หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | "วัดคูเต่า" วัดประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ณ บางกล่ำ
10 เมษายน 2561 | 23,396

โบราณสถานและโบราณวัตถุในปัจจุบัน ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและนักเรียนนักศึกษา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมีผลมาจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณกรุงเก่า หรือที่เรารู้จักกันนามว่า "กรุงศรีอยุธยา" ช่วงที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากคนทั้งชาติเป็นอันมาก พื้นที่กรุงเก่าคราคลั่งไปด้วยนักท่องเที่ยว และบรรดานางแบบชุดไทย "จังหวัดสงขลา" เมืองท่าบ้านเรา ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ อันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน โดยมีการคาดการณ์ว่า "เมืองสงขลา (เขาแดง)" อาจมีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยซ้ำ ทำให้เมืองแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น "เมืองเก่า" อีกแห่งหนึ่งของสยามประเทศ เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราว โบราณสถาน และวัดวาอาราม อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วันนี้หาดใหญ่โฟกัส จะพาไปรู้จักสถานที่เก่าแก่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหาดใหญ่ ใช้เวลาเดินทางเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น วัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดคูเต่า"

ซุ้มประตูโบราณ ศิลปะจีนผสมผสาน คล้ายๆ บ่อเก๋ง สงขลาฝั่งแหลมสน

ศาลาโบราณอายุหลายร้อยปี ได้รับรางวัลเมื่อปี ค.ศ.2011

ณ วัดคูเต่า ถือได้ว่าเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ที่ยังคงอนุรักษ์ความเก่าแก่ของโบราณสถานไว้หลายจุดด้วยกัน โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีอายุหลายร้อยปี ด้วยเหตุอันนี้ทำให้ "ศาลา 100 ปี วัดคูเต่า" จึงได้รับ "รางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011" จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จากการที่ได้รับรางวัลในครั้งนั้น ทำให้วัดคูเต่าเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

 หางหงส์รูปหัวพญานาค ศาลาหลังที่ 2

 หางหงส์ปูนปั้นรูปเทวดา

วัดคูเต่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองอู่ตะเภา อำเภอบางกล่ำ เป็นวัดที่เก่าแก่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยวัดคูเต่าถูกสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2299 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310) ประมาณ 11 ปี แต่เดิมวัดคูเต่าตั้งอยู่ที่บ้านคลองหิน จากคำบอกเล่าที่ถ่ายทอดกันมา เล่าเอาไว้ว่า แต่เดิมวัดคูเต่านั้นมีชื่อว่า "วัดสระเต่า" เนื่องจากมีเต่าอาศัยอยู่ในสระน้ำวัดเป็นจำนวนมาก แรกเริ่มวัดสระเต่าตั้งอยู่ตรงข้ามป่าช้าหนองหิน แต่ที่ตั้งของวัดสระเต่าเป็นที่ราบลุ่ม เมื่อเกิดน้ำหลาก มวลน้ำก็จะไหลเข้าท่วมวัด สร้างความเดือดร้อนให้พระสงฆ์และชาวบ้าน ต่อมามีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำไร่สวนส้มเป็นจำนวนมาก จึงต้องการไม้เพื่อใช้ในการค้ำยันต้นส้ม เนื่องจากน้ำดินบริเวณนี้ค่อนข้างดี ส่งผลต่อผลผลิตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงต้องออกไปหาไม้เสม็ดบริเวณทุ่งเกาะไหล ซึ่งการเดินทางค่อนข้างยากลำบาก มีเรื่องเล่าว่า เคยมี "เสือสมิง" ทำร้ายสามเณรจนมรณภาพ จากปัญหาต่างๆที่ได้กล่าวมา ชาวบ้านจึงร่วมมือร่วมใจขุดคูบริเวณทิศเหนือของวัด ทอดยาวไปยังสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบัน เพื่อใช้ในการสัญจรคมนาคม ส่งผลให้เต่าที่อยู่ในสระ ก็ย้ายลงไปอยู่ในคูใหม่ และเมื่อมีการสร้างวัดขึ้นใหม่จึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดคูเต่า"

จิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า เป็นอีกหนึ่งที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก เป็นการแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมและประเพณี รวมไปถึงวิถีชีวิต ในยุคนั้นๆ ผ่านจิตรกรผู้เขียนภาพ ลักษณะงานจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยพื้นบ้าน  โดยช่างท้องถิ่น เขียนด้วยสีฝุ่น เป็นภาพ 2มิติ  มีความเป็นอิสระทั้งในด้านการวางองค์ประกอบภาพและเรื่องราว ตลอดจนการใช้เส้น สี เรื่องราวที่ปรากฏบนผนัง เขียนเรื่องทศชาติชาดก ตอนพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นนามของพระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย

 จิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า เล่าถึงวิถีชีวิตคนสงขลา รวมถึงนิทานท้องถิ่นในยุคนั้นๆ

คลองคูเต่า ในอดีตย่านคลองคูเต่า เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของสงขลา คือ ส้มตรังกานู และ ส้มโอคูเต่า โดยมีชาวจีนเข้าไปจับจองพื้นที่ทำสวนส้ม ผลผลิตส่งขายยังเมืองต่างๆ และเมืองไทรบุรี

 

วัดคูเต่าเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปีพ.ศ.2299 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2433 ในปีพ.ศ.2445 ได้เริ่มก่อสร้างอุโบสถขึ้น ตามหลักฐานจารึกไว้บนผนังอุโบสถว่า ”ท่านหนู (เจ้าอาวาส) พร้อมด้วยสัปบุรุษ อุบาสิกาได้ยกวิหารนี้ขึ้นไว้ให้พระศาสนา” โครงสร้างอาคารอุโบสถก่ออิฐถือปูนและไม้ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนขาว ยอดเป็นจัตุรมุข แกะลายกนกและซุ้มสีมาลายกนก หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และพรหมทรงหงส์ มีลายกนกและรูปสัตว์ประกอบ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2446

 อุโบสถสีขาวนวล สวยงามด้วยศิลปะผสมผสาน น่าชมยยิ่งนัก

 ประตูสีแดง ที่จับประตูเป็นแบบศาลและพระราชวังของประเทศจีน

 ศิลปะปะผสมผสาน ไทย-จีน เห็นได้ชัดเจน

ในส่วนของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่าสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือระหว่างปีพ.ศ. 2447- 2467 ตามหลักฐานอ้างถึงว่า งานจิตรกรรมถูกเขียนขึ้นในสมัยพระอุปัชฌาย์หนู(พ.ศ.2395 – 2467) เจ้าอาวาสรูปที่ 2  หากไม่ปรากฏชื่อจิตรกรผู้สร้างงานจิตรกรรมปรากฏแต่ชื่อผู้สร้างพระประธานในอุโบสถ คือช่างหมู ซึ่งพระอุปัชฌาย์หนูเป็นผู้ว่าจ้าง

จารึกวัดคูเต่า

องค์พระประทานวัดคูเต่า

สิ้นสุดทริปเที่ยววัดมรดกโลกสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่าง "วัดคูเต่า" วัดที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่เมื่อครั้งอดีต การมองประวัติศาสตร์ผ่านภาพวาดจิตรกรรม ช่างงดงามเหนือคณานับ แฝงไปด้วยตัวละครในโบราณคดีที่เรารู้จัก สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติของคลองคูเต่าในตำนาน ทั้งหลายทั้งมวลที่ได้กล่าวมา เปรียบได้กับความภาคภูมิใจของผู้คนชาวคูเต่าและบางกล่ำ ที่ยังคงอนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้ เพื่อลูกหลานได้ศึกษาสืบไป

ขอบคุณอ้างอิงข้อมูล: อาจารย์อเนก นาวิกมูล / คุณคุณาพร  ไชยโรจน์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง