หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | จุดกำเนิด "เกาะยอ" ชุมชนประวัติศาสตร์
24 เมษายน 2561 | 17,404

หากพูดถึงความเก่าแก่ของเมืองสงขลาที่ว่ากันว่ามีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 1,000 ปี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณมากมาย หนึ่งในนั้นคือ "ชุมชนเกาะยอ" ชุมชนที่มีความสำคัญต่อเมืองสงขลาและสยาม จากหลักฐานที่มีการเล่าสืบทอดต่อกันมา เชื่อว่า "เกาะยอ" ในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์มีสภาพเป็นป่าเขา ไม่มีผู้คนอาศัย หลักฐานปรากฏการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกาะยอ เริ่มขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลายและอยุธยา (พ.ศ.2148-2163) เมื่อสมเด็จพระราชมุณี (สมเด็จเจ้าเกาะยอ) ได้เดินทางธุดงค์มายังเกาะยอ ซึ่งว่ากันว่าครั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางมา เกาะแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่แล้วประมาณ 500 คน (เมืองสงขลายังตั้งอยู่ที่เขาแดง)

"เกาะยอ" มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลา ว่ากันว่าผู้คนเริ่มอพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ เกาะยอ ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยา "ชาวบ้านน้ำน้อย" คือกลุ่มคนที่สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มแรกที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน เพราะมองเห็นว่าเกาะยอมีความอุดมสมบูรณ์ แรกเริ่มเดิมที่ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่ที่ 5 และ 6 ซึ่งมีสภาพเหมาะแก่การทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัวและควาย ต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเกาะ เนื่องจากพบว่าบริเวณดังกล่าวมีสัตว์น้ำชุกชุมอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพประมง ชาวบ้านเกาะยอจึงเริ่มทำอาชีพประมงควบคู่ปศุสัตว์ ต่อมาชุมชนค่อยๆ ขยับขยายไปทางตะวันออก ชาวบ้านจึงเริ่มทำนาและทำสวนผลไม้ และชุมชนค่อยๆ ขยายไปทั่วเกาะ ผู้คนบนบกก็เริ่มอพยพเข้ามายังเกาะยอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"เกาะยอ" ยังเป็นเกาะที่มีนักเดินทางและพ่อค้าจากประเทศจีน ใช้เป็นที่หลบลมฝนในช่วงมรสุม บางคนเห็นถึงความสมบูรณ์ของเกาะ จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะแบบถาวร ชุมชนเกาะยอจึงกลายเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สาเหตุที่เรียกว่า "เกาะยอ" เนื่องจากบริเวณเกาะนี้มีก้อนหิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกยอเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแต่เดิมเกาะยอมีต้นยอเยอะมาก นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ "เกาะยอ" ที่ถูกเรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน

"เกาะยอ" มีจำนวน 9 หมู่บ้าน ได้แก่

หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ที่มาเนื่องจากในอดีตมีพื้นที่เป็นอ่าวทราย มีหาดทรายขาวจึงเรียกกันว่า บ้านอ่าวทราย
หมู่ที่ 2 บ้านตีน เนื่องจากหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะ ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า “ทิศตีน” ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “บ้านตีน”
หมูที่ 3 บ้านนอก ในอดีตมีชาวบ้านอาศัยอยู่น้อยซึ่งอยู่นอกชุมชนออกไป จึงเรียกกันว่า “บ้านนอก”
หมู่ที่ 4 บ้านสวนเรียน เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก ภาษาถิ่นใต้เรียกทุเรียนว่า “เรียน” จึงเป็นที่มาว่า “บ้านสวนเรียน”
หมู่ที่ 5 บ้านท่าไทร ในอดีตหมู่บ้านนี้มีต้นไทรอยู่ริมท่าน้ำ จึงเรียกกันว่า บ้านท่าไทร
หมู่ที่ 6 บ้านในบ้าน เป็นชุมชนใหญ่มีผู้คนอาศัยมากกว่าหมู่บ้านอื่น จึงเป็นศูนย์กลาง ของชุมชน เรียกว่า “ในบ้าน”
หมู่ที่ 7 บ้านป่าโหนด ในอดีตบริเวณหมู่บ้านมีต้นตาลโตนดจำนวนมาก ซึ่งในภาษาถิ่นใต้เรียกว่า “ต้นโหนด”
หมู่ที่ 8 บ้านท้ายเสาะ หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บริเวณท้ายเกาะ ชาวบ้านเรียกกันเรื่อยมาและเพี้ยนเป็น “บ้านท้ายเสาะ”
หมู่ที่ 9 บ้านสวนใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านไปปรับปรุงที่ดินทำสวนขึ้นมาใหม่ จึงเรียกกันว่า “บ้านสวนใหม่”

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง