หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | เรื่องเล่า ตำนานเจดีย์พระบรมธาตุวัดชัยมงคล
13 กันยายน 2561 | 12,277

ชาวสงขลาหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ วัดชัยมงคล เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ ถ.ชัยมงคล ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นอารมหลวง สังกัดปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย และหลายคนคงทราบดีว่าที่วัดแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย  

วัดชัยมงคล เดิมชื่อวัดโคกเสม็ด เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดจำนวนมาก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลาเขียนบอกเล่าไว้ว่า ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนๆ ทราบว่าวัดนี้พระอาจารย์ชัย พระภิกษุชาวกลันตันเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ. 2394 สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดเพชรมงคล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดชัยมงคล โดยพระอาจารย์ชัยเป็นผู้สร้างวัดชัยมงคล  และพระอาจารย์เพชรเป็นผู้สร้างวัดเพชรมงคล พระภิกษุทั้ง 2 รูปนี้ เป็นเพื่อนสนิทกัน และเป็นชาวกลันตันด้วยกัน (สมัยกลันตันยังเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรไทย) 

ในเอกสารประวัติวัดชัยมงคล ซึ่งเป็นเอกสารพิมพ์ดีดสำเนา ได้กล่าวถึงประวัติการสร้างพระเจดีย์หรือพระบรมธาตุวัดชัยมงคล ซึ่งบอกไว้ว่าอ้างมาจาก “หนังสือประวัติพระบรมธาตุ” แต่งโดยคุณหมออิ่ม ศิษย์ของอาจารย์นะ ติสสโร โดยกล่าวว่า อาจารย์นะ ติสสโร มีความศรัทธาอย่างแรงกล้า ที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลา จึงได้เดินทางไปถึงประเทศลังกา เพื่อแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ ได้โดยสารเรือกลไฟไปเป็นเวลา 15 วัน 15 คืน จึงถึงประเทศลังกา  

เมื่อไปถึงประเทศลังกาท่านได้ไปพักอาศัยอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามตลอดเวลา 3 เดือน ได้ถือโอกาสไปนมัสการปูชนียสถานทั่วประเทศ และท่านได้ทราบจากสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามว่า ที่บ้านเศรษฐีท่านหนึ่งมีพระธาตุอยู่หลายผอบ หากอาจารย์นะไปแจ้งความประสงค์ต่อเศรษฐีผู้นั้นเขาคงให้ เพราะนอกจากเศรษฐีผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาแล้วยังรู้จักและมีความนิยม นับถือท่านอาจารย์นะอยู่แล้วด้วย อาจารย์นะทราบข่าวก็ดีใจรีบไปหาเศรษฐีผู้นั้น แจ้งความประสงค์ให้ทราบว่าการมาประเทศลังกาครั้งนี้ นอกจากมานมัสการปูชนียสถานแล้ว ยังมีความประสงค์ที่สำคัญมาก คือเพื่อต้องการแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาของ พุทธศาสนิกชนที่เมืองไทย

 ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้น ก็บอกว่าพระธาตุของตนมีอยู่ 4 ผอบ คือ พระบรมสารีริกธาตุ 1 ผอบ พระธาตุพระโคคลาน 1 ผอบ พระธาตุพระสารีบุตร 1 ผอบ และพระธาตุพระอานนท์ 1 ผอบ จะถวายอาจารย์นะไปสัก 1 ผอบ แต่ให้อาจารย์นะ ได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงบารมีพระพุทธองค์ และในที่สุดก็จับได้ผอบพระบรมสารีริกธาตุสมความปรารถนา ฝ่ายท่านเศรษฐีเมื่อเห็นว่าท่านอาจารย์นะ จับถูกผอบพระบรมสารีริกธาตุ เกิดความเสียดายจนน้ำตาร่วงพรูออกมาอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นมรดกประจำสกุลตกทอดมาหลายชั่วอายุคน ประกอบกับท่านเศรษฐีมีความเคารพหนักแน่น ต่อพระบรมสารีริกธาตุมาก ย่อมมีความอาลัยเสียดายเป็นธรรมดา  

เมื่ออาจารย์นะเห็นว่าท่านเศรษฐีร้องไห้จึงบอกว่า เมื่อโยมยังมีความอาลัยอยู่อาตมาก็จะไม่ขอเอาไปขอคืนกลับให้ตามเดิม ท่านเศรษฐีจึงพูดว่าขอพระคุณเจ้าจงอัญเชิญไปเมืองไทยเถอะ พระบรมสารีริกธาตุปรารถนาจะเสด็จไปกับท่านแล้ว พร้อมกับสั่งว่า เมื่อท่านกลับไปถึงเมืองไทยแล้ว ขอให้สร้างพรสถูปเจดีย์เป็นแบบถูปารามสำหรับบรรจุ เพราะพระบรมธาตุนี้ได้มากจากพระเจดีย์ถูปารามเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่ พร้อมกับมอบภาพพระเจดีย์ถูปารามให้มาด้วย และสั่งว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ด้วย  

เมื่อท่านอาจารย์นะได้พระบรมสารีริกธาตุสมควรตั้งใจแล้ว ได้กราบลาสมเด็จพระสังฆราชและลาท่านเศรษฐีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยต้นโพธิ์ทอง 3 ต้น เดินทางกลับประเทศไทย โดยท่านเศรษฐีฝากให้โดยสารมากับเรือสินค้าของชาวฝรั่งเศส เรือมาแวะขนถ่าย สินค้าที่เมืองท่าสิงคโปร์เป็นเวลาหลายวัน พอดีอาจารย์นะได้พบกับพ่อค้าคนจีนซึ่งไปติดต่อซื้อสินค้าจากเรือ ที่ท่านโดยสารมา สอบถามได้ความว่าชื่อ เส้ง เป็นจีนฮกเกี้ยน อยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์นะจึงได้ขอโดยสารเรือมาขึ้นที่เมืองสงขลา

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 ท่านอาจารย์นะถึงเมืองสงขลาและขึ้นจากเรือถึงวัดชัยมงคล เมื่อตอนบ่ายวันเดียวกัน ประชาชนชาวเมืองสงขลาเมื่อทราบข่าวการกลับมาของอาจารย์นะ พร้อมกับนำพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ต่างก็พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดชัยมงคลอย่างล้นหลาม เพื่อบูชานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และได้มีการจัดงามสมโภชขึ้นเป็นเวลา 7 วัน  

เสร็จงานสมโภชแล้ว อาจารย์นะ ก็ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายช่วยกันทำการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงลังกา แบบถูปารามตามคำท่านเศรษฐีสั่งทุกประการ และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันวิสาขบูชา ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง