หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เขาน้อย...สงขลาเมืองหลวงของสยาม
5 สิงหาคม 2560 | 33,400

วันนี้ได้นั่งฟังลุงก้อยกับพี่ส้มจี๊ด มาถกกันในประเด็นเรื่อง "เขาน้อย" ทางหาดใหญ่โฟกัสจึงนำเรื่องราวมาถ่ายทอดและเรียบเรียงใหม่ให้ทุกท่านได้รับรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น

หากพูดถึง "เกาะหนู" ก็อดไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง "เกาะแมว" เช่นเดียวหากเราพูดถึง "เขาตังกวน" ก็อดไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง "เขาน้อย" เขาเล็ก ๆ ฝั่งตรงข้ามเขาตังกวนมาเป็นเวลายาวนาน... ย้อนไปที่ "เขาตังกวน" สมัยก่อนการที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จมาเยี่ยมเยือนเมืองสงขลา ก็มักจะเสด็จมาประทับที่เขาตังกวน เสด็จขึ้นไปด้วยพระบาทหลายร้อยขั้น (สมัยนั้นยังไม่มีลิฟท์) ประทับเป็นช่วง ๆ ช่วงแรกเป็นลานกว้าง ช่วงหลังก็จะประทับที่พระวิหารแดง เขาน้อยเคยเป็นพื้นสำคัญทางประวัติศาสตร์  ซึ่ง "รัชกาลที่ 7" และเชื้อพระวงศ์ เคยเสด็จมาพัก ณ รีสอร์ทเขาน้อย มีหลักฐานเป็นภาพถ่าย เขียนด้วยภาษาอังกฤษว่า "เขาน้อยรีสอร์ท" และยังมีข้อความในหนังสือพิมพ์เก่า ๆ เขียนเชิญชวนว่า หากต้องการพักผ่อน มาที่ "โรงแรมเขาน้อย" เป็นโรงแรมที่สร้างขึ้นโดยเอกชน ภายในเขาน้อยรีสอร์ทมีทั้งสวนสัตว์ สระว่ายน้ำ สวนหย่อม ในสมัยนั้นถือได้ว่าสวยงามและหรูหรามาก ๆ 

ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบประชาธิปไตย ความวุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศไทย รัชกาลที่ 7 เสด็จออกจากวังไกลกังวลมายังเมืองสงขลา เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายทางการเมือง  พระองค์ทรงเสด็จมาทางชลมารค และมาประทับ ณ พระตำหนักเขาน้อย หากกล่าวถึง "พระตำหนักเขาน้อย" ในอดีตเคยเป็นที่พำนักของกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชปักษ์ใต้ พระตำหนักแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยราชทรัพย์ส่วนพระองค์ราว 4,000 บาท ณ ตอนนั้น

 

 

เมื่อครั้งที่...รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ท่านอื่น ๆ เสด็จตามมาสงขลาด้วยรถไฟ (สมัยก่อนรถไฟมาถึงสงขลา) มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475" เขียนโดย "หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล" ในหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า "สงขลาในเวลานั้นเปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวง" เพราะในช่วงเวลานั้นพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ เสด็จมาพำนัก ณ เมืองสงขลา

เมื่อเชื้อพระวงศ์เสด็จมากันเยอะ "พระตำหนักเขาน้อย" ซึ่งมีขนาดเล็กอยู่แล้ว ไม่สามารถรองรับผู้คนได้เพียงพอ จึงเกิดการกระจายแยกย้ายไปพักกันที่อื่น ทั่วหัวระแหงจังหวัดสงขลา

"หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล"

หนังสือเล่มดังกล่าวเล่าถึงตอนหนึ่งว่า..."ขบวนรถไฟมาถึงหาดใหญ่ประมาณ 7 โมงเช้า มีพระยาศรีธรรมราช เทศาภิบาลมณฑลสงขลา พระเพชรคีรีฯ ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชน มาเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก เกือบทุกคนมีน้ำตาเต็มตา เมื่อแลเห็นพวกเราเดินโซซัดโซเซลงมาจากรถไฟ ไม่เว้นแม้แต่ชาวเยอรมันที่มาประกอบอาชีพในหาดใหญ่" เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงมาจากรถไฟ ณ เมืองหาดใหญ่ คำแรกที่พระองค์ทรงตรัสถามกับพระยาศรีธรรมราชคือ "ในหลวงเสด็จถึงแล้วหรือยัง" พระยาศรีธรรมราชตอบไปว่า "ยัง" สร้างความตระหนกตกใจให้กับกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจาก...รัชกาลที่ 7 ออกเสด็จมาก่อนพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

คำตอบของพระยาศรีธรรมราช...ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ถึงกับหมดแรง เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพตั้งสติได้ จึงมีรับสั่งให้นำเรือออกตามหารัชกาลที่ 7 ส่วนคนอื่น ๆ ก็ต้องแยกกันไปตามหาที่พัก ...ครั้นผ่านไป 1 วัน ก็มีการส่งข่าวหากัน ว่าใครอยู่ที่ไหน อย่างไร ร.7 ทรงเสด็จมาถึงสงขลา...ล่าช้ากว่ากำหนด พระองค์ทรงประทับที่พระตำหนักเขาน้อย ของกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ส่วนผู้ที่ไปพักอาศัย ณ โรงแรมเขาน้อย หรือ เขาน้อยรีสอร์ท คือ "พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี" ผู้ที่อาวุโสที่สุดในบรรดาเชื้อพระวงศ์ทั้งหมด เมื่อคราวครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงอภิเษกสมรส พระองค์ (พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี) ทรงเป็นผู้ปูที่นอนให้คู่บ่าวสาว ตามพระราชประเพณี

พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี

เมื่อก่อนโรงแรมเขาน้อย ไฟฟ้าและประปายังเข้าไม่ถึง และสืบเนื่องจากการยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งทำให้ข้าราชการขึ้นตรงต่อคณะราษฎร์ (ผู้ยึดอำนาจ) จึงไม่สามารถมารับใช้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ต่าง ๆ ได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า...ผู้ที่รับใช้พระบรมวงศานุวงศ์ คอยช่วยหิ้วน้ำ แบกน้ำ ขึ้น-ลงเขาน้อย คือ "กลุ่มลูกเสือ" จาก "โรงเรียนมหาวชิราวุธ" ซึ่งคอยรับใช้อย่างใกล้ชิด มีข้อความในบันทึกของลูกเสือคนหนึ่ง ที่มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี มีใจความว่า...มีอยู่วันหนึ่งในยามเย็น เสียงระฆังดังขึ้นมาจากวัดที่อยู่ด้านล่างเขาน้อย อาจจะเป็นวัดแหลมทรายหรือวัดแจ้ง พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีทรงได้ยินและรำพึงรำพันกับลูกเสือว่า "เธอรู้ไหม ... ถ้าฉันไม่ได้เป็นเจ้า ฉันคงได้ไปฟังธรรม" สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าจะเป็นเจ้าฟ้า ก็อยากมีวิถีชีวิตแบบสามัญชนธรรมดา ๆ ทั่วไป ทำให้เราหวนนึกถึงในหลวงรัชการที่ 9

กลับมาที่เขาน้อย...เมื่อครั้งญี่ปุ่นบุกสงขลาในอภิมหาสงครามเอเชียบูรพา อาคารบ้านเรือนเมืองสงขลาถูกทำลาย บ้างก็ถูกทิ้งร้าง เมื่อสงขลาเปลี่ยนมาเป็นเทศบาล ก็เริ่มมีการบูรณะพื้นที่เขาน้อยมากกว่าเขาตังกวน เนื่องจากเขาน้อยเชื่อมโยงกับแหลมสมิหลา มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างนางเงือกทอง สร้างสวนเสรีภาพ (สวนเสรี) สร้างสวนญี่ปุ่น กาลเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้..มีการตัดถนนขึ้นลงทั้ง 2 ฝั่ง มีการทำจุดชมวิวทิวทัศน์ที่งดงาม รวมทั้งยังมีการสร้างอนุสาวรีย์กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ไว้บนยอดเขาน้อยด้วย

ปล.หลายคนอาจสงสัยรัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จไปที่ไหนหลังจากท่านพำนักอยู่ที่ พระตำหนักเขาน้อย เราสืบหาข้อมูลพบว่า...พระองค์ทรงเสด็จด้วยรถยนต์มาทำสวนปาล์มของหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร ที่ตำบลปริก อำสะเดา จังหวัดสงขลา อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะทรงเสด็จไปยังปีนังพรมแดนมลายู ก่อนจะเสด็จต่อไปยังอังกฤษในที่สุด

 

 

ภาพ: สมาคมศิษย์เก่าแสงทอง / hatyai airport / wikipedia / เอนก นาวิกมูล / พุทธพร ส่องศรี
ข้อมูลและเรื่องเล่า: ลุงก้อยและหลานส้มจี๊ด สวท.สงขลา "เล่าเรื่องเมืองสงขลา"
เรียบเรียงใหม่: Hatyaifocus หาดใหญ่โฟกัส

เรื่องที่เกี่ยวข้อง