หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ย้อนรอยตลาดคลองแดน ชุมชนวิถีพุทธสามคลองสองเมือง
7 เมษายน 2567 | 5,651

ชุมชนคลองแดนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่สุดเขตจังหวัดสงขลา ในเขตตําบลคลองแดน อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา และต่อเนื่องกับตำบลรามแก้ว อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคลองเล็ก ๆ เป็นเขตแดนตามธรรมชาติกั้นระหว่าง 2 จังหวัด คลองนี้จะต่อเนื่องและพบกันที่บ้านคลองแดน เรียกเป็นสามชื่อคือคลองที่มาจากหัวไทร เรียกคลองหัวไทร ที่มาจากบ้านคลองแดนไปทางระโนดเรียกคลองระโนด และที่แยกไปทางทิศตะวันตกเรียกคลองชะอวด จนกลายเป็นสมญานามของชุมชน คลองแดนว่า “บ้านสามคลอง สองจังหวัด”

ชุมชนคลองแดนตั้งมาราว ๆ ปี พ.ศ. 2406 สมัยรัชกาลที่ 4 พร้อม ๆ กับชุมชนบ้านรามแก้ว อําเภอหัวไทร การตั้งถิ่นฐานมีทั้งคนไทยและคนจีน ย้ายถิ่นฐานมาประกอบกิจการค้าขายบริเวณคุ้งน้ํา และตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่นบริเวณสามแยกแนวบรรจบของคลองทั้ง 3 สาย ซึ่งสะดวกในการคมนาคมที่ใช้เรือเป็นพาหนะ ชุมชนคลองแดนจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนอื่น ๆ ในปริมณฑลโดยรอบทําให้มีความรุ่งเรืองทางการค้าอย่างมาก จนประมาณปี พ.ศ. 2516-2517 เมื่อเกิดทางหลวงสาย 408 (นครศรีธรรมราช-สงขลา) เมื่อใช้งานเกิดความสะดวกมากกว่าการใช้เรือ การสัญจรทางน้ําลดลงและเลิกไปในที่สุด ผู้คนก็เริ่มอพยพออกจากพื้นที่ ทําให้ชุมชนคลองแดนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเงียบเหงาซบเซาลงมาก

คลองแดนยุคก่อตัวเป็นตลาด
ในปี พ.ศ. 2485 หลังสงครามโลกครั้งที่2 ยุติลง นายนวลกับ นางเพิ่ม โชติประดิษฐ์ จากบ้านลานควาย อําเภอระโนด ซึ่งเข้ามาจับจองที่ดินตรงปากน้ํา 3 แพร่งตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2470 ได้สร้างตลาดสดขึ้นในที่ดินของตนเองประมาณ 1 ไร่ โดยสร้างเป็นโรงเรือนโล่ง ๆ บนพื้น ดินที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปี ตรงบริเวณโค้งของสายน้ําที่ไหลมาจากอําเภอชะอวด มาบรรจบกับสายน้ําที่ไหลมาจากอําเภอระโนด (ด้านเหนือของคลองชะอวดและด้านตะวันตกของคลองที่ไปอําเภอปากพนัง) 

ความรุ่งเรืองของตลาดคลองแดน (ก่อนเป็นตลาดน้ำ)
ช่วงปลายปี พ.ศ. 2480 ถึงต้นปี พ.ศ. 24090 ตลาดคลองแดนได้เข้าสู่ยุครุ่งเรืองโดยแท้จริง เพราะในปี พ.ศ. 2488 บรรดาเรือแจว เรือถ่อของชาวบ้านค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แทน ขณะที่เรือเมล์ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลได้เข้ามาแทนเรือใบและเรือกลไฟและในช่วงรอยต่อของทศวรรษดังกล่าวนี้ โรงสีข้าวที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในบ้านคลองแดน ได้ถูกตั้งขึ้นถึง 3 โรง  (ชาวบ้านเรียกว่าโรงสีเย็นหรือโรงสีใหญ่) ทําให้ชาวนารายย่อยในบริเวณชุมชนคลองแดนและใกล้เคียงมีโอกาสที่จะแบ่งขายข้าวเปลือกและสีข้าวสารได้ ตามความต้องการและได้ราคามากขึ้น ทําให้ตลาดคลองแดนกลายเป็นตลาดใหญ่ ที่มีคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามาจับจ่ายซื้อขายกันเป็นจํานวนมาก 

ในขณะที่ชุมชนตรงปากทางสามแพร่งฝั่งน้ํานี้ก็เป็นที่หมายเข้ามาตั้งรกรากเพื่อการค้าขายของคนต่างถิ่น กลางปี พ.ศ. 2490 ที่ดินบน 3 ฝั่งน้ําทุกตารางเมตร จึงได้ถูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้า โดยบ้านเรือนอาศัยในยุคนี้มีการปลูกสร้างอย่างแข็งแรงมากขึ้น 
การเติบโตของตลาดคลองแดนยิ่งขยายตัวมากขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ปี พ.ศ. 2500 สิ่งที่ยืนยันการขยายตัวของตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวได้ดี คือการตั้งโรงเรียนเอกชนขึ้นอีกแห่งหนึ่งบนฝั่งอําเภอหัวไทร โรงเรียนแห่งใหม่นี้มีชื่อว่าโรงเรียนเจริญพงศ์วิทยา 

ตลาดคลองแดนได้เข้าสู่ภาวะถดถอย การซื้อขายซบเซา เนื่องจากราคาข้าวที่ตกต่ำ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514-2515 ยิ่งในปี พ.ศ. 2518 ผลผลิตของชาวนาในบริเวณทุ่งระโนดและหัวไทรได้รับความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัย และในปีดังกล่าวนี้ชาวนาจาก 2 อําเภอ ดังกล่าวจํานวนมาก ได้อพยพไปหาที่ทํากินใหม่แถบชายป่าเชิงเขาและแถบนิคมสร้างตนเองทั้งที่จังหวัดพัทลุง สงขลา และสตูล กอปรกับเกิดอิทธิพลท้องถิ่นและโจรผู้ร้ายชุกชุมทําให้ กลุ่มคนจีนอพยพโยกย้ายออกไปจากชุมชน ประกอบกับการเกิดถนนรถยนต์ ซึ่งค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500 โดยเฉพาะในปลายทศวรรษ 2510 การเกิดถนนนํามาซึ่งรถยนต์ที่เป็นยานพาหนะใหม่ ซึ่งมีความสะดวกสบายและทําให้การสัญจรสะดวกรวดเร็ว ชุมชน 3 ฝั่งน้ำบ้านคลองแดนซึ่งรุ่งเรืองมากว่าครึ่งศตวรรษก็ปิดฉากลง 

จนกระทั่งชุมชนคลองแดนได้การบริหารจัดการให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีพุทธ จนเกิดเป็นตลาดน้ำคลองแดนขึ้นมา และได้ชื่อว่าเป็น “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน”  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีสโลแกนว่า  “สามคลอง สองเมือง”  สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมตลาดน้ำคลองแดนก็จะได้สัมผัสกับการดำเนินชีวิตแบบวิถีพุทธ เยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมแบบชาวใต้ เยี่ยมชมการแสดงมโนราห์  หนังตะลุง  การร้องเพลงเล่นดนตรีสด นอกจากนี้ยังได้เลือกซื้อสินค้าอาหารพื้นบ้าน  ของที่ระลึกจากตลาดน้ำคลองแดนไปเป็นของฝาก

ตลาดริมน้ำคลองแดนสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นหรือชาวบ้านมาขายของ ขายอาหาร หรือเปิดเป็นโฮมสเตย์ไว้บริการให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชนบท  วิถีคลอง  ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ในรูปแบบของบ้านริมน้ำ  เรือนไม้ไทย  หรือระเบียงไทย  ถือเป็นการอนุรักษ์  สืบสานวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง  รวมถึงขายของที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน  

ขอบคุณภาพ/ข้อมูลบทความ
- ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง

- มิวเซียม ไทยแลนด์
-Sawkitty

เรื่องที่เกี่ยวข้อง