หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

คนหาบเร่เมืองสงขลา | เรื่องเล่าเมืองสงขลา
18 มกราคม 2561 | 6,256

โลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกๆวัน เทคโนลียีและวิวัฒนาการ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรา การค้าขายทุกวันนี้เป็นแบบออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอาหาร การโรงแรม หนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้าเองยังเกิดทันยุคสมัยที่มีการหาบเร่แพร่หลายในหาดใหญ่ แม่ค้าจะเดินไปตามเส้นทางที่ตนคุ้นเคย ผู้คนในชุมชนและหมู่บ้าน รีบพากันวิ่งออกมาหน้าบ้านเพื่อดักรอพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังเดินผ่านมา ของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็น ขนมจีน ข้าวยำ น้ำชากาแฟ ส้มตำ และขนมหวาน ปัจจุบันเรายังมีโอกาสได้เห็นการหาบเร่ตามชายหาดสงขลา ใช่แล้ว "ไข่ปิ้ง" นั่นเอง ทุกวันนี้ยังพอหลงเหลือวัฒนธรรมรูปแบบนี้ ให้ลูกหลานพอได้เห็นกันอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ได้มาก และไม่ได้หลากหลายเหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้ามีโอกาสได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่วัย 80 ปีท่านหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องราวของการหาบเร่ค้าขายในจังหวัดสงขลาเมื่อครั้งอดีต พบว่า ในอดีตบางครั้งพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ก็ไม่ได้ขายของในชุมชนที่ตนเองอาศัย บางคนต้องนำของที่จะขาย ขึ้นรถสองแถวหรือรถรับจ้างประจำทาง ไปขายในชุมชนที่ใกล้ๆ เจริญๆ เหมือนคุณยายท่านหนึ่ง ท่านเป็นคนพื้นที่ "เขากลอย" (แถวหลังเขาคอหงส์) แกขายข้าวยำและขนมจีน คนในชุมชนหลายๆคนต่างยกนิ้วให้กับฝีมือของแก แต่ว่าผู้คนก็ไม่ได้มีมากมายอะไร อีกทั้งคนเราจะมากินอาหารซ้ำๆ มันก็จำเจ ทำให้คุณยายท่านนี้ ต้องตื่นแต่เช้าและขึ้นรถประจำทาง เพื่อนำของไปขายที่ตลาด แถวๆ อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา และตามตลาดนัดรายทาง

"การค้าขายตามท่าเรือย่อย และค้าเร่ตามชุมชน" เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการค้าขายสมัยโบราณของจังหวัดสงขลา อันเป็นวิธีการขายตรงในสมัยโบราณ (ว่าไปนั่น) ระหว่าง "ผู้ขาย" กับ "ผู้ซื้อ" โดยการอาศัยเรือบรรทุกสินค้า นำออกเร่ขายในชุมชนต่างๆ เดินทางผ่านสายคลองที่เชื่อมต่อกัน ขายสินค้าตามตลาดนัดชุมชน ท่าน้ำ และบ้านเรือนที่ตั้งอยู่สองริมฝั่งคลอง หากขายไม่หมดก็จะล่องเรือไปเรื่อยๆ อาจจะแวะพักแรมตามชุมชนต่างๆ เมื่อขายของหมดจึงแจวเรือกลับบ้าน บางโอกาสก็จะนำสินค้าผลผลิตในท้องถิ่นอื่น กลับมาจำหน่ายในชุมชนบ้านตนเองด้วย ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า เมื่อครั้งยังเป็นเด็กจะมีพ่อค้าจากชุมชนอื่นแจวเรือมาขายของ ภายในเรือมีสินค้าเบ็ดเตล็ดมากมาย อาทิ น้ำตาล น้ำปลา ปลาแห้ง ปลาเค็ม ปูเค็ม กุ้งส้ม เกลือ สบู่ ผงซักฟอก ยาสามัญประจำบ้าน พ่อค้าแม่ค้าบางคนล่องเรือจากอำเภอระโนดมายังอำเภอเมือง ขากลับจะนำ "ข้าวเปลือก" ที่คนสมัยนั้นคิดเป็นค่าสินค้าใส่เรือกลับ

กำเนิดของหาบเร่ไม่ปรากฎเป็นหลักฐานที่แน่ชัด หากได้ผูกพันกับชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณ เป็นสายป่านเพื่อการดำเนินชีวิตที่สืบทอดต่อกันมา และคงเอกลักษณ์ไทย ที่บ่งบอกถึงความอ่อนช้อย ที่แม้ไม้คานก็อ่อนเยิบพอเหมาะ ภาพของหาบเร่ได้เปลี่ยนไปตามความเจริญของบ้านเมือง และหลายแบบได้สูญหายไปเหลือเพียงความทรงจำ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง