หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | กำเนิด...เพลงเรือแหลมโพธิ์
26 เมษายน 2561 | 8,846

จังหวัดสงขลาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่สืบทอด "ประเพณีชักพระ" มาแต่ครั้งโบราณ มีทั้งชักพระทางบกและชักพระทางน้ำ ซึ่งจะเป็นการชักลากเรือบุษบกพระไปตามแม่น้ำลำคลอง บางครั้งก็ลากไปสู่ทะเล โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา การชักพระทางน้ำเป็นจุดกำเนิดของการเล่นเพลงเรือของภาคใต้ หนึ่งในนั้นคือ "เพลงเรือแหลมโพธิ์" จังหวัดสงขลา ประเพณีที่มีการสืบทอดมายาวนานกว่า 100 ปี

ศูนย์กลางของเพลงเรือแหลมโพธิ์อยู่ที่บริเวณ "แหลมโพธิ์" แหลมเล็กๆที่ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา มีเนื้อประมาณ 5 ไร่ โดยเพลงเรือแหลมโพธิ์เป็นเพลงที่พวกฝีพายเรือยาวร้องเล่นกันในเรือร่วมกับประเพณีชักพระ เพลงเรือแหลมโพธิ์มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งมั่นใจได้ว่าไม่มีที่ใดเหมือน ต่างกับเพลงเรือทางภาคกลางอย่างพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี

เพลงเรือแหลมโพธิ์จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่พื้นที่ เช่น ตำบลแม่ทอมจะเรียกว่า "เพลงเรือ" ตำบลคูเต่าเรียก "เพลงยาว" หรือ "เพลงเรือยาว" อำเภอบางกล่ำจะเรียกว่า "เพลงยาว" โดยคำว่า "เพลงยาว" ถือได้ว่าเป็นคำที่ใช้เรียกที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเป็นคำที่ตัดมาจากคำว่า "เพลงเรือยาว" เพราะแต่เดิมเรือที่ใช้ชักพระและเล่นเพลงนั้น มักจะเป็นเรือยาวแทบทั้งสิ้น “เรือยาวเป็นเรือสำหรับพวกผู้ชาย ส่วนเรือสำหรับพวกผู้หญิงนั้นเรียกเรือเพรียว” เรือเหล่านี้มักเป็นของวัด หนึ่งวัดจะมีเรือหลายลำ อย่างวัดอู่ตะเภาและวัดคูเต่ามีมากถึงวัดละ 7-8 ลำ แต่เมื่อมีการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้เรือก็น้อยลง ส่งผลให้เรือเหล่านี้ถูกขายไป

การแสดงประกอบเข้ากับเนื้อเพลงที่ภายหลังเรียกว่า แฟนซี 

"เพลงเรือแหลมโพธิ์" มีลักษณะเป็น กลอน 4 วรรคหนึ่งมี 4 คำ จังหวะ 2-2-2-2 ไม่จำกัดความยาว เพียงวรรคเดียวก็สามารถร้องเล่นได้ แต่ละเพลง มี คำรับ ที่เรียกว่า สร้อย กับมี คำส่ง ด้วย ผู้เล่นเพลงประกอบด้วย แม่เพลง 1 คน กับ ลูกคู่ ไม่จำกัดจำนวน แม่เพลงมีหน้าที่ขึ้นเพลงแต่ละวรรค ลูกคู่มีหน้าที่รับเพลงที่แม่เพลงร้องนำแบบวรรคต่อวรรค เพลงแต่ละวรรคร้องได้อย่างน้อย 3 เที่ยว จนกว่าจบเพลงหรือเลิกรากันไปเอง การเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่มีพิธีกรรมหรือใช้ในพิธีกรรมใด นอกจากร้องเพื่อความสนุกสนาน หยอกเย้า เสียดสี อันเป็นการสะท้อนภาพสังคม  เพลงเรือแหลมโพธิ์ไม่มีทำนอง ร้องเป็นภาษาพูดปกติที่มีจังหวะลื่นไหลลงตัว ไม่มีการไหว้ครูทั้งก่อนและหลังเล่น ไม่มีเครื่องดนตรีใด ๆ ประกอบ เล่นทั้งในเรือและบนบก เล่นบนบก ผู้เล่นจะแบกไม้พายเรือเสมือนเป็นสัญลักษณ์ แต่งตัวตามปกติหรือนัดแต่งเพื่อแสดงความเป็นหมู่พวกก็ได้ บางครั้งการเล่นเพลงอาจมีการแสดงประกอบเข้ากับเนื้อเพลงที่ภายหลังเรียกว่า แฟนซี  เพลงเรือแหลมโพธิ์เล่นจริงเฉพาะวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ร่วมกับการชักพระทางน้ำเท่านั้น

สำหรับจุดเริ่มต้นเพลงเรือแหลมโพธิ์นั้น มึีความเชื่อว่ามีมานานกว่า 200 ปี โดยมีประเพณีการชักพระทางน้ำเป็นต้นกำเนิด ซึ่งการชักพระทางน้ำเกิดขึ้นจาก ศรัธาของพุทธศาสนิกชนที่มีพื้นภูมิอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำ ไม่มีเส้นทางบกอื่นใด ที่จะอัญเชิญพระพุทธรูป ประดิษฐานบนรถหรือเลื่อนชักลากไปได้ จึงได้คิดหาวิธีใหม่อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนเรือชักลากไปแทน

ชุมชนที่เคยชักพระมายังแหลมโพธิ์เท่าที่เคยมีมาคือ บางโหนด หัวควาย ท่าแซ คลองแห  บ้านหาร บางนำ บางกล่ำ คูเต่า แม่ทอม ท่านางหอม ท่าเมรุ บางทิง บางหยี โคกขี้เหล็ก ควนโส ปากรอ ปากจ่า บางเหรียง ปากบางภูมี ทำนบ สทิงหม้อ เกาะยอ ซึ่งพออนุมานได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง