื่อวันที่ 5 เดือน 8 ปี 76" (การนับศักราชในสมัยนั้นนับเดือนที่ 1 คือเดือนเมษายน)
เสาต้นที่ 1 ของรัชกาลที่ 7 (ปปร)
เสาต้นที่ 2 ของสมเด็จพระนางรำไพพรรณ (รพ)
เสาต้นที่ 3 ของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สว)
สภาพปัจจุบันของต้นปาล์มทรงปลูกของรัชกาลที่ 7 ไม่ได้มีอยู่แล้ว สันนิษฐานว่าถูกปลวกเข้ากัดกินทำลายจนผุเปื่อย และได้ย่อยสลายแปรสภาพเป็นเนื้อเดียวกับพื้นดิน ส่วนต้นปาล์มทรงปลูกของอีกสองพระองค์ ยังคงยืนต้นตั้งตระหง่านอยู่กลางสวนยางพารา ภายในสวนหม่อม ประวัติศาสตร์ดังกล่าวยังคงสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนสะเดาและสงขลารุ่นหลังๆ ว่าครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นสถานที่เสด็จพักแรมของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไทย
เกร็ดความรู้
1. ปาล์มน้ำมันที่สวนหม่อม ได้ปลูกขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 (รัชกาลที่.7)
2. ภายในสวนปาล์มปรากฏสิ่งก่อสร้างต่างๆอย่างถาวร เช่น พลับพลาที่ประทับ หอคอยสำหรับทอดพระเนตรคนงาน สระน้ำขนาดใหญ่ โรงเรือนที่อยู่ของคนงาน
3. สวนหม่อม หรือ สวนปาล์มน้ำมันแห่งนี้ เป็นสวนปาล์มพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย มีคนงานอยู่ราว 300 คน
เรียบเรียง: หาดใหญ่โฟกัส
CR: Pimonpan / เทศบาลตำบลปริก / หนุ่มเหลือน้อย
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 172ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 160ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 169ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 295พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 379ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 412ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 547ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,597