หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

"ป่าเว้น" จารีตแห่งการสำนึกรักษ์ป่าของชุมชนของควนโส
13 ธันวาคม 2560 | 4,986

ควนโสเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ผู้เขียนเองเคยไปออกค่ายครั้งหนึ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนไปออกค่ายทำให้รู้ชุมชนที่นี่ค่อนข้างมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ สังเกตได้จากสองข้างทางที่เต็มไปด้วยป่าไม้ ตอนกลางคืนแทบไม่ต้องใช้พัดลมเลย เพราะอากาศสดชื่น รู้สึกเย็นสบาย และช่วงเช้าอากาศจะเย็นมาก ต้องใส่เสื้อกันหนาวแบบภาคเหนือกันเลยก็ว่าได้ ผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงคิดถึงธรรมชาติที่นั่นอยู่ดี วันนี้หาดใหญ่โฟกัสจึงขอหยิบยก วิจัยเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับ ป่า และจารีตรักษาป่าของชุมชนควนนโส จากวารสารศิลปศาสตร์  

ชุมชนนี้มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ตั้งบ้านเรือนใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก ทำนา และทำสวนยางพารา ทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนประกอบด้วยแหล่งน้ำติดทะเลสาบสงขลาและป่าเสม็ดทุ่งบางนกออก ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดสงขลา  

ประชาชนที่นี่ มีความผูกพันกับป่าเสม็ดผืนใหญ่ ชุมชนมีความสัมพันธ์พึงพิงป่าในฐานะผู้ใช้ประโยชน์และผู้ดูแลรักษา เนื่องจากชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยารักษาโรค สร้างบ้านเรือน และอาชีพเสริม ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ชุมชนจึงต้องเป็นผู้ดูแลรักษาไปพร้อมกัน    

อดีตตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนช่วงก่อน พ.ศ. 2435 ความเจริญยังเข้าไม่ถึง ชุมชนต้องพึ่งทรัพยากรจากป่ามาใช้ในการดำเนินชีวิต มีวิถีชีวิตขึ้นอยู่กับป่า เพราะเครื่องมืออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันดังเช่นปัจจุบันยังไม่มี  อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยสี่ทุกอย่างหาได้จากป่าเสม็ด ป่าจึงมีความสำคัญต่อชุมชนมาก ก่อให้เกิดจารีตในการบำรุงรักษาป่า ซึ่งเป็นกระบวนการอันสั่งสมมาจากภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ และไม่เป็นการทำลายป่าให้เสียหายมากเกินไป จารีตนี้เรียกว่า "ป่าเว้น"  

ป่าเว้นคืออะไร ป่าเว้น คือ พื้นที่ป่าอยู่ติดกับแปลงนาใคร คนนั้นมีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์จากป่าในบริเวณติดกันหรือขอเว้นป่าในบริเวณนั้นไว้เพื่อใช้ประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันต้องมีหน้าที่รักษาปกป้องผืนป่าที่ตนใช้ประโยชน์ให้ดี ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รักและหวงแหนป่า 

ป่าเว้นในตำบลควนโส คือ พื้นที่ในป่าเสม็ดที่เกิดจากการว่างเว้นป่าไว้ใช้ประโยชน์ส่วนตัวของชาวบ้าน ชาวบ้านที่มีแปลงนาติดกับป่าจะมีสิทธิในการใช้ประโยชน์และดูแลป่าบริเวณนั้นโดยทำสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งทุกคนสามารถจับจองทำป่าเว้นได้อย่างอิสระในพื้นที่ป่าหลังแปลงนาของตน  

การจับจองทำป่าเว้น ชาวจะใช้การตัดซุย คือ การถางเป็นแนวตรงตามเขตแดนของแปลงนาเข้าไปในป่า และนำกิ่งไม้ที่มีลักษณะโค้งงอคล้ายตะขอ ปักไว้ที่ปลายนาของตนเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า พื้นที่นี้มีเจ้าของแล้ว หากบุคคลอื่นจะเข้าไปใช้พื้นที่ป่าบริเวณนั้นจะต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน ป่าเว้นจึงเป็นจารีตที่ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของป่า มีความรักและหวงแหนป่า เปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินส่วนตน จะเลือกใช้ไม้เสม็ดจากต้นที่โตเต็มที่เท่านั้น เจ้าของนาที่มีพื้นที่ติดกับป่าเว้น จะมีหน้าที่ดูแลป่าบริเวณนั้นควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้ก็จะต้องดับ และคอยสอดส่องดูแลไม่ให้คนนอกชุมชนเข้ามาบุกรุกทำลายป่า  

แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรในการแสดงความเป็นเจ้าของ แต่ทุกคนในชุมชนยอมรับกติกานี้ร่วมกัน เป็นแบบแผนประเพณีที่คนในชุมชนควนโสปฏิบัติสืบต่อกันมาเสมือนกฎที่ทุกคนเคารพและไม่กล้าฝืน ทำให้เห็นว่าชุมชนดูแลรักษาป่าได้อย่างดี เพราะป่าเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชุมชน  

เมื่อมีความเจริญและการจัดการจากหน่วยงานของรัฐเข้ามาสู่ชุมชนควนโส ทำให้ชุมชนควนโสใช้ประโยชน์จากป่าเว้นได้ลดน้อยลง แต่ป่าถูกทำลายมากขึ้นจากกลุ่มนายทุนที่ลักลอบตัดไม้ไปใช้ในอุตสาหกรรมโรงงาน ชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรกลับไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เนื่องจากคิดว่าป่าเว้นไม่ใช่ของชุมชนอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จารีตรักษาป่าจึงจางหายไปจากชุมชนในที่สุด  

 

ขอบคุณข้อมูลและบทความดี ๆ : วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 

ขอบคุณภาพปก (ใช้เป็นภาพประกอบเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา) : med-aromaticplant 

 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง