"เมืองสงขลา" เมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ให้เราชาวสงขลาได้เรียนรู้ นำไปสู่ความภาคภูมิใจ และสำนึกรักในบ้านเกิดของตน โดยเฉพาะการเสด็จมายังเมืองสงขลาของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (รัตนโกสินทร์) ทางทีมงาน หาดใหญ่โฟกัส ขอสรุปมาให้ผู้อ่านเข้าใจดังนี้
หลักฐานแรก ถูกบันทึกและยังมีหลักฐานอยู่ ได้แก่ "เสาหลักเมืองสงขลา" รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทาน "ไม้ชัยพฤกษ์" เมื่อครั้งย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสน (สิงหนคร) มายังฝั่งบ่อยาง (อำเภอเมือง) โดยมีการทำพิธีฝังหลักเมืองสงขลาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2385
หลักฐานที่สอง รัชกาลที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ที่ประทับพระบาทลงบนพื้นดินเมืองสงขลา ราวปี พ.ศ.2402 พระองค์ได้เสด็จประทับด้วยเรือพระที่นั่ง มาจอดยังบริเวณ "เกาะหนู" ก่อนจะเสด็จลงเรือเล็กมาลงที่ท่าแหลมทราย และพระองค์ก็เสด็จเข้าสู่เมืองสงขลา เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด "ผังเมืองสงขลา" ในที่สุด เพราะว่าผังเมืองเกิดจากการบันทึกของรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงบันทึกเรื่องราวส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเสด็จภายในเมืองสงขลาอย่างละเอียด กลายเป็นที่มาที่ทำให้เราเอามาเขียนผังเมือง
หลักฐานที่สาม หากพูดถึงรัชกาลที่ 5 ไม่น่าเชื่อว่า "เมืองสงขลา" เป็นเมืองที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยมเยือนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (เมืองกรุงเทพมหานคร พระองค์ประทับ) พระองค์เสด็จมายังเมืองสงขลาถึง 11 ครั้ง หากพูดถึง 2 ครั้งแรกที่พระองค์เสด็จมา ก็คือตอนที่พระองค์ยังเป็นพระราชกุมารในรัชกาลที่ 4 ส่วนอีก 9 ครั้ง รัชกาลที่ 5 ทั้งเสด็จมาแวะและเจาะจงมาประทับที่เมืองสงขลา รัชกาลที่ 5 ยังเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทำให้เราได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ เนื่องจากพระองค์ได้ฉายพระรูปเอาไว้เมื่อครั้งเสด็จเยือนเมืองสงขลา ปัจจุบันรูปพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา
หลักฐานที่สี่ รัชกาลที่ 6 เคยตรัสเอาไว้ว่า พระองค์ทรงชอบ รัก และมีความสนใจ โดยรัขกาลที่ 6 ได้ตรัสกับกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พระอนุชาในรัชกาลที่ 6) ซึ่งมีบันทึกในเอกสารฉบับหนึ่งความว่า "การที่ฉันให้เธอมาดูแลเมืองสงขลานั้น เพราะชอบเมืองสงขลา เห็นว่าเมืองสงขลาเป็นเสมือนเพชรเม็ดหนึ่งในพระมหาพิชัยมงกุฎของฉัน" รัชกาลที่ 6 ยังตรัสต่อว่า "ฉันมีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับความต้อนรับอย่างเต็มใจ และจงรักภักดีเช่นนี้ ที่เมืองสงขลาและมณฑลนครศรีธรรมราชนี้ ไม่ใช่เป็นครั้งแรก ได้มาแต่ก่อนหลายครั้งแล้ว และตั้งใจอยากจะมาอีก ยิ่งมาครั้งใด ก็ยิ่งมีความรักใคร่ขึ้นทุกที เพราะเห็นว่าเป็นเหมือนหนึ่งรัตนดวงหนึ่งในพระมหาพิชัยมงกุฏของฉัน" เมื่อครั้งที่พระองค์ได้ส่งกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์มาเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งเมืองอยู่ที่สงขลา เอกสารดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า "หนังสือจดหมายเหตุ ฉบับที่ 5 ตอนเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ หน้า 114" หากพูดถึงการขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ จะต้องมีเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อยู่ 5 อย่าง ได้แก่ 1.พระมหาพิชัยมงกุฏ 2.ฉลองพระบาทเชิงงอน 3.แส้จามรีและพัดวาลวิชนี 4.พระแสงขรรค์ชัยศรี 5.ธารพระกร
หลักฐานที่ห้า รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จมาประทับที่ "ตำหนักเขาน้อย" ปัจจุบันเป็น "จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา" มีรับสั่งเชิญเสด็จสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า เสด็จจากกรุงเทพไปสงขลา ประทับ ณ พลับพลาไม้ไผ่เชิงเขาน้อยเบื้องหลังตำหนัก ระหว่างพระองค์ประทับที่สงขลา ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังเช่นการเสด็จทอดพระเนตรสวนปาล์มและทรงปลูกต้นปาล์ม โดยได้มีหลักฐานปรากฏมาว่า มีหลักจารึกพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี และสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งหลักจารึกนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "สวนหม่อม" ตำบลปริก อำสะเดา จังหวัดสงขลา
หลักฐานที่หก ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม พ.ศ.2502 รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฏร์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีการสร้างซุ้มรับเสด็จ ณ สำนักสงฆ์ดอนขี้เหล็ก อำเภอรัตภูมิ บริเวณช่วงรอยต่อของจังหวัดสงขลาและพัทลุง ซึ่งต่อมาที่พักสงฆ์ดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดปฐมยาตราธรรมาราม" อันเป็นการบ่งบอกถึงการเสด็จประทับพระบาทบนพื้นแผ่นดินเมืองสงขลาครั้งแรก ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อมาพระองค์ได้ทรงเสด็จประทับที่ตำหนักเขาน้อย เมืองสงขลา ทรงให้ข้าราชการและประชาชนเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด เสด็จไปยังอาคารสโมสรสงขลา ทรงทอดพระเนตรกีฬาชนโค เสด็จฯ ส่วนพระองค์ที่ริมหาดสมิหลา โดยมีปรากฏภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงฉายพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
นี่แหล่ะคือ "เมืองสงขลา" เมืองบ้านเกิดที่เปรียบเสมือนหนึ่งในความภาคภูมิใจในชีวิตของเราชาวสงขลา ที่ไม่ว่าบ้านเมืองเราจะเป็นเมืองเล็กเพียงใด แต่ก็ไม่เคยว่างเว้นจากสายพระเนตรของในหลวงองค์ใดเลย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ: ลุงก้อย / ภาคีคนรักเมืองสงขลา / นาฬิกาแห่งกาลเวลาสงขลา
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 172ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 160ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 169ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 295พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 379ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 412ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 547ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,597