หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

7 เมษายน | หาดใหญ่โฟกัส เล่าวินาทีล่มสลาย "อาณาจักรอโยธยา"
7 เมษายน 2561 | 16,213

ช่วงนี้กระแสละคร "บุพเพสินนิวาส" กำลังมาแรงในประเทศไทย ทำให้ผู้คนหันกลับมามองย้อนประวัติศาสตร์สยามมากยิ่งขึ้น โดยวันนี้ 7 เมษายน 2561 เป็นวันครบรอบ 251 ปี "การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2" นับว่าเป็นการล่มสลายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ไปตลอดกาล เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310

ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์ที่ 16 แห่งกรุงศรีอยุธยา พม่าก็เริ่มอ่อนกำลังลง เมื่อ "บุเรงนอง" ผู้ชนะสิบทิศสวรรคตไป เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีปัญหารบราฆ่าฟันกันภายใน พม่าแตกแยกเป็นก๊กๆ การรบระหว่างอยุธยากับพม่าครั้งสุดท้ายคือในสมัย "สมเด็จพระนเรศวร" ก่อนจะห่างหายกันไประยะใหญ่ (เกือบ 100 ปี) หลังจากพม่าเสื่อมอำนาจ พวกมอญขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือพม่า ทำให้พม่าสิ้นแผ่นดินแตกแยกไปชั่วระยะหนึ่ง ต่อมาเกิดผู้นำคนใหม่ขึ้นมา ว่ากันว่าชายผู้นี้ไม่ได้สืบเชื้อสายราชวงศ์พม่าเลย ชายคนนี้เป็นเพียงพรานป่าเท่านั้นเอง เป็นผู้นำหมู่บ้านมุกโชโบ (ชเวโบ) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ชายผู้นี้มีนามว่า "พระเจ้าอลองพญา" มีความหมายว่า "พระโพธิสัตว์" พระองค์รบชนะเหนือมอญ ทำให้พระองค์มีกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พระองค์สร้างเมือง "ย่างกุ้ง" หรือ "ยานโกง" หมายถึง "อวสานสงคราม"

รูปปั้น พระเจ้าอลองพญา ณ เมืองชเวโบ (พม่า)

"พระเจ้าอลองพญา" ตั้งราชวงศ์ใหม่มีชื่อว่า "ราชวงศ์คองบอง" พระองค์รวบรวมแผ่นดินพม่าขึ้นมาใหม่ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองชเวโบ พระองค์มีนโยบายที่เด็ดขาดกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามให้สูญสิ้น กวาดล้างพวกมอญ กบฏ และพี่น้องที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ถือว่าเป็นผู้ที่มีความโหดเหี้ยม มอญจึงหนีมาพึ่งร่มเงาชองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ไม่พอใจที่ทางกรุงศรีอยุธยาให้ความช่วยเหลือมอญ อีกทั้งไม่พอใจที่อยุธยาคุมเมืองมะริด เมืองท่าสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจเมืองย่างกุ้ง เมืองท่ามะริดได้จับเอาเรือสินค้าของพม่ามาไว้กับตน 2 เหตุการณ์คือสิ่งที่เป็นต้นตอของการรบกับกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นคนแรกที่มาตีกรุงศรีอยูธยาในช่วงหลัง พ.ศ.2303 พระองค์เริ่มต้นตีอาณาจักรอยุธยาจากเมืองมะริด ด่านสิงขร ขึ้นมาสู่กรุงศรีอยุธยา อันเป็นการเปิดเส้นทางการรบใหม่ (ไม่เคยมีกษัตริย์พม่าใช้เส้นทางดังกล่าว) แต่พระองค์ตีอยุธยาไม่สำเร็จ เนื่องจากสวรรคตระหว่างทำศึกสงคราม ต่อมา "พระเจ้ามังระ" บุตรของพระเจ้าอลองพญาขึ้นครองราชย์ ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

"เมืองมะริด" เมืองท่าน้ำสำคัญของอยุธยา ปัจจุบันเป็นส่วนหนึงของพม่า

ทำไมกรุงศรีอยุยาถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เหตุผลแรก คือ คนไทยแย่งชิงอำนาจกันภายในมากมาย มีการปราบกบฏกันหลายช่วง ทั้งขุนนางและเชื้อพระวงศ์กันเอง เหตุผลที่ 2 คือ กรุงศรีอยุธยาห่างหายจากศึกสงครามครั้งใหญ่ มาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี (ครั้งสุดท้ายคือสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) เหตุผลที่ 3 พม่ามีการวางแผนมานานเป็นแรมปี กวาดล้างหัวเมืองของอยุธยาจนหมดสิ้น สังเกตว่าไม่มีใครมาช่วยอยุธยาเลย เหตุผลที่ 4 การผสมกองทัพทุกทิศทางของพม่า

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2307 (ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาเกือบ 3 ปี) กองทัพของ "เนเมียวสีหบดี" ยกทัพมากวาดกบฏทางเหนือ (เชียงใหม่) จำนวน 20,000 นาย โดยตีเมืองล้านนา ล้านช้าง และหลวงพระบาง กองทัพดังกล่าวกวาดล้างอาณาจักรต่างๆ จนหมดสิ้น ทุกครั้งที่ตีชนะเมืองไหน จะกวาดล้างผู้คนมาเป็นทหารในกองทัพ กองทัพเนเมียวสีหบดีจึงมีขนาดใหญ่มากขึ้น (เห็นว่าพม่าไม่ได้มีจุดประสงค์มาตีอยุธยาในคราวเดียว) และมุ่งตรงสู่กรุงศรีอยุธยา

ต่อมา พ.ศ.2308 "พระเจ้ามังระ" มองเห็นว่าอยุธยาไม่เคยพ่ายแพ้อย่างราบคาบมาก่อน จึงคิดว่ากองทัพของเนเมียวสีหบดีคงไม่พอ จึงสั่งให้กองทัพของ "มังมหานรธา" ยกมาทางด่านสิงขร ตีขึ้นมาราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี และยกทัพสู่กรุงศรีอยุธยา นั่นเท่ากับว่า กรุงศรีอยุธยาถูกล้อมทุกทิศทาง หัวเมืองของอยุธยาถูกกวาดล้าง ไม่สามารถมาช่วยอยุธยาได้เลย บางเมืองก็จำเป็นต้องสวามิภักดิ์กับพม่า

เส้นทางเดินทัพของเนเมียวสีหบดี (แดง) และกองทัพมังมหานรธา (น้ำเงิน)

พ.ศ.2309 กองทัพมังมหานรธายกทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยาก่อนเนเมียวสีหบดี เริ่มตั้งค่ายน้อยใหญ่เพื่อรอกองทัพเนเมียวสีหบดีจากทางเหนือ ในที่สุดกองทัพทั้งสองก็ล้อมกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2309 แต่มังมหานรธาเสียชีวิตก่อนยึดกรุงศรีอยุธยา กระนั้นท่านก็วางแผนขุดอุโมงค์ เผากำแพงเมือง และก่อพูนดินให้สูงกว่ากำแพงอยุธยาเพื่อตั้งปืนใหญ่ แต่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาก็มีการตั้งค่ายเอาไว้รอบกรุง เพื่อไม่ให้พม่าก่อพูนดินได้ เสบียงในเมืองอยุธยาก็ถูกเตรียมไว้อย่างดีจนถึงช่วงน้ำหลาก กรุงศรีอยุธยาคิดว่าเมื่อน้ำหลากพม่าจะถอยทัพกลับไปเอง แต่ยุทธศาสตร์ของพม่าในครั้งนี้คือ "แม้ว่าน้ำหลากก็จะล้อม" อันเป็นยุทศาสตร์ครั้งแรกของพม่าโดยมังมหานรธา ช่วงน้ำหลากพม่าใช้วัดรอบกรุงเป็นที่พัก ส่วนหนึ่งก็ไปอาศัยอยู่บนแพ ปิดทุกเส้นทางหนีของอยุธยาหมดสิ้น ในพงศาวดารพม่าเล่าว่า ช่วงน้ำหลากมีข้าวโผล่ขึ้นเหนือน้ำรอบอยุธยา เนื่องจากข้าวที่ชาวอยุธยาปลูกใช้วิธีหว่าน ทำให้พม่ามีเสบียงตลอดการรบในครั้งนี้

พ.ศ.2310 หลักฐานพม่าเขียนว่า เมื่อน้ำลดกรุงศรีอยุธยาส่งฑูตออกมาเพื่อสงบศึก แต่ฝ่ายพม่าไม่ยอม และเป็นช่วงเดียวกับที่มังมหานรธาเสียชีวิต พระเจ้ามังระสั่งการลงมาให้เนเมียวสีหบดีเผด็จศึกโดยพลัน เนื่องจากพม่าเริ่มมีศึกกับจีนแล้ว เนเมียวจึงเริ่มปล้นค่ายอยุธยาทีละค่าย ตั้งปืนใหญ่กระหน่ำยิงใส่อยุธยาเอง ฝ่ายอยุธยาเกิดภาวะอดอยากจึงอ่อนกำลังลง เกิดการปล้นกันเองของผู้คนในเมือง พม่าก็เริ่มขุดอุโมงใต้กำแพงกรุงศรีอยุธยา

ช่วงเวลาตี 4 กว่าของวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 พม่าเผารากกำแพงกรุงศรีอยุธยาพังทลายลงมาได้ พม่าเข้าทางตะวันออกเฉียงเหนือของอยุธยา (ทำนบหัวรอ) พอพม่าเข้ามาได้ก็เริ่มเปิดประตูเมืองให้กองทัพเข้ามาได้ เมื่อพม่าเข้าเมืองได้ก็เริ่มเผาเมืองปล้นกรุง โดยต้องกระทำการอย่างเร็ว เพราะมีศึกใหญ่กับประเทศจีนอยู่ (อะแซวุนกี้เป็นแม่ทัพ) คนที่อยู่ในพระนครศรีอยุธยาขณะนั้นมีประมาณ 2 แสนคน ตายเยอะมากเนื่องจากความอดอยากและโรคระบาด (ตายเพราะพม่าไม่มากนัก) สิ้นสุดอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ นามว่า "กรุงศรีอโยธยาศรีรามเทพนคร" หรือ "กรุงศรีอยุธยา" หลักฐานพม่าเล่าว่า พระเจ้าเอกทัศหนีออกจากเมืองทางทิศตะวันตก แต่ความวุ่นวายก็ถูกปืนจนสวรรคต แต่ในหลักฐานไทย เล่าว่า พระองค์หนีไปอดอยู่ในวัด พม่าจึงไปจับตัวมา

โค้งแม่น้ำหน้าวังจันทรเกษมถึงหัวรอ อยุธยา บริเวณที่เคยมีทำนบรอ (ภาพเก่า)

มีคนชอบพูดว่าคนไทยแตกความสามัคคีจึงทำให้กรุงศรีแตกเป็นครั้งที่ 2 อันที่จริงการที่พม่ายกทัพมาล้อมเมืองถึง 1 ปี 2 เดือน ถ้าเราไม่เข้มแข็งจริง เราตั้งรับไม่ได้นานขนาดนั้นเป็นแน่ แต่การที่เราเสียกรุงศรีอยุธยาที่แท้จริง น่าจะมาจากการที่พม่าเปลี่ยนยุทธวิถีและยุทธศาสตร์ คืิอ พม่าไม่ถอยช่วงน้ำหลาก แล้วทางอยุธยามีคนอยู่ในเมืองเยอะ เสบียงก็ต้องใช้เยอะ แต่เสบียงมีพอถึงช่วงน้ำหลากเท่านั้น แต่รอบนี้พม่าไม่ถอย คนในอยุธยาจึงอดอยาก กำลังทางทหารก็ถดถอย จึงเป็นเหตุผลที่จะมีมูลมากกว่า

เขียน: แอดมินไข่นุ้ย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง