หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ตำนานสงขลา | 11 เรื่องเล่า...เมืองสิงหนคร
17 มีนาคม 2561 | 30,400

สถานที่ทุกที่ย่อมมีตำนานและเรื่องเล่า โดยถูกเล่าขานสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนเกิดเป็นความเชื่อหลอมรวมไปในวิถีชีวิต เช่นเดียวกันกับการตั้งชื่อหมู่บ้านหรือตำบลในท้องที่ต่างๆ ของประเทศไทย ชื่อเหล่านั้นมักจะมีตำนานและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ วันนี้ หาดใหญ่โฟกัส จะรวบรวมเรื่องราว และประวัติความเป็นมาของชื่อตำบลในอำเภอสิงหนคร ซึ่งมีถึง 11 เรื่องเล่า จากชุมชน 11 ตำบล

1. ตำบลหัวเขา เป็นที่ตั้งกลุ่มบ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบสูงเลียบทะเลสาบสงขลา ราษฎรสร้างบ้านเรือนบนเนินเขา สถานที่ชาวบ้านเรียกว่า "หน้าเขา" สมัยก่อนเรียกสถานที่นี้ว่า "เมืองสิงขร" เป็นเมืองเก่าแก่ และภูเขาบริเวณนี้ เมื่อมองระยะห่างจากที่อื่น จะเห็นดินสีแดงอย่างชัดเจน ทุกคนจะเรียกภูเขาบริเวณนี้ว่า "หัวเขาแดง" และในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ "ตำบลหัวเขา"

2. ตำบลชิงโค เดิมมีเรื่องเล่ากันว่า มีพ่อค้าเดินทางไปซื้อวัวจากอำเภอสทิงพระ เมื่อเดินทางกลับเพื่อนำวัวไปขายที่จังหวัดสงขลา และต้องมาพักค้างแรมบริเวณต้นไม้ใหญ่ บริเวณนั้นมักจะมาถูกโจรขโมยโคอยู่บ่อยครั้ง พ่อค้าที่เดินทางผ่านจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า "ที่ชิงโค" เมื่อจัดตั้งตำบลจึงเรียกว่า "ตำบลชิงโค" มาจนถึงปัจจุบัน

3. ตำบลสทิงหม้อ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา มีตำนานเล่าว่า ราษฎรในหมู่บ้านมีอาชีพปั้นดินแล้วนำมาเผา ซึ่งสิ่งที่ปั้นทั้งหมดนั้น จะเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน เมื่อปั้นและเผาเสร็จ จะนำพาชนะเหล่านั้นบรรทุกเรือ นำไปเร่ขายในหมู่บ้านใกล้เคียง คนในหมู่บ้านนี้มีความภาคภูมิใจในฝีมือการปั้นมาก ว่ามี "สทิง" ซึ่งแปลว่า สวยงาม จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "สทิงหม้อ"

4. ตำบลทำนบ มีชาวบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่า ในสมัยก่อนนั้น พื้นที่ดังกล่าวมีลำน้ำและสระน้ำเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านได้ช่วยกันทำขันกั้นน้ำแต่ละสาย ต่อมาชาวบ้านเลยตั้งชื่อเรียกว่า "ทำนบ" และชาวบ้านได้ตั้งชื่อว่า "ตำบลทำนบ"

5. ตำบลวัดขนุน สมัยก่อนประชาชนในละแวกนี้นิยมปลูก "ต้นขนุน" กันมาก เนื่องจากต้นขนุนเป็นต้นไม้เศรษฐกิจที่มีผู้คนนิยมรับประทานกันมาก และต้นขนุนส่วนที่เป็นแกนประชาชนนำมาทำเป็นคันไถ ลูกแอก ด้ามมีดพร้า ต่อมาประชาชนคิดจัดตั้งวัดขึ้น เพื่อใช้กล่อมเกลากิเลสของมนุษย์ เพราะวัดเป็นของคู่บ้านคู่เมือง เมื่อประชาชนสร้างวัดขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าจะใช้ชื่ออะไรดี แต่เห็นว่าตำบลนี้มีขนุน เลยตั้งชื่อว่า "ตำบลขนุน" มาจนถึงปัจจุบัน

6. ตำบลชะแล้ ความเป็นมาของชุมชนตำบลชะแล้ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนมากนัก แต่จากการสืบค้นเล่าต่อกันมาว่า มีอิสลามกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่แถวริมคลอง บริเวณในส่วนที่ติดกับทะเลสาบสงขลา กลุ่มอิสลามนี้มีหัวหน้าชื่อ "บังสะแล" ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในกลุ่ม ทุกคนมีอาชีพในการประมง หาปลา สัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา เพื่อเป็นอาหารและแลกเปลี่ยนซื้อขาย ทุกตอนเย็นหลังจากการทำงานประกอบอาชีพแล้ว จะนำเรือกลับเข้ามาจอดรวมกันที่ท่าเรือหน้าบ้านของบังสะแลเป็นประจำทุกวัน ครั้นต่อมามีคนนับถือศาสนาพุทธเข้ามาอาศัยมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการรบกวนวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความเชื่อของอิสลาม จึงอพยพล่าถอยจากพื้นที่แห่งนี้ ไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อกลุ่มคนมุสลิมอพยพล่าถอยจากพื้นที่แล้ว การสัญจรโดยชาวไทยพุทธยังคงใช้ทางเรือ และใช้ท่าเทียบเรือของบังสะแลเดิมอยู่ นานวันเข้าการเรียกชื่อท่าเทียบเรือได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้าน และผิดเพี้ยนเป็น "บ้านชะแล้" จนถึงปัจจุบัน

7. ตำบลปากรอ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอสิงหนคร อยู่ริมฝั่งทะเลสาบสงขลาช่วงรอยต่อระหว่าง จังหวัดสงขลา กับ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นช่องทะเลส่วนที่แคบ เป็นคลองเชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบสงขลาตอนล่างกับทะเลหลวง เดิมการคมนาคมการติดต่อของชุมชนจะอยู่ภายในเขตหมู่บ้าน การเดินทางจะใช้เรือพายหรือเรือแจวมาตามลำคลองเล็กภายในหมู่บ้าน เพื่อมาออกสู่ทะเลสาบสงขลา หรือ มารอเรือโดยสารที่บริเวณบ้านแหลมจาก หมู่ที่ 6 บ้านบางไหน หมู่ที่ 3 และบ้านใต้ หมู่ที่ 4 บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า "ตำบลปากรอ" มาจนถึงปัจจุบัน

8. ตำบลป่าขาด แต่เดิมตำบลนี้ขึ้นอยู่กับ "ตำบลปากรอ" เล่ากันว่าชาวบ้านได้เดินทางไปเที่ยวตามแนวป่า เมื่อเดินทางมาสุดแนวป่า ก็พบพื้นดินที่ไม่มีป่าไม้ เลยก็คิดว่าพื้นที่นี้น่าจะขาดจากกัน จึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ป่าขาด"

9. ตำบลบางเขียด เชื่อกันว่าในทะเลสาบสงขลาบริเวณปากบาง มีกบทอง 2 ตัว อาศัยอยู่ในอ่างริมทะเลสาบบริเวณ หมู่ที่ 2 ตำบลบางเขียด ต่อมามีพ่อค้าจากต่างถิ่นได้นำกบสองตัวนี้ไปจำหน่าย ปัจจุบันคงเหลือแต่อ่างที่อาศัยของกบดังกล่าว ซึ่งอยู่ในทะเลสาบห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านโดยทั่วไปจึงเรียกตำบลนี้ว่า "ตำบลบางเขียด" ส่วนประชากรเดิมอาศัยอยู่ริมทะเลสาบ หมู่ที่ 2 ซึ่งมีชุมชนตั้งอยู่หนาแน่น มีวัด ตลาดนัด สถานีตำรวจ ต่อมามีน้ำท่วม และน้ำกัดเซาะชายฝั่งริมทะเลสาบราษฎรจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน

10. ตำบลม่วงงาม หลายคนคิดว่าตำบลนี้ต้องปลูกมะม่วงงามๆเป็นแน่ แต่แท้จริงแล้วเรื่องก็มีอยู่ว่า แต่เดิมมี "ต้นมะม่วงใหญ่มีลักษณะเป็นง่าม" ชาวบ้านเรียกกันว่ามะม่วงง่าม แต่เนื่องจากการสื่อสารเกิดการฟังผิดพลาดเมื่อนานเข้าก็เรียกเพื้ยนเป็น "มะม่วงงาม" จนถึงปัจจุบัน

11. ตำบลรำแดง พื้นที่ที่มีนามากมาย บ้านทุกบ้านมีอาชีพทำนา ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ชื่อ "รำแดง" น่าจะมาจากการที่ทุกๆ บ้านสีข้าว จนรำที่ร่วงลงสู่พื้น ทำให้รอบๆบ้านกลายเป็นสีแดง เมื่อใครผ่านมายังชุมชนแห่งนี้ จะแลเห็นสีแดงของรำข้าวกระจายอยู่ทุกๆ บ้าน จนเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ โดยสอดคล้องกับนักวิชาการเกี่ยวกับข้าวท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ที่ตำบลรำแดงปลูกข้าวพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ชื่อว่า "ข้าวปากนก" ข้าวชนิดนี้เมื่อสีจะให้รำข้าวที่เป็นสีแดงจัด

ขอขอบคุณ: อำเภอสิงหนคร / คุณภิรมณ์ ศรีเมือง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง