หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

รำลึกถึง ลูกน้ำเงิน - ขาว ชาวมหาวชิราวุธ
23 สิงหาคม 2560 | 54,372

มีคำพูดของหลายคนบอกว่า ความทรงจำในวัยมัธยมฯ เป็นช่วงแห่งความหอมหวานของชีวิต แม้จะห่างช่วงวัยนั้นมานานแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังคิดถึงช่วงแห่งความสับสน วุ่นวาย และความสนุกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมากจริง ๆ หลายคราที่นัดรวมรุ่น ในวงสนทนาก็ไม่วายที่จะกล่าวถึงเรื่องราวในวัยมัธยมฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของตัวเอง เพื่อน หรือแม้แต่อาจารย์ในความทรงจำ  

กล่าวถึงอาจารย์ในความทรงจำ ถ้าไม่ใจดีสุด ๆ ก็คงเป็นอาจารย์ที่ดุสุดโต่ง นักเรียนถึงนำเอาวีรกรรมของท่านทั้งหลายมาเล่าขานอยู่เสมอ เมื่อไม่นานมานี้หน้าเฟซบุ๊กมีการแชร์รูปอาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งสอนอยู่ในโรงเรียนมหาวชิราวุธ อีกไม่นานอาจารย์ท่านนี้กำลังเกษียณ กลับมามองย้อนไป อาจารย์คงผูกพันธ์กับที่นี่ไม่น้อยเลย แม้ไม่ได้เป็นศิษย์เก่าที่นี่ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความรักโรงเรียน รักในตัวอาจารย์ รักในความเป็นลูกน้ำเงิน - ขาว ที่มีมายาวนานกว่า 120 ปี  

หลายบทความที่ทางทีมงาน หาดใหญ่โฟกัส มักเขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนต่าง ๆ ในสงขลา เพราะเชื่อแน่ว่า แม้ไม่ได้กลับไปยังโรงเรียน บทความของเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมต่อความคิดถึงในบุคคลที่เคยใช้สถานที่เดียวกัน รักในสถาบันเดียวกัน ได้กลับมาสัมผัสถึงความรู้สึกเดียวกันอีกครั้งผ่านตัวอักษรของเรา  

อาคารเรียน 1 

หลาย ๆ โรงเรียนอาจพบเจอรุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนรุ่นแรก แต่คงไม่ใช่กับโรงเรียนมหาวชิราวุธ ด้วยเหตุที่โรงเรียนมีมานานกว่า 120 ปี การพบเจอรุ่นพี่โรงเรียนคงเป็นไปได้ยาก แต่ความอยากรู้เรื่องราวของโรงเรียนเก่าแก่ในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ก็เลยลองเข้าค้นหาประวัติ ตามหน้าเว็บไซต์ เจอบทความของเว็บไซต์โรงเรียนมหาวชิราวุธ จึงขออนุญาตหยิบยกส่วนของประวัติความเป็นมาของโรงเรียนมาบอกกล่าว  

โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา เป็นโรงเรียนหลวงของจังหวัดสงขลา ผู้ก่อตั้ง คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) สมัยที่เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นผู้ที่รัก และสนใจเรื่องการศึกษา เริ่มจดตั้งโรงเรียนชั่วคราวเป็นสถานที่เรียน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2439 มีนักเรียน 12 คน โดยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งนามโรงเรียนว่า "มหาวชิราวุธ" มีครูทองดีเป็นครูใหญ่ ซึ่งดำเนินการสอนในแบบโรงเรียนมหาดเล็กหลวง 

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2439 พระยาสุขุมวินิตและพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาขณะนั้น ร่วมกันจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) ขึ้นเป็นการพิเศษ ในโอกาสนี้ พระยาสุขุมวินิต ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งได้รับพระราชทานจากประเทศอังกฤษมาประดิษฐานไว้บนแท่นบูชา เพื่อให้ข้าราชการ ประชาชนชาวสงขลา ได้เคารพสักการะและถวายพระพรชัย อาศัยโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ พระยาสุขุมนัยวินิต ได้จัดให้มีการเรี่ยไรเงินเพื่อจัดให้สร้างโรงเรียนที่ถาวรขึ้น มีโครงการจะสร้างที่บริเวณวัดนาถม (โรงเรียนวิเชียรชมในปัจจุบัน) ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง (19 ไร่ 47.5 ตารางวา) และสามารถรวบรวมเงินได้ 3,940 บาท  

ในระยะแรก พระยาสุขุมนัยวินิต ได้ใช้ศาลาชำระความ(เก่า) ของพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ซึ่งว่างอยู่เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนเป็นการชั่วคราว โดยยุบเลิกโรงเรียนที่วัดแย้ โอนนักเรียนมาเรียนที่เดียวกันในวันแรกเปิดเรียน มีนักเรียน 50 คน มีนายทองดี ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมลราษฎร์บำรุง 

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร พระยาสุขุมนัยวินิต ได้ขอรับพระราชทานราชานุญาตตั้งนามโรงเรียนว่า "มหาวชิราวุธ" ตั้งแต่ พ.ศ. เป็นต้นมา 

ภาพลูกเสือสมุทรเสนาของโรงเรียนมหาวชิราวุธ ปี พ.ศ. 2480

เนื่องด้วย วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2439 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันดำเนินการเพื่อจัดตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น จึงถือว่าวันนี้เป็นวันกำเนิดของโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา 

ตอนแรกโรงเรียนมีฐานะกึ่งโรงเรียนหลวง กึ่งโรงเรียนเอกชน เพราะผู้จัดตั้งขอรับการสนับสนุนจากรัฐ เรื่องเงินเดือนครู แต่เรื่องการบำรุงดูแลรักษา ผู้จัดตั้งรับผิดชอบทั้งหมด การดำเนินการสอนยึดแบบโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ ให้สามารถอ่านหนังสือออก เขียนได้ คิดเลขง่ายได้ ไปจนถึงความรู้ภาษาไทยพอที่จะออกไปเป็นเสมียนและรับราชการได้  

พ.ศ. 2442 มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน นับว่าก้าวหน้าพอสมควร ประจวบกับทางการมีนโยบายขยายการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร ให้พระสงฆ์มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พระรัตนธัชมุนี (ม่วง ศิริรัตน์) โอนโรงเรียนไปไว้ที่ศาลาการเปรียญวัดมัชฌิมาวาส เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 โรงเรียนมหาวชิราวุธ จึงเป็นโรงเรียนหลวงประจำเมืองสงขลา โดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  

เนื่องจากเจ้าพระยายมราชเล็งเห็นว่า สถานที่เรียนในวัดมัชฌิมาวาสไม่กว้างขวางพอที่จะขยับขยายเป็นโรงเรียนหลวงขนาดใหญ่ในอนาคตได้ ควรจะมีอาคารเรียนและบริเวณที่กว้างขวางกว่า คือ ที่วัดนาถม ตามที่วางโครงการไว้แต่เดิม ฉะนั้น ในปี พ.ศ. 2447 จึงจัดการเรี่ยไรเงินสมทบทุนอีกครั้งหนึ่งสร้างอาคารที่วัดนาถม สำเร็จในปี พ.ศ. 2448  

แต่ในปลายปี พ.ศ. 2447 สถานีตำรวจภูธรที่ริมคลองขวาง ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่า "โรงพักพลตระเวณ" เกิดว่างลง เพราะที่ใหม่ที่แหลมทรายสร้างเสร็จ เจ้าพระยายมราชเห็นเป็นสถานที่เหมาะกว่าที่เดิม จึงย้ายโรงเรียนจากวัดมัชฌิมาวาสอยู่ที่นี่ในปี พ.ศ. 2448 บริเวณโรงพักอันเป็นที่เรียนใหม่ มีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน  

ส่วนอาคารที่วัดนาถม เจ้าพระยายมราช ท่านจึงตั้งชื่อว่า "สัณฐาคาร" แปลว่า "เรือนรับรอง" ขณะที่โรงเรียนใช้โรงพักพลตระเวณเป็นที่เรียนนั้น อาคารสัณฐาคาร ก็ใช้เป็นจวนข้าหลวงเทศาภิบาลมาตลอด จนเมื่อมีการสร้างตำหนักเขาน้อยเสร็จ ใช้เป็นจวนข้าหลวงแทน โรงเรียนจึงย้ายมาอยู่ที่วัดนาถม ใช้อาคาร "สัณฐาคาร" เป็นอาคารเรียนตามโครงการที่วางไว้เดิม ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2457 เป็นต้นมา  

ภาพลูกเสือเปรม ติณสูลานนท์ (แถวหน้าสุด คนที่ 2 จากซ้าย) กับเพื่อนโรงเรียนมหาวชิราวุธ

ปัจจุบันโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่เลขที่ 19 ถนนราชดำเนิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 

เมื่อเข้าเว็บไซต์ของโรงเรียนมหาวชิราวุธ ย้อนอดีต และที่มาของโรงเรียนจบแล้ว อยากรู้ว่าในโรงเรียนมีความเป็นไปอย่างไร ก็กดลิ้งค์ของเว็บต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเจอ บทความเรื่อง "วันชื่นคืนสุข.. ณ มหาวชิราวุธ ซึ่งเขียนไว้เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ผู้เขียนกล่าวถึงครั้งยังเป็นนักเรียนในรั้วโรงเรียนได้อย่างเห็นภาพ และกล่าวคิดถึงความหลังได้อย่างน่าคล้อยตาม "คิดถึงบรรยากาศในห้องเรียน การเรียน การสอน ที่ค่อนข้างจะแสนสาหัสสำหรับเรา แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เราและผองเพื่อน ถูกกลั่นกรอง จากห้องนี้ จากไม้เรียว โดยคุณครูที่แสนดี" 

สุดท้ายนี้ขอยกบางช่วงของบทความ มารำลึกถึงวันเก่า " รุ่นพี่ รุ่นน้อง มีความผูกพันธ์ รักกัน ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธแห่งนี้ วันวานช่างแสนหวาน ยังคงเป็น วันชื่นคืนสุข สำหรับเรา และผองเพื่อนเสมอ สุขใจเหลือเกินที่ได้เป็นลูกน้ำเงิน - ขาว"  

 

ขอบคุณข้อมูล : โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา , วิภาพร เล่าเรื่อง 

ขอบคุณภาพ :  ศิษย์เก่ามหาวชิราวุธ , โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา , วิภาพร เล่าเรื่อง

เขียนและเรียบเรียง : หาดใหญ่โฟกัส

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง