หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ย้อนรอยอดีตโทรเลข การสร้างสายโทรเลขระหว่างเมืองสงขลา-เมืองปีนัง
31 มีนาคม 2567 | 4,678

การสื่อสารกับชาวต่างชาติผ่านทางระบบโทรเลข หรือในอดีตเรียกว่า ตะแล็บแก็บ เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 พ.ศ. 2412 ทรงอนุมัติให้ชาวอังกฤษจัดตั้งบริษัทก่อสร้างและบำรุงรักษาทางโทรเลขตามคำเสนอ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

(ตึกที่ทำการโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ในกระทรวงกลาโหม ด้านมุมวังสราญรมย์ พ.ศ. 2418)

ต่อมา พ.ศ. 2418กรมกลาโหมดำเนินการสร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพมหานครไปปากน้ำ (หรือจังหวัดสมุทรปราการในปังจุบัน) โดยวางสายเคเบิล โทรเลขใต้น้ำต่อออกไป ถึงกระโจม ไฟนอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยารวมระยะทาง 45 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการส่งข่าวสารทางราชการเป็นหลัก และได้มีการก่อสร้างขยายไปเรื่อย ๆ เพื่อติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เชื่อมกับสายโทรเลขอิน โดจีน ไซง่อน ซึ่งเป็นสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ 

(ภายในที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขในอดีต)

และใน พ.ศ. 2440กรมโทรเลขได้สร้างทางสายกรุงเทพฯ แม่สอด จังหวัดตาก เพื่อไปต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษ ไปเมืองมะละแหม่ง และย่างกุ้ง ประเทศพม่า และได้สร้างทางโทรเลขจากกรุงเทพฯ เพชรบุรี ชุมพร ทุ่งสง หาดใหญ่ และสงขลา เป็นลำดับ 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2441ได้เริ่มมีการสร้างสายย่อจากสงขลาไปไทรบุรี (สมัยนั้นยังเป็นของสยาม และปัจุบันคือรัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเชีย) และกัวลามุดา เพื่อเชื่อมต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษไปปีนังและสิงคโปร์

(เครื่องแบ่งช่องสัญญาณด้วยเวลา)

จากเอกสารจดหมายเหตุ เรื่องการสร้างสายโทรเลขระหว่างเมืองสงขลาและเมืองปีนัง ในร.ศ.118 (พ.ศ.2442) ได้กล่าวถึงการขออนุญาตของกระทรวงโยธาธิการ โดยพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์  ได้กราบบังคมทูลว่าได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทย โดยพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ ว่าการสร้างสายโทรเลขแต่เมืองสงขลาถึงเมืองปีนังนั้น เจ้าพระยาไทรบุรีได้ให้ปักเสาเพิ่มเติมและให้เจ๊ะยารเฮม (คนของเมืองปีนัง) เข้ามาฟังคำชี้แจงและได้ขอเบิกเครื่องใช้ในการนี้ด้วย ซึ่งได้มีพระบรมราชกระแสเห็นชอบ ดังเอกสาร (รหัสเอกสารยธ ๓.๓/๔๑)

ในปัจจุบันระบบโทรเลขได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้เกิดบริการไปรษณีย์และขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็วและสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการมากมายหลายประเภท เช่น โทศัพท์มือถือ การรับส่งข้อความทางอีเมล์ การใช้เครื่องโทรสาร และการใช้สื่อออน ไลน์ประเภทต่าง ๆ ทำให้การติดต่อสื่อสารระบบโทรเลขได้ถูกยกเลิกการใช้งานไปตามกาลเวลา ด้วยอายุการใช้งานนานถึง 133 ปี

ขอบคุณข้อมูลบทความ :  -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา
ขอบคุณภาพบทความ : -มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
-PANTIP

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง