หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

คนจีนในหาดใหญ่ ยุคแรกสร้างเมืองหาดใหญ่ กับการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน
17 มีนาคม 2567 | 5,611

ชาวจีนจำนวนมากซึ่งตั้งรกรากในหาดใหญ่ มีพื้นฐานมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นแรงงานในการก่อสร้างรางรถไฟสายใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อการก่อสร้างรางรถไฟแล้วเสร็จ ชาวจีนเหล่านั้นต่างพากันตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่เป็นจำนวนมาก มีผลให้หาดใหญ่กลายเป็นชุมชนเมืองของชาวจีนที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย และชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนความเจริญมาสู่หาดใหญ่นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หาดใหญ่เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา ปัจจุบันมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ จากจุดเริ่มต้นของชุมชนเล็กๆ ในปี พ.ศ.2158 ที่ทางรถไฟสายใต้สร้างผ่านชุมชนเพื่อเชื่อม เส้นทางการค้าระหว่างสยามกับอาณานิคมมลายูของอังกฤษ โดยเฉพาะการค้าดีบุกและยางพารา ซึ่งกำลังเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดโลกในขณะนั้นหาดใหญ่จึงกลายเป็นชุมชนที่มีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่เคยเป็นแบบพอยังชีพจึงเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นการผลิตเพื่อการค้า 

กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนกระทั่งกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ คือกลุ่มชาวจีนซึ่งอพยพมาจากที่ต่างๆเข้ามายังเมืองหาดใหญ่เพื่อประกอบอาชีพธุรกิจการค้า รวมทั้งยังเป็นผู้รับเหมาสัมปทานในการสร้างทางรถไฟที่ตัดผ่านชุมชนหาดใหญ่อีกด้วย ชาวจีนคนสำคัญ อาทิ เจียกีซี หรือ ขุนนิพัทธ์ จีนนคร 

สังคมชาวจีนในหาดใหญ่ยุคแรก 
ในอดีตเมืองสงขลาและเมืองหาดใหญ่ เป็นเมืองที่มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะสงขลานั้นถึงกับมีเจ้าเมืองเป็นคนจีน การสร้างบ้านแปลงเมืองได้คงลักษณะแบบจีนไว้ ซึ่งยังปรากฎให้เห็นได้ถึงปัจจุบัน ส่วนเมืองหาดใหญ่นั้น นับตั้งแต่มีทางรถไฟสายใต้ตัดผ่าน และมีการอพยพเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล โดยมีขุนนิพัทธ์จีนนคร(เจียกีซี) และพวกพ้องชาวจีนได้ร่วมกันบุกเบิกสร้างเมืองหาดใหญ่ขึ้น สภาพสังคมและวัฒนธรรมของหาดใหญ่จึงมีลักษณะเป็นแบบสังคมจีน

สังคมและวัฒนธรรมแบบจีนในหาดใหญ่นั้น ในระยะแรก เป็นช่วงเวลาของกลุ่มชาวจีนอพยพ หรือชาวจีนโพ้นทะเลที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นจีนได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งภาษาสำเนียง การแต่งกาย การกิน รวมถึงที่พักอาศัยที่เสมือนยกเมืองจีนมาไว้ที่หาดใหญ่ มีการสร้างห้องแถวแบบจีน รวมถึงป้ายประกาศและป้ายหน้าร้านค้าต่างๆก็เป็นภาษจีนทั้งหมด เนื่องจากมีชาวจีนหลายกลุ่มภาษา หลายตระกูลแซ่ อพยพเข้ามาอาศัยกันเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมกลุ่มทางสังคมขึ้นทั้งที่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่และกลุ่มขนาดเล็ก 

กลุ่มทางสังคมของชาวจีนในหาดใหญ่ยุคบุกเบิกดังกล่าว ได้ปรากฎการจัดตั้งสมาคมและมูลนิธิจีนต่างๆ ได้แก่ การตั้งสมาคมชาวแต้จิ๋ว ประมาณปี พ.ศ.2497 สมาคมฮากกาหาดใหญ่ตั้งขึ้นปี พ.ศ.2490 มูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา ตั้งขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่มีชาวจีนอพยพเข้ามาในหาดใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2459 เป็นจำนวนมาก ชาวจีนบางคนไร้ที่อยู่อาศัย เวลาเสียชีวิตไม่มีสถานที่ฝังศพ

ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นสถานที่พักอาศัยของคนชราอนาถา และบางส่วนเป็นที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลรวมทั้งที่ดิน ที่ตำบลบ้านพรุใช้สำหรับเป็นสถานที่ฝังศพ นอกจากสมาคมและมูลนิธิจีนในหาดใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในภายหลังชาวจีนในหาดใหญ่ได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสมาคมและมูลนิธิอีกหลายกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิ สมาคมฮกเกี้ยนแห่งจังหวัดสงขลา สมาคมรวมมิตร(ปั้นซันขัก) สมาคมศิษย์เก่าศรีนครหาดใหญ่ สมาคมกว่องสิวหาดใหญ่ สมาคมสตรีประสานมิตรหาดใหญ่ มูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ้ง) เป็นต้น

นับตั้งแต่ชาวจีนรุ่นลูกจีนหาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวจีนหาดใหญ่รุ่นใหม่เหล่านี้ ต่างมีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับเฉพาะตน ความเป็นจีนแท้อย่างชาวจีนโพ้นทะเลได้แปรเปลี่ยนไปเป็นลูกจีนในไทยที่ยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒฯธรรมและสังคมแบบจีนในบางประการ การดำรงสังคมและวัฒนธรรมแบบจีนในหาดใหญ่ ได้ดำเนินการไปท่ามกลางการผสมผสานทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมและสังคมแบบจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนในชาวจีนรุ่นที่3 ซึ่งเป็นลูกหลานที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย จนถูกเรียกขานเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างว่า "คนไทยเชื้อสายจีน"


ขอขอบคุณข้อมูล/ภาพบทความ : ศุภการ สิริไพศาลและคณะ.(2549).ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนเมืองหาดใหญ่จากอดีตถึงปัจจุบัน,วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ.
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง