หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

นางเลือดขาว | นักบุญแห่งทะเลสาบสงขลา
17 กุมภาพันธ์ 2561 | 20,336

"พระนางเลือดขาว" ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ คาดว่าน่าจะเป็นคนละตำนานกับ "พระนางเลือดขาว มัสสุหรีแห่งลังกาวี" และ "พระนางเลือดขาว เจ้าอยู่หัว" โดยหลายๆ คน ยังมีความเชื่อว่าตำนานทั้งสามเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมีนักเขียนท่านหนึ่งได้ออกมาแยกความแตกต่าง ระหว่าง "พระนางเลือดขาว พัทลุง" "พระนางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัว" และ "พระนางเลือดขาว มัสสุหรี" เอาไว้ดังนี้

ผู้เขียนขอเล่าตำนานที่เกิดขึ้นบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา "ตำนานนางเลือดขาว" ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตำนานดังกล่าวได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาคใต้จรดแหลมมลายู แต่ละพื้นที่ก็เล่าเหมือนบ้างแตกต่างบ้าง โดยในภาคใต้ มีทั้งจังหวัดพัทลุง สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง เล่าต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นตำนานประจำท้องถิ่นไปแล้ว ตำนานนางเลือดขาวที่แพร่หลายในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้นั้น  มีปรากฏที่มาจากสองทางด้วยกัน คือ

1. ตำนานนางเลือดขาวตามที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง

"ตำนานนางเลือดขาว" ตามที่ได้ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2460 - 2461 นั้นสรุปความได้ว่า เมืองพัทลุงได้ตั้งมาก่อนปี พ.ศ.1480 เมืองตั้งอยู่ที่สทิงพระ เจ้าเมืองชื่อพระยากรงทอง ครั้งนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองสามีภรรยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลปละท่า ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา โดยตาสามโมเป็นหมอสดำ (หมอเฒ่าหรือนายกองช้าง)  มีหน้าที่เลี้ยงช้างส่งพระยากรงทองทุกปี

ต่อมา...สองตายายได้พบกุมารจากป่าไม้ไผ่เสรียง และได้พบกุมารีจากไม้ไผ่มีพรรณเลือดขาว จึงได้ชื่อว่า "นางเลือดขาว" ต่อมาทั้งกุมารและกุมารีได้แต่งงานกัน และรับมรดกเป็นนายกองช้าง จนมีกำลังขึ้นและมีผู้คนนับถือมาก ได้เรียกตำบลบ้านนั้นว่า "พระเกิด" ต่อมาทั้งสองคนได้พาสมัครพวกพวก เดินทางไปทางทิศอีสาน จากบ้านพระเกิดไปถึงบางแก้ว เห็นเป็นชัยภูมิดีก็ตั้งพักอยู่แต่นั้นมา ชาวบ้านต่างก็เรียกกุมารนั้นว่า "พระยากุมาร" โดยพระยากุมารมีอำนาจทรัพย์สมบัติและบริวารมากขึ้น ทั้งสองคนเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงได้สร้างพระพุทธรูป และอุโบสถขึ้นไว้ที่ "วัดสทิง" อำเภอเขาชัยสน สร้างถาวรวัตถุไว้ที่ "วัดเขียนบางแก้ว" คือวิหารและพระพุทธรูป พร้อมทั้งทำจารึกไว้ในแผ่นทองคำด้วย

ตั้งแต่ พ.ศ.1500 พระยากุมารกับนางเลือดขาว ยังคงพำนักอยู่ที่บางแก้ว ต่อมาทั้งสองคนได้เดินทางไปที่เมืองนครศรีธรรมราช และสร้างพระพุทธรูปไว้หลายตำบล นับแต่นั้นมาเกียรติคุณนางเลือดขาวก็รำลือไปถึงกรุงสุโขทัย "พระเจ้ากรุงสุโขทัย" โปรดให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ พร้อมนางสนมออกมารับนางเลือดขาวที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเชิญไปเป็นมเหสี ส่วนพระยากุมารก็กลับไปอยู่ที่บ้านพระเกิดตามเดิม พระเจ้ากรุงสุโขทัย เมื่อทรงทราบว่านางมีสามี และมีครรภ์ติดมา จึงไม่คิดยกขึ้นเป็นมเหสี ครั้นนางคลอดบุตรเป็นกุมาร พระเจ้ากรุงสุโขทัยก็ทรงขอบุตรไว้ชุบเลี้ยง ต่อมานางเลือดขาวได้ทูลลากลับบ้านเดิม พระองค์จึงโปรดให้จัดส่งถึงบ้านพระเกิด อยู่กินกับพระยากุมารตามเดิมจนถึงแก่กรรมทั้งสองคน ภายหลังบุตรนางเลือดขาวได้กลับมาเป็นคหบดี อยู่ที่บ้านพระเกิด เมืองพัทลุง ชาวเมืองเรียกว่า "เจ้าฟ้าคอลาย" (คอลาย = ลวดลายสักศิลปะภาคเหนือที่ปรากฏอยู่บนตัวเจ้าฟ้าคอลาย)

พระประธาน วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง

2. ตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน

สำหรับเรื่องราวจากชาวบ้านเกี่ยวกับ "ตำนานนางเลือดขาว" ได้กล่าวถึงสงครามในประเทศอินเดีย สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้ชาวอินเดียอพยพหนีภัยมาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู บริเวณเมืองท่าปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วข้ามแหลมมายัง อำเภอตะโหมดและอำเภอปากพะยูนของจังหวัดพัทลุง ขณะนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ชาวบ้านพระเกิด เป็นนายกองช้าง ยังไม่มีบุตร จึงเดินทางไปขอบุตรีชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตง บ้านตะโหมด นำมาเลี้ยงไว้ชื่อว่า "นางเลือดขาว" เพราะเป็นคนผิวขาวกว่าชาวพื้นเมือง ต่อมาได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่เสรี่ยง ให้ชื่อว่า "กุมาร" หรือ "เจ้าหน่อ" เมื่อทั้งสองเจริญวัย ตายายจึงให้แต่งงานกัน แล้วอพยพไปตั้งบ้านที่บางแก้ว เมื่อตายายถึงแก่กรรม ทั้งสองก็ได้นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ หลังจากนั้นทั้งสองได้สละทรัพย์ สร้างโบสถ์ วิหาร ในวัดเขียนบางแก้วและวัดสทิง เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น เช่น เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ วัดพระงาม วัดถ้ำพระพุทธที่เมืองตรัง  สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ ปัจจุบันคือ วัดเจ้าแม่ อยู่ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาว ทราบไปถึงกษัตริย์กรุงสุโขทัย จึงโปรดให้พระยาพิษณุโลกมารับนางเลือดขาว เพื่อชุบเลี้ยงเป็นมเหสี แต่นางมีครรภ์แล้ว จึงไม่ได้ยกเป็นมเหสี เมื่อนางคลอดบุตรแล้ว ทรงขอบุตรไว้ แล้วให้พระยาพิษณุโลก นำนางเลือดขาวกลับไปส่งถึงเมืองพัทลุง ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วไปก็เรียกนางว่า "เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว" หรือ "นางพระยาเลือดขาว" หรือ "พระนางเลือดขาว" นางได้อยู่กินกับพระกุมารจนอายุได้ 70 ปี ทั้งสองก็ถึงแก่กรรม "เจ้าฟ้าคอลาย" ผู้เป็นบุตร ได้นำศพไปประกอบพิธี ฌาปนกิจที่บ้านพระเกิด เส้นทางที่นำศพไปจากบ้านบางแก้วถึงบ้านพระเกิด เรียกว่า ถนนนางเลือดขาว

อย่างไรก็ดี..จากเค้าเรื่องนางเลือดขาวทั้งสามตำนาน แม้จะยังมีตำนานนางเลือดขาวอีกหลายสำนวน หลายท้องถิ่น โดยสำนวนเมืองพัทลุงนับเป็นสำนวนหลักที่แพร่หลายกว้างขวางมานาน พอจะเปรียบเทียบแง่มุมระหว่างสามสำนวน เพื่อหาบทสรุปและความเข้าใจได้ว่า นางเลือดขาวคือแบบอย่างของผู้หญิงดีและมีบุญแห่งเมืองใต้ ในละแวกเครือข่ายความสัมพันธ์ทางภูมินิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปากพนัง ตรัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่พัทลุง สงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานโบราณสถาน วัตถุ และชื่อบ้านนามเมืองสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ในลักษณะตำนานปรัมปราประจำแต่ละท้องถิ่น ผูกให้เชื่อว่าน่าจะเก่าแก่สัมพันธ์ถึงยุคสร้างบ้านสร้างเมืองในบริเวณนี้ มีเรื่องราวที่สรุปไม่ได้ชัดว่าเป็นของดั้งเดิมหรือเติมแต่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับลังกาและสุโขทัย แต่สอดประสานยุคสมัยได้อย่างดี โดยเฉพาะที่เกาะลังกาวีนั้นน่าจะมีอิทธิพลจากเรื่องนางเลือดขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตรัง ปากพนัง ไปสร้างเรื่องใหม่ตามเงื่อนไขของสังคมวัฒนธรรมประเพณี ดังตารางเปรียบเทียบท้ายนี้

ข้อมูล: กรมศิลป์ / นายกฤษฏิ์ ธนกิติธรรม
เรียบเรียง: แอดมินไข่นุ้ย หาดใหญ่โฟกัส

เรื่องที่เกี่ยวข้อง