ถนนนศรีสุดาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา เป็นถนนสำคัญย่านหนึ่งของจังหวัดสงขลา จากข้อมูลแผนพัฒนาชุมชนของถนนศรีสุดาได้มีการบันทึกประวัติความเป็นมาของย่านถนนศรีสุดาไว้ว่า บริเวณชุมชนศรีสุดาสมัยก่อนมีชื่อเรียกว่า“หมู่บ้านผีสำราญ”เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รกร้างและเป็นที่ล่ำลือว่ามีผีดุ ต่อมาเมื่อชุมชนขยายตัวมีชาวบ้านมาอาศัยเยอะขึ้นก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ชุมชนศรีสำราญ" และเปลี่ยนมาเป็น “ศรีสุดา” จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประวัติความเป็นมาของถนนศรีสุดาอาจจะไม่ค่อยมีความชัดเจนเท่าไหร่นัก
แต่จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยก่อนถนนสายนี้เป็นเพียงถนนสายเล็ก ๆ สายหนึ่ง ไม่ได้มีการตั้งชื่อถนนแต่ประการใดจนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเดินขบวนพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระนามว่า“ศรีสุดา” ผ่านมายังถนนสายนี้ เพื่อไปทำพิธีพระราชทานเพลิงศพยังสถานีรถไฟ (บริเวณถนนปละท่าในปัจจุบัน) ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนศรีสุดา” และสถานที่ในการทำพิธีพระราชทานเพลิงศพทิศเหนือติดตรงกับทางเข้าวัดซึ่งตั้งอยู่บนถนนนาสาร จึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า“วัดตีนเมรุศรีสุดาราม”
ถนนศรีสุดาในสมัยก่อนประชาชนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ประกอบอาชีพค้าขาย หาเช้ากินค่ำแบบสามัญชนทั่วไป แต่ความทรงจำของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะรู้สึกว่าถนนศรีสุดาเป็นถนนของคนกลางคืน ซึ่งเกิดจากการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมประมงย่านศรีสุดาในอดีต จึงเป็นย่านที่สัมพันธ์กับการเป็นที่เที่ยวยามค่ำคืนของลูกเรือชาวประมงทำให้เกิดการเติบโตของย่านโสเภณี ร้านอาหาร สถานบริการหรือสถานบันเทิง ถนนศรีสุดาในอดีตเป็นแค้ถนนเส้นเล็กๆ ไม่ได้เจริญเหมือนในปัจจุบัน ตามรายทางส่วนใหญ่ก็จะเป็นบ้านสองชั้นที่ปล่อยให้เหล่าโสเภณีได้เช่ากันจนกลายเป็นสถานที่ทำมาหากินของเหล่าโสเภณี
จากข้อมูลบอกเล่าของคนเก่าแก่ในอดีต ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตั้งแต่ถนนศรีสุดาจนถึงโรงสีแดง เป็นย่านโสเภณีเกือบทั้งหมด ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจึงมีการเปิดร้านขายของชำเพื่อทำมาหากิน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเหล่าโสเภณีที่มาจับจ่ายซื้อของกินของใช้ และได้มีการบอกเล่าว่าเหล่าโสเภณีส่วนใหญ่ในย่านนี้มักจะเป็นคนที่มาจากภาคอีสาน ส่วนใหญ่ก็จะมาด้วยความเต็มใจ เพราะต้องการมีเงินมีรายได้ แต่ก้มีบ้างที่ถูกหลอกมา หรือถูกพ่อแม่ขายมาเพื่อแลกเงิน ซึ่งชาวบ้านมักจะมีคำติดปากไว้เรียกเหล่าโสเภณีในย่านนี้ว่า "พวกตกเขียว" จึงกล่าวได้ว่าย่านถนนศรีสุดา คือ สีสันยามราตรีแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลาที่มีผู้คนมาท่องเที่ยวและทำงานกันมากทั้งจากลูกเรือชาวประมงและผู้คนที่หลงไหลในการท่องเที่ยวกลางคืน
ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา การเข้ามาของธุรกิจเรือน้ำมันนำพาผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยโดยเฉพาะชาวตะวันตกส่งผลให้ย่านถนนศรีสุดากลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการเป็นย่านธุรกิจการค้าและด้านความบันเทิง ส่งผลให้ภาพด้านลบเกี่ยวกับถนนศรีสุดาได้จางหายไปจากความทรงจำของผู้คน ดังนั้น ถนนศรีสุดาจึงถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของย่านนี้ในอดีตได้ดี นอกจากภาพร้านค้า ร้านอาหารผับบาร์ ที่ปรากฏยามค่ำคืนแล้ว ย่านถนนศรีสุดาคือพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองสงขลาที่มีผู้คนจากส่วนต่างๆเข้ามารวมกันอยู่ในพื้นที่
ขอบคุณบทความ : ภัทธรียา รักษาวงค์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 271จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 247บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 306ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 263พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 972รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 767เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 622ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 901