หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

จารึกนามตามชื่อ "พ่อขรรค์ชัย" บัลดาลให้อยู่สุขทุกผู้คน
19 มิถุนายน 2561 | 8,843

โรงเรียนสะเดา   "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เปิดสอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2497  เป็นโรงเรียนสหศึกษา โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวิสามัญอำเภอสะเดา” รับนักเรียนเข้าเรียนครั้งแรก ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) จำนวน 54 คน ขณะนั้นโรงเรียนยังไม่มีที่ดินและอาคารเรียน จึงใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนจีน (โรงเรียนกฤษณาวิทยา ในปัจจุบัน) เป็นที่เรียนโดยใช้อักษรย่อ ส.ข.๙ 

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2498 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสะเดา 'ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์' เนื่องจากประชาชนในพื้นที่สะเดาได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อ เป็นการระลึกถึงคุณงามความดีและเป็นอนุสรณ์แก่นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์ อดีตนายอำเภอสะเดา ผู้ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการและพี่น้องชาวอำเภอสะเดาไว้เป็นอันมาก และได้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับ โจรจีนคอมมิวนิสต์ที่บ้านควนไม้ดำ ด่านจังโหลน ซึ่งเป็นพรมแดนไทย - มาเลเซีย  เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2495  ปัจจุบันนี้ โรงเรียนสะเดา  "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์”  เปิดสอนมาอย่างยาวนานถึง 64 ปี บนพื้นที่ 16 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา บนถนนกาญจนวณิชย์ ต.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ภายใต้อักษรย่อ ข.ช. ของชาวม่วง - ขาว และคติพจน์ข้อเตือนใจอย่าง "ใฝ่วิชา  สามัคคี  ประพฤติดี  มีน้ำใจ" ไม่มีใครไม่ระลึกถึง "พ่อขรรค์ชัย" 

ภายในโรงเรียนสะเดา "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” มีอนุสาวรีย์ขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ที่สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณความดีของผู้ประพฤติตน และปฏิบัติหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งด้านการปกครอง การปราบปรามโจรก่อการร้าย การดูแลทุกข์สุขและให้บริการแก่ประชาชนเสมือนญาติมิตร การริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอสะเดา รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ยังความรัก ความศรัทธาแก่ผู้ร่วมงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป  

มีตอนหนึ่งจากหนังสือ 40 สะเดา "ขรรค์ชัย" ในเรื่องนายอำเภอของเรา โดย นิโรจน์ ขาวมาก บอกไว้ว่า "ตอนแรก ๆ ดูออกจะเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับชาวบ้านทั่วไป ที่ได้เห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับนายอำเภอ เที่ยวตะลอน ๆ และเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการในตอนเช้าตรู่และยามเย็น ๆ เพราะไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อน เสียงกรอกแกรก ๆ จากรถถีบคันเก่า ๆ ที่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัย ใช้ในการเดินทางแวะเวียนไปพูดคุย ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกับพี่น้องชาวบ้าน หรือสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ จากเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน "บ้านนี้เขาทำอะไร..." "บ้านหลังนั้นเขาอยู่กันกี่คน...จบ ป.4 แล้วไปเรียนต่อบ้างไหม......." แต่พอนานเข้าก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะว่านายอำเภอขรรค์ชัย ท่านได้ทำเป็นปกติวิสัย 

ครั้งหนึ่ง ในตอนเช้าเมื่อท่านนายอำเภอขรรค์ชัยขี่รถถีบไปถึงบ้านระตะ ท่านก็เห็นเด็กชายคนหนึ่งกำลังตักข้าวให้หมูอยู่ ท่านถามเด็กชายคนนั้นด้วยภาษาใต้ว่า เธอชื่ออะไร เด็กชายคนนั้นตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า ชื่อประสิทธิ์ ทองคำ ครับ แล้วท่านก็พูดว่า มา..ให้น้าช่วยบ้าง ว่าแล้วท่านก็ลงมือช่วยเด็กชายประสิทธิ์ ทองคำ ตักข้าวให้หมูทันที แล้วคุยกันไปทำงานกันไปอย่างสนุก เป็นกันเอง เธอจบชั้นไหน "ปอสี่ครับ"ทำไมไม่เรียนต่อ "โรงเรียนอยู่ไกลครับ"คำว่า โรงเรียนอยู่ไกล ที่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัยได้รับทราบจากเด็กที่จบป.4 แล้วจำนวนหลายคน รวมทั้งผู้ปกครองทั้งหลายที่อยากได้บุตรหลานได้มีโอกาสเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นแต่ก็ไม่สามารถจะกระทำได้ต่อเนื่องจากไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ถ้าอำเภอสะเดาเรามีโรงเรียนมัธยม เด็ก ๆ ย่อมมีโอกาสได้เรียนต่อชั้นสูงขึ้นแน่และผู้ปกครองก็คงไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทองค่าใช้จ่ายมากนักทั้งไม่ต้องลำบากใจเพราะเป็นห่วงเป็นใยในความรักลูกหลานเนื่องจากโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน 

นี่คือคำปราถนาดีที่อดีตนายอำเภอขรรค์ชัยผู้เป็นขวัญใจของชาวสะเดา กล่าวกับผู้ใกล้ชิดและกำนันผู้ใหญ่บ้านเสมอ ๆ สมัยนั้นเด็ก ๆ ที่เรียนจบชั้นป.4 แล้ว หากจะเรียนต่อก็ต้องไปเรียนที่ในตัวเมืองสงขลา การพูดคุยเป็นไปอย่างสนุกสนานกับน้าชายผู้ใจดีและเป็นกันเองเหมือนน้าจริง ๆ ในวันนั้น ด็กชายประสิทธิ์ ทองคำ (ปัจจุบัน คือ พระครูพิทักษ์นิมพเขต เจ้าอาวาสวัดพังลา เจ้าคณะอำเภอสะเดา ไม่ทราบเลยว่าเป็นนายอำเภอสะเดา และแล้วเย็นวันหนึ่ง ท่านนายอำเภอขรรค์ชัย ก็ขี่รถถีบคันเก่าซึ่งมีเสียงกรอกแกรก ๆ เป็นเอกลักษณ์ พอไปถึงบ้านระตะก็เข้าไปพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้านและเด็ก ๆ ขณะที่เด็กชายประสิทธิ์ ทองคำ ลูกยายแก้ว-ตาคง กำลังรดน้ำผักอยู่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัยก็เอาหนังสือที่ท่านนำติดตัวไปด้วยให้เด็กชายประสิทธิ์อ่านให้ฟัง วันนั้นท่านชมเด็กชายประสิทธิ์ว่า เธออ่านคล่องจัง พร้อมกับยื่นเงินให้เป็นรางวัล  

ทุกครั้งที่นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ออกเยี่ยมพี่น้องตามหมู่บ้านต่าง ๆ ท่านจะตั้งคำถาม หรือไม่ก็เอาหนังสือที่ท่านเตรียมไปให้เด็ก ๆ อ่านให้ฟังแล้วท่านจะให้เงินเป็นรางวัล จึงทำให้เด็ก ๆ เตรียมตัวเตรียมใจอย่างจดจ่อและเฝ้ารอนายอำเภอเพื่อที่จะได้ตอบคำถามและอ่านหนังสือเอาเงินรางวัลกันเกือบทุกหมู่บ้าน หลังจากวันนั้นท่านนายอำเภอขรรค์ชัยไปเยี่ยมพี่น้องชาวบ้านแห่งบ้านระตะอีก ท่านได้นำภาพจำนวน 3 ภาพไปให้เด็กชายประสิทธิ์ดูแล้วให้ตอบว่าเป็นรูปภาพอะไรบ้าง ปรากฏว่า เด็กชายประสิทธิ์ตอบถูกหมดทั้ง 3 ภาพ คือ ภาพพระราชวังบางปะอิน พระปรางค์สามยอด และภาพพระพุทธชินราช แล้วเด็กชายประสิทธิ์ก็ได้รับเงินเป็นของรางวัลพร้อมกับคำชมเชยจากท่านนายอำเภอขรรค์ชัย ด้วยความภาคภูมิใจและเกิดความคิดอยู่ในใจเสมอมาว่า การเป็นคนมีความรู้นี่เป็นสิ่งดีนะ..ได้ทั้งคำยกย่องและเงินรางวัล"

แม้กาลเวลาจะผ่านไป แต่คุณความดี ความเสียสละ และความกล้าหาญของนายขรรค์ชัย กัมพลานนท์ ยังคงประจักษ์จารึกเป็นเกียรติประวัติที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของข้าราชการและประชาชนต่อไป ในวันที่ 14 ธันวาคม ของทุกปี ชาวสะเดาถือว่าเป็นวันขรรค์ชัยรำลึก คือระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านนายอำเภอขรรค์ชัยได้สร้างไว้  

จารึกนามตามชื่อ "พ่อขรรค์ชัย" บัลดาลให้อยู่สุขทุกผู้คน 

 

ขอบคุณข้อมูล : โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์”
ขอบคุณภาพประกอบ : สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสะเดา"ขรรค์ชัยฯ"

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง