หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ศิลาจารึกที่สำโรง สงขลา
22 กันยายน 2560 | 10,941

"สงขลา" เมืองแม่ของหาดใหญ่ เมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรมเก่าแก่ ภายในเมืองแห่งนี้มีโบราณสถานน่าค้นหามากมาย ตั้งแต่ยุคสมัยศรีวิชัย กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น วัดคีรีวรรณาวาส วัดมัชฌิมาวาส ภูเขาน้อย แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก เพราะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่มีความเก่าแก่ และเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา นั่นคือ "ศิลาจารึกที่สำโรง"

"ศิลาจารึกสำโรง" ถูกจารึกขึ้นในปี พ.ศ.2388 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) เมื่อ พระสุนทรานุรักษ์ (บุญสังข์) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา คิดจะสร้างสาธารณะประโยชน์ให้กับเมือง อาทิ สร้างถนน บ่อน้ำ ศาลา และสะพานข้ามคลองสำโรง จึงได้นำความไปกราบเรียน "พระวิเชียรคีรี" (เถี้ยนเส้ง) เมื่อได้รับความเห็นชอบ จึงชักชวนข้าราชการและชาวเมืองสงขลา ทั้งคนไทย คนจีน และคนมุสลิม ต่างคนต่างร่วมใจบริจาคทรัพย์ รวมกันทั้งสิ้น 2,312 เหรียญ 3 ตำลึง ต่อจากนั้นก็ให้ช่างเริ่มลงมือดำเนินการก่อสร้าง และได้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่อีกด้วย

ในโอกาสนี้มีการจารึกศิลา 3 หลักเอาไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เมืองและคนรุ่นหลัง โดยมีเนื้อหาบนศิลาที่พ้องกัน (สลักเป็น 3 ภาษา ภาษาละ 1 หลัก คือภาษาไทย จีน และมลายู) เนื้อหาที่สลักเป็นการเล่าถึงเหตุผลในการสร้างสาธารณประโยชน์ สภาพการก่อสร้าง รายชื่อผู้บริจาคในการก่อสร้าง แจ้งยอดเงิน รายจ่าย และคำอวยพรอธิษฐ ขอให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ศิลาทั้งสามนั้นเป็นหินแกรนิต ศุง 150 เซนติเมตร กว้าง 75 เซนติเมตร

"ศิลาจารึกที่สำโรง" ทั้งสามหลักตั้งอยู่ที่ "ศาลเทพารักษ์" ริมถนนไทรบุรี ก่อนถึงแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ปัจจุบันศาลแห่งนี้ตั้งอยู่ในรั้งของโรงพยาบาลประสาทสงขลา (โรงพยาบาลจิตเวชสงขลา) ศิลาทั้งสามอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยกเว้นหลักที่เป็นภาษามลายู (ยาวี) สลักเอาไว้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เพราะล่วงเลยและผ่านกาลเวลามาเกือบ 200 ปี

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง