หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ประวัติศาสตร์สงขลา | เรื่องเล่าของลุงก้อย "สงขลา ปะทะ กองทัพญี่ปุน"
18 มิถุนายน 2561 | 19,988

"ลุงก้อย" หรือ "อาจารย์วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ" บุคคลผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ได้มาเล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเมืองสงขลา ภายในกิจกรรม "แหลงเรื่องเก่า เล่าเรื่องแต่แรก" เมื่อครั้งที่กองทัพจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการที่ทำให้มีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก 

เกิดสงครามเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นร่วมมือกับเยอรมันเพื่อจะยึดครองโลก โดยกองทัพญี่ปุ่นหวังยึดประเทศในแถบเอเชีย และในช่วงราวๆเที่ยงคืนถึงตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลมาทางทะเลอ่าวไทย และยกทัพขึ้นบกบริเวณชายฝั่งจังหวัดสงขลา โดยมีเป้าหมายใช้ "เมืองสงขลา" เป็นทางผ่าน เพื่อไปยึดแหลมมลายูและอินเดีย ซึ่งทางฝั่งไทยไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน เมื่อเรือของกองทัพญี่ปุ่นเดินทางมาถึงเกาะหนูเกาะแมว ก็ได้ส่งเรือเล็กลำเลียงไพร่พลเข้าสู่เมืองสงขลา โดยขณะนั้นทางทหารฝั่งสงขลายังไม่ทันได้ตั้งหลัก ทำให้กองทัพญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถยึดเมืองสงขลาได้สำเร็จ กองทัพญี่ปุ่นเตรียมการวางแผนมาเป็นอย่างดี ยึดทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองสงขลาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน บ่อน้ำ สนามบิน อาคารบ้านเรือน และเสบียง แต่กระนั้นก็ยังมีทหารสงขลาบางส่วน ทั้งที่สวนตูลและค่ายเสนาณรงค์ คอยพยายามยิงต่อสู้สกัดกั้นกองทัพญี่ปุ่น โดยกองทัพญี่ปุ่นได้ใช้รถจักรยานลำเลียงไพร่พลไปทางถนนไทรบุรี (กาญจนวนิช) เพื่อเข้าสู่เมืองหาดใหญ่และเลยผ่านไปยังแหลมมลายู แต่กระนั้นมีเหตุการณ์หนึ่ง ที่เป็นเหมือนวีรกรรมของ "ชาวบ้านน้ำน้อย" ซึ่งพยายามสกัดกั้นกองทัพญี่ปุ่น ร่วมกับทหารจากค่ายเสนาณรงค์ บริเวณเขาบันไดนาและช่องเขาน้ำน้อย

ลุงก้อย ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านหนึ่ง ชื่อว่า "คุณตาประมวล สวัสดี" อายุ 80-90 ปี ตอนที่สัมภาษณ์แกเป็นสัปเหร่ออยู่ที่วัดพระบาทบ้านพรุ ท่านคือหนึ่งในพลทหารที่ต่อสู้กับญี่ปุ่น ณ เขาบันไดนาง บริเวณบ้านน้ำน้อย แกเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า แกเป็นทหารอยู่ที่ค่ายเสนาณรงค์ เมื่อมีคำสั่งมาจึงพากันไปตั้งรับสกัดกั้นกองทัพญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือด ทหารฝั่งไทยและญี่ปุ่นเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยคุณตาประมวลเล่าต่อว่า "ญี่ปุ่นขี่จักรยานมา พวกเรายิงญี่ปุ่นเท่าไหร่ก็ไม่หมด ยิงแล้วยิงอีกก็ไม่หมดสักที ยิงจนขี้เกียจยิง ญี่ปุ่นมามากมายเหลือเกิน ผมยิงอยู่กับเพื่อนที่ชื่อนิกร จริงๆ นิกร ไม่ตายแต่นิกรด่าแม่...นิกรยิงอยู่ข้างๆผม ยิงพรื่อก็ไม่หมด ยิงพักเดียว ทหารญี่ปุ่นตายไปเยอะแล้ว แต่ก็ไม่หมดสักที นิกรพูดขึ้นว่า เหย็ดแหม่ต่อใดอีหมดสักที!! สิ้นคำพูดนั้น ผางเข้าหน้าผากนิกร นิกรนอนตายอยู่ข้างผม" ภายหลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ลุงก้อยก็ได้กลับไปเปิดหนังสือของ "อาจารย์สรศัลย์ แพ่งสภา" หนังสือมีชื่อว่า "ทะเลเลือด อ่าวสมิหลา" และ "สมรรภูมิช่องเขาน้ำน้อย" พบว่าปรากฏชื่อของ "สิบโทนิกร" อยู่ภายในรายชื่อผู้เสียชีวิตที่ช่องเขาน้ำน้อย แปลว่าเรื่องที่คุณตาประมวลเล่าให้ฟังเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ได้ถูกจดบันทึกเอาไว้เท่านั้นเอง

ในช่วงเวลาเที่ยงของวันนั้น ทางการได้ส่งข่าวสารมายังสงขลาว่าให้หยุดยิงกับญี่ปุ่น ทางการไทยยอมให้ญี่ปุ่นใช้พื้นที่สงขลาและหาดใหญ่ เพื่อเดินทางไปยังมลายูได้ ในที่สุดเมืองสงขลาก็เต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น เล่ากันว่าทหารญี่ปุ่นสามารถเดินไปไหนต่อไหนได้สบาย มีเรื่องราวเกี่ยวกับการที่ทหารญี่ปุ่นเอาดาบซามูไรมาแลกกล้วยน้ำว้าหนึ่งหวี ในวันที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม

ขอบคุณ: ลุงก้อย (วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ) / ภาคีคนรักเมืองสงขลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง