หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

โรงงานกระเบื้องดินเผา..หลังสุดท้าย | ท่านางหอม
18 สิงหาคม 2560 | 15,313

กระเบื้องท่านางหอม โด่งดังไปไกลถึงกรุงเทพฯ และหัวเมืองมลายู ข้อความนี้กระตุกต่อมอยากรู้ของเราของมาก เมื่อมีเวลาว่างจึงออกตามหาคำตอบ ทีมงาน HatyaiFocus รีบชวนพี่เอก ร้านชุมทาง (ณ) ท่านางหอมเจ้าถิ่นใจดีบุกตะลุย โรงงานกระเบื้องหลังสุดท้ายแห่งท่านางหอม

พี่เอกนัดทีมงานตั้งแต่เช้าตรู่ ณ สถานที่สุดชิค ตลาดนัดท่านางหอม พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า ตลาดที่นี่อายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ราคาอาหารก็ไม่แพง หยิบใบร้อยมาจากกระเป๋าหนึ่งใบก็อิ่มท้องไปทั้งวัน พร้อมชวนให้เรามาชิมเต้าคั่วฟรี เราปฏิเสธไปเพราะอยากออกไปถ่ายรูปวิถีชีวิตชาวบ้านในตลาดมากกว่า

หลังตระเวนถ่ายรูปแม่ค้า พ่อค้า และวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ ของชุมชนแห่งนี้แล้ว พี่เอกพาเราไปตะลุย โรงกระเบื้องโบราณแห่งสุดท้ายของประเทศ เมื่อไปถึงก็พบกับคุณลุง และ คุณป้า 3 คน ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระเบื้องโบราณท่านางหอมนั่นเอง

คุณป้าเล่าให้ฟังว่า กระเบื้องดินเผาโบราณทำไม่ยากหรอกลูก แต่หลังของป้าไม่ค่อยดีแล้ว จะก้มบ่อย ๆ ไม่ได้ ทุกวันนี้ที่ทำเพราะไม่มีคนรุ่นใหม่สนใจทำ มันร้อนแล้วก็น่าเบื่อ ถามป้าต่อว่า แล้วลูกหลานท่านางหอมสนใจไหม แกส่ายหัวเบา ๆ พร้อมบอกว่า "ไม่มีหรอกลูกหลานท่านางหอม ส่วนใหญ่สนใจทำงานในเมืองใหญ่ งานที่ติดแอร์เงินเดือนเยอะ ๆ ไม่มีใครอยากทำงานแบบนี้หรอก"

นับว่าน่าเสียดายไม่น้อยเพราะหากนับอายุของภูมิปัญญากระเบื้องดินเผาโบราณ จะพบว่ามีอายุกว่า 200 ปี เล่ากันว่า ชาวจีนเมื่ออพยพมาถึงสงขลา นอกจากจะหอบเสื่อผืนหมอนใบมาแล้ว ชาวจีนยังหอบภูมิปัญญาสุดทึ่งที่พร้อมสร้างรายได้ให้แก่ตนในอนาคตมาด้วย

ป้าเล่าให้ฟังต่อว่า "เมื่อก่อนการผลิตกระเบื้องดินเผาเป็นความลับ ชาวจีนจะปิดบังไม่ให้คนไทยรู้กรรมวิธี แต่เมื่อความต้องการกระเบื้องดินเผามีมาก ชาวจีนจึงจำเป็นต้องจ้างชาวไทยในพื้นที่มาเป็นแรงงานกุลี เมื่อชาวไทยรู้กรรมวิธี จึงเริ่มลอกเลียนแบบและเมื่อมีทุนทรัพย์ก็สร้างโรงกระเบื้องเป็นของตัวเอง"

 

เมื่อก่อนแหล่งผลิตกระเบื้องดินเผาของสงขลา ตั้งอยู่รอบชายฝั่งทะเลสาบสงขลาทิศตะวันตกของเมือง ตั้งแต่บริเวณท่าอิฐ ท่าสะอ้าน บ้านท่านางหอม เกาะยอ รวม ๆ แล้วมากกว่า 200 เตา ท่านางหอมเคยรุ่งเรือง เป็นแหล่งผลิตกระเบื้องส่งต่อไปยังเกาะยอ เพราะทีมงาน HatyaiFocus เคยพาไปตะลุยซากเตาเผาจะพบตามริมชายทะเลสาบสงขลา บนพื้นที่ท่านางหอมมาแล้ว (พื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมชายทะเลสาบสงขลา มองไปยังฝั่งตรงข้ามเป็นเกาะยอ) ตามอ่านกันได้นะ

ดินเหนียวที่นี่มีลักษณะแตกต่างจากที่อื่น ทำให้กระเบื้องดินเผาของที่นี่มีคุณภาพ ช่วงรัชกาลที่ 3 - 5 หลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างใบบอกเมืองสงขลา แสดงให้เห็นว่ากระเบื้องดินเผาสงขลา (ซึ่งหนึ่งในนั้นผลิตที่ท่านางหอม) มีความโด่งดังมาก ไม่ได้มีชื่อเสียงแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ดังกระฉ่อนไปถึงหัวเมืองมลายู นับเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สร้างชื่อให้สงขลา

วันเวลาผ่านไปกว่า 200 ปี ทุกวันนี้กระเบื้องดินเผาโบราณเสื่อมความนิยมลงเพราะราคาแพงกว่ากระเบื้องอุตสาหกรรม (กระเบื้องดินเผาโบราณแผ่นละ 6 บาท) และเหลือโรงงานกระเบื้องโบราณแห่งสุดท้ายคือที่นี่ พี่เอกเล่าว่า "ยังมีออเดอร์กระเบื้องฯ สั่งมาเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมแบบโบราณและร้านอาหารชิค ๆ ที่ยังใช้กระเบื้องโบราณเพื่อความสวยงาม น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ มีแต่ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานโรงงานกระเบื้องแห่งนี้แต่ไม่มีใครในท่านางหอมสนใจสืบทอดภูมิปัญญาที่พิเศษเช่นนี้"

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง