หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

วัดศาลาหัวยาง วัดเก่าแก่คู่เมืองสงขลายาวนานกว่า 267 ปี ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
24 มีนาคม 2567 | 5,865

วัดศาลาหัวยาง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เป็นวัดราษฎร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 10 ไร่ ทิศเหนือติดกับบ้านเรือนราษฎร ทิศใต้ติดกับโรงเรียนเทศบาล 3 (ศาลาหัวยาง) ทิศตะวันออกติดกับถนนไทรบุรี และทิศตะวันตกติดกับบ้านเรือนราษฎร 

(ที่มาภาพ : นายธีระยุทธ์ สุวลักษณ์ วิทยานิพนธ์พระอุโบสถในเมืองสงขลา , มหาวิทยาลัยศิลปากร)

วัดศาลาหัวยาง สร้างขึ้นในสมัยตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา (ไม่ทราบนามผู้สร้าง) ตั้งวัดเมื่อพ.ศ. 2300 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างวัดนี้ ระยะแรกได้นิมนต์พระหนอนมาอยู่ปกครองวัด และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ชาวบ้านเรียกนามวัดนี้ว่า "วัดหลาหัวยาง"

(ที่มาภาพ : นายธีระยุทธ์ สุวลักษณ์ วิทยานิพนธ์พระอุโบสถในเมืองสงขลา , มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ผังบริเวณวัดศาลาหัวยางประกอบด้วย พระอุโบสถ โรงธรรม(ศาลาการเปรียญ) เจดีย์บรรจุอัฐ หอระฆัง กุฏิเก่า กลุ่มกุฏิสงฆ์ โรงครัว ศาลา อาคารอเนกประสงค์ และอาคารเรียน

วัดศาลาหัวยาง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2310 ด้านการศึกษาทางวัดได้ให้ทางราชการจัดสร้างโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดศาลาหัวยาง) ขึ้นในที่วัด ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 โดยระยะแรกใช้ศาลาการเปรียญวัดศาลาหัวยางเป็นโรงเรียน 
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถสร้างโดย ปั้น อุปการโกษากร ท่านผู้หญิงสุทธิ์ในเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 6 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2407-2427) 

อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะศิลปกรรมแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วขนาดยาวประมาณ 32 เมตร กว้างประมาณ 22 เมตร ตัวอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาดกว้างประมาณเมตร 9 ยาวประมาณ 17 เมตร 

บริเวณตัวผังอุโบสถทำเป็นซุ้มโค้ง มีบันไดขึ้นลงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังคาอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีลวดลาย หน้าบันอุโบสถทั้งด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกเป็นรูปวานรทรงมงกุฏมีประภามณฑลรอบภายในวงกลม ประกอบด้วยเทวดาข้างละ 1 องค์ รายล้อมด้วยลวดลายกนกเปลว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยอยู่บนฐานชุกชีสูง

ขอบคุณข้อมูลบทความ :
- ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์.(2554).พระอุโบสถในเมืองสงขลา สมัยการปกครองของเจ้าเมืองตระกูล ณ สงขลา พ.ศ.2318-2444.วิทยานิพนธ์.การศึกษามหาบัณฑิต.กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง