หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

บางกล่ำ | อภินิหาร "หลวงปู่เฟื่อง" สามเณรโค่งให้หวย และบันไดกิ่งมะม่วง (ตอนที่ 2)
19 พฤษภาคม 2561 | 11,167

ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก คลิก อภินิหาร "หลวงปู่เฟื่อง" โครงกระดูก 2 ร่าง และ บิณฑบาตที่เกาะภูเก็ต (ตอนที่ 1)

ย้อนกลับไปตอนแรก "หลวงปู่เฟื่อง" คือ พระเกจิอาจารย์ที่มีผู้คนนับถือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ท่านมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดสุราษฏร์ธานี บวชเมื่ออายุ 21 ปี โดยศึกษาไสยเวทย์และทางหลุดพ้น เดินธุดงค์ไปในป่าดงพญาเย็นและดงพญาไฟ รวมถึงชายแดนไทย-เขมร (กัมพูชา) เพื่อค้นหาโครงกระดูกของตนเองเมื่อชาติปางก่อน มาทำพิธีฌาปนกิจเพื่อให้วิญญาณหลุดพ้น ก่อนจะเดินทางกลับมาภาคใต้ โดยได้ข้ามเรือไปยังเกาะภูเก็ต ก่อนถูกเจ้าเมืองพยายามจับสึก แต่ก็ได้แสดงอภินิหารจนเป็นที่เลื่องลือของชาวภูเก็ต

หลวงพ่อเฟื่องหลังจากออกมาจากเกาะภูเก็ต ประวัติของท่านก็ไม่ได้ถูกพูดถึง จนผ่านล่วงเลยมาในช่วงวัยชรา ท่านได้พำนักชั่วคราวอยู่ที่ "วัดเกาะ" เมืองหาดใหญ่ หลังจากนั้นก็ไปพักยัง "วัดควนลัง" ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่ง ช่วงประมาณบ่ายๆ พระหนุ่มในวัดนั้นจำนวน 4-5 รูป ได้ล้อมวงเตะลูกตระกร้อกันอย่างสนุกสนาน ก่อนที่จะเตะลูกตระกร้อไปตกบนหลังคาของกุฏิหลวงปู่เฟื่อง ท่านจึงร้องถามพระเหล่านั้นว่า "พวกท่านเป็นพระหรือเป็นเณร" พระเหล่านั้นตอบท่านว่า "เป็นพระ" แล้วย้อนถามท่านว่า "ท่านล่ะ เป็นพระหรือเป็นเณร" ท่านก็ตอบว่า "เมื่อพวกท่านเป็นพระ ฉันก็ควรเป็นสามเณร" พระหนุ่มต่างก็หัวเราะ ตั้งแต่นั้นเณรและลูกศิษย์เรียกท่านว่าเป็นสามเณร ท่านเกรงว่าผลบาปจะตกแก่พระเหล่านั้นอย่างไม่รู้ตัว ท่านจึงหาที่อยู่ใหม่ แต่ถ้าจะให้กลับไปเดินธุดงค์ สังขารของท่านก็ล่วงเลยมาไกลมากแล้ว

วันหนึ่งมีชายหนุ่ม 2 คน ซึ่งทั้งสองคนเป็นคนบ้านท่าช้าง เดินทางมาที่วัดควนลัง คนพี่ชื่อ "นายทอง" คนน้องชื่อ "นายไข่" ได้เห็นหลวงปู่ก็เกิดความเลื่อมใส ทั้งสองชวนกันเข้าไปกราบหลวงปู่ ซักถามถึงความเป็นมาของท่าน ท่านได้ปรารภว่าอยากได้ที่อยู่ใหม่ และเป็นที่ปลีกวิเวก เพื่อเป็นที่พำนักสุดท้ายของท่าน ทั้งสองคนจึงนึกถึงพื้นที่แถวบ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าทึบ เหมาะสำหรับการสร้างสำนักสงฆ์ อีกทั้งยังมีลำห้วยเล็กๆ ไหลผ่าน ทั้งสองจึงนิมนต์หลวงปู่ไปอยู่ในที่ของเขา หลวงปู่เฟื่องตอบตกลง

พี่น้องทั้งสองดีใจมาก รีบกลับไปบอกญาติๆ และเริ่มสร้างกุฏิให้หลวงปู่ทันที โดยแผ้วถางสถานที่ และปลูกกุฏิด้วยไม้ไผ่ หลังกุฏิหลวงปู่มีลำห้วยน้ำใสไหลผ่านตลอดปี ใกล้ลำห้วยเป็นป่าโปร่ง เดิมเป็นที่อยู่ของโขลงช้าง ชาวบ้านเชื่อกันว่าป่าโปร่งแห่งนี้มีเจ้าที่เจ้าป่าแรงมาก ไม่มีใครกล้าเข้าไปบริเวณนั้น เมื่อทั้งสองพี่น้องสร้างกุฏิให้หลวงพ่อเสร็จ จึงพากันเดินทางมาที่วัดควนลัง เพื่อนิมนต์หลวงพ่อไปยังสำนักใหม่ ช่วงปี พ.ศ.2495 (บ้างก็ว่าปี พ.ศ.2487) โดยสำนักสงฆ์แห่งใหม่มีชื่อภายหลังว่า "วัดคงคาเลียบ" ท่านพำนักอยู่ที่นี่ตลอดมา ชาวบ้านแถวนั้นเรียกท่านว่า "หลวงพ่อเณร" เนื่องจากพระและเณรวัดควนลังเรียกท่านว่า "สามเณรโค่ง"

"อาจารย์ ส.แสงตะวัน" โหรชื่อดัง ได้เริ่มเข้าไปสัมผัสหลวงปู่เฟื่องในปี 2495 ปีที่ท่านไปอยู่ ณ สำนักใหม่นี้ อาจารย์เล่าว่า "ผมออกจากบ้าน เพื่อไปดื่มกาแฟที่ร้านขาประจำใกล้บ้าน ได้พบปะเพื่อนฝูงหลายคน ซึ่งล้วนเป็นขาประจำของร้านนี้ มีครูบุญธรรมและครูลับ ครูทั้งสองได้นั่งสนทนากันอยู่ก่อนแล้ว ผมจึงเข้าไปร่วมวงด้วย เหลียวดูรอบๆรู้สึกมีผู้คนหนาตาเป็นพิเศษ ส่วนมากล้วนเป็นนักเสี่ยงหวยแทบทั้งนั้น ต่างก็คุยกันในเรื่องเลขเด็ดงวดต่อไปว่าจะออกอะไร ครูบุญธรรมและครูลับ เป็นข้าราชการบำนาญ เป็นเพื่อนคู่หูที่รักกันมาก ทั้งเป็นนักเลงหวยใต้ดินตัวฉกาจ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าสำนักทรงเจ้าเข้าผีที่ไหนให้หวยแม่น ต้นไม้ต้นไหนให้เลข หลวงพ่อวัดไหนให้เลขเด็ด ที่ท่านสองคนนี้จะไม่เข้าไปแวะเวียนเพื่อหาเลขสวยๆเพื่อหวังรวยทางลัด"                 

เช้าวันนั้นครูบุญธรรมเอ่ยขึ้นว่า เมื่อวานผมกับครูลับออกจากบ้านแต่เช้าไปหาหาลวงพ่อเณร ท่านอยู่ในป่าลึกห่างจากบ้านคนไปมาก ผมถามชาวบ้านไปตลอดทาง ทราบว่าท่านอยู่ในป่านั้นมากว่า 50 ปี ท่านคงแก่กล้าในวิชากรรมฐาน จนอาจบรรลุมรรคผลแล้วก็ได้ แต่ทางไปนี่นะคุณทุลักทุเลเหลือรับประทาน เพราะไม่มีถนนเข้าไป ต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนา บางช่วงก็เข้าป่า ไปถึงวัดเอา 10 โมงเช้า พบหลวงพ่อเณรนั่งถอนหญ้าอยู่หน้ากุฏิ ดูท่านยังหนุ่ม ผิวพรรณละเอียดผ่องใส ดูแล้วน่าเลื่อมใสมาก ไม่น่าจะเป็นสามเณร ผมสองคนก้มลงกราบท่านและถามท่านว่า “พระคุณเจ้ามาอยู่ที่นี่นานแล้วหรือ” ท่านตอบว่า “50 ปีแล้ว” และย้อนถามเราว่า “โยมมาทำไมกัน” เราก็อึกๆอักๆในที่สุดก็ตอบท่านไปว่า “ผมมาขอลาภครับ” ท่านทำหน้าสงสัยถามว่า “มาขอลาภยังไงฉันไม่เข้าใจ” ผมตอบว่า “ในตลาดหาดใหญ่เขานิยมซื้อหวยเบอร์กัน โดยซื้อเลขท้ายของรางวัลที่ 1 มีเจ้ามือรับซื้อครับ ถ้าใครซื้อถูกตรงๆ เจ้ามือจะจ่ายให้ 600 บาทต่อ 1 บาท ถ้าแทงไม่ถูกเจ้ามือจะกินหมด ที่ผมมาหาหลวงพ่อก็อยากได้เลขจากหลวงพ่อ คิดว่าหลวงพ่อคงรู้ว่าเลขท้ายรางวัลที่ 1 จะออกอะไร ถ้าหลวงพ่อมีญาณวิเศษโปรดเมตตาบอกกระผมให้ถูกหวยกับเขาสักงวดเถอะครับ ได้แก้ไขความเดือดร้อนกับเขาบ้าง” หลวงพ่อถามว่า “เขาซื้อกันตัวละเท่าไร” ครูลับรีบบอกว่า “ตัวละ 100 บาทก็มี 150 บาทก็มีครับ” หลวงพ่อนั่งถอนหญ้าไปพลางบ่นพึมพำว่า “คนหาดใหญ่ช่างร่ำรวยกันเหลือเกินนะ ซื้อหวยเบอร์กันตั้งเบอร์ 100-120” แล้วท่านก็ตอบว่า “เรื่องหวยเรื่องเบอร์นี่ฉันไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาหรอกนะ” ว่าแล้วก็ก้มหน้าถอนหญ้าต่อไป แต่ก็บ่นพึมพำว่า ซื้อกันได้ 100-120 บ่นซ้ำอยู่อย่างนั้น ผมเห็นไม่เป็นการเสียแล้ว จึงชวนกันลาท่านกลับด้วยความผิดหวัง

ครูบุญธรรมหันมาพูดกับอาจารย์ส.แสงตะวันว่า “แหม...คุณดูสิ เมื่อวานหวยออก 120 เราไม่ได้เอะใจเลยว่าท่านให้หวยเรา มันน่าเสียดายนัก ทีท่านบอกว่าอยู่มา 50 ปี แล้วเป็นเลข 2 ตัวล่าง ท่านคงรู้ว่าเราไปขอหวยจึงชิงบอกเสียก่อน พวกเราชวดทั้งล่างและบน” ครูบุญธรรมเล่าด้วยท่าทางที่ทั้งเสียดายและเสียใจ ผมนั่งฟังเขาเล่าก็อดตื่นเต้นไม่ได้ แต่ที่ทำให้ผมสนใจนั้นคือทำไมสามเณรรูปนี้ จึงมาอยู่ที่นี่เป็นเวลานานมาแล้ว คงมีอะไรดีๆอยู่เป็นแน่ ตั้งแต่วันนั้นผมก็หาโอกาสที่จะไปหาท่านให้ได้ จนอีกไม่กี่วันต่อมาผมก็ชวนพรรคพวกได้ เราใช้จักรยานคนละคัน ไปด้วยกัน 4 คน บางช่วงทางก็ถีบจักรยานไป บางช่วงก็ต้องจูงกันทุกลักทุเล สืบถามชาวบ้านเรื่อยไป จนที่สุดก็ถึงสำนักสงฆ์ของท่าน เรานั่งพักใต้ต้นไม้พอหายเหนื่อย จึงจูงจักรยานเข้าไปในสำนัก ได้ยินเสียงตะโกนออกมาจากกุฏิว่า “โหรมาแล้วโว้ยๆ” ถึง 2 ครั้ง มองเข้าไปในกุฏิเห็นประตูเปิดแง้มอยู่ เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ก็เห็นมีแต่พระรูปหนึ่งไม่เห็นมีใครอื่น เสียงตะโกนที่ได้ยินคงเป็นเสียงของหลวงพ่อแน่นอน                 

สภาพกุฏิที่หลวงพ่ออยู่ อยู่ในสภาพโย้เย้ จะพังมิพังแหล่ หลังคามุงด้วยใบจากซึ่งหาได้ริมห้วยนั่นเอง ด้านหลังกุฏิมีลำห้วยเล็กๆ มีน้ำใสสะอาดไหลผ่านกุฏิของท่านมีบันได 3 ขั้น ราวบันไดเป็นไม่ไผ่เจาะรูสำหรับสอดไม้ ทำเป็นขั้นบันไดสำหรับเหยียบขึ้นลง แต่ขั้นกลางหักไป ท่านใช้กิ่งมะม่วงแห้งขนาดเล็กพอๆกับหัวแม่มือสอดใส่ไว้ ถ้าใครเหยียบบันไดขั้นนี้เห็นทีต้องตีลังกาตกกุฏิเป็นแน่ เมื่อพวกเราขึ้นกุฏิของท่าน จึงไม่มีใครกล้าเหยียบบันไดขั้นกลาง เมื่อขึ้นไปก็เห็นหลวงพ่อนั่งตัดเล็บเฉยอยู่ ไม่ได้สนใจพวกเราเลย เมื่อท่านไม่คุยด้วยผมก็ได้แต่นั่งพิจารณาท่านไปในที ท่านมีผิวพรรณผุดผ่องสดใสละเอียดนวล ช่างกลมกลืนกับสีผ้าจีวรของท่านเสียนี่กระไร ผมคิดว่าท่านคงเปล่งรังสีให้เราดูกระมัง เพื่อให้เราพิจารณาดูเอาเองไม่ต้องบอกว่าท่านคือใคร ดูแล้วท่านมีอะไรที่ผิดกับพระรูปอื่นๆ ที่ผมเคยพบเห็นมาก่อน ผมแน่ใจว่าท่านต้องเป็นพระแน่นอน ไม่ใช่สามเณรอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจและเรียกขานกัน และต้องเป็นพระอริยเจ้าระดับใดระดับหนึ่งเป็นแน่ แล้วท่านมาหลบลี้อยู่ที่นี่เพื่ออะไร จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากพระสกิทาคามีหรือพระนาคามีที่แสวงหาโมกขธรรมในป่าในดงแต่เพียงผู้เดียว ผมยิ่งนึกก็ยิ่งมั่นใจ พวกเรานั่งอยู่นานท่านก็ไม่เอ่ยถามอะไรทั้งสิ้น พวกเราต่างก็นั่งเงียบ ไม่กล้าเอ่ยถามอะไรท่าน เมื่อได้เวลาอันสมควรผมก็พยักหน้าให้เพื่อเป็นสัญญาณว่ากลับกันได้แล้ว หลวงพ่อเงยหน้าขึ้นยิ้มให้แต่ไม่พูดว่ากระไร ก่อนที่พวกเราจะเหยียบลงบนขั้นบันได ท่านเอ่ยขึ้นว่า “เหยียบงบไปเถอะไม่ต้องกลัวมันหัก” ผมจึงตัดสินใจเหยียบบันไดกิ่งมะม่วงดู ปรากฏว่าไม่หักจริงๆ แม้เพื่อนๆที่ก้าวหลังก็ลองเหยียบดูทุกคนก็ไม่เห็นว่ามันหัก ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ครั้งแรกที่พวกเราได้สัมผัสจากท่านว่า ต้องเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านแน่นอน ระหว่างเดินทางกลับบ้านพวกเราต่างก็พูดคุยกันไปวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่านนั่นแหละ

นี่คือ 2 อภินิหารของ "หลวงปู่เฟื่อง" เมื่อท่านมาพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ ซึ่งต่อมาก็เป็น "วัดคงคาเลียบ" รอติดตามตอนที่ 3 ช่วงชีวิตสุดท้ายของหลวงปู่เฟื่อง

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง