หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

ผู้ก่อตั้งเพจ Hatyai Connext กลุ่มคนขับเคลื่อนเมืองหาดใหญ่ ผ่านการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์ในมุมมองใหม่
30 พฤษภาคม 2566 | 7,670

Hatyai Connext เกิดจากการรวมกลุ่มของคนที่สนใจเรื่องเมือง จากการรู้จักกันผ่านโครงการริทัศน์* โดยต้องการสื่อสารเรื่องเมืองหาดใหญ่ในมุมที่แตกต่าง จากการตั้งคำถามใน 5 ประเด็นหลัก คมนาคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะ และการออกแบบ “คนในเมืองเค้ามีคำถามเหล่านี้อยู่แล้วแต่ยังไม่มีคนพูด” หรือ “ปลุกคนหาดใหญ่ให้ตื่นมารู้จักพื้นที่ของตัวเอง”  เป็นประโยคที่หาดใหญ่โฟกัสจะชวนทุกคนไปทำความรู้จักผู้ก่อตั้งเพจ Hatyai Connext ไปพร้อมกัน

สมาชิกทั้ง 4 คน ผู้ก่อตั้งเพจ Hatyai Connext
อณวิทย์ จิตรมานะ (ซอล) 
ซอลไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบด้าน Creative Media  เคยทำงานอยู่ในแวดวงเอเจนซี่โฆษณา ทำเพจท่องเที่ยวมาก่อน ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการริทัศน์แล้วได้มาดูเมืองหาดใหญ่ พอเข้ามาในเมืองแล้วรู้สึกว่าผังเมืองโอเคเป็นระบบ เดินทางง่าย แต่เกิดคำถามว่าทำไมนักท่องเที่ยวน้อยหรือเพราะเป็นช่วงโควิด แล้วพอดูสื่อในหาดใหญ่ ทำไมยังไม่มีข้อมูลที่เราอยากพูดให้มันส์ขึ้นก็เลยปั้นโปรเจค Hatyai Connext ขึ้นมาด้วยกัน ซึ่งโดยตัวเพจจะดูภาพรวม เรื่องการดีไซน์ และการสื่อสาร

สุทธหทัย นิยมวาส (แจน) แจนจบชั้นมัธยมจากมอ.ว.ไปต่อสถาปัตย์ บางมด มีความสนใจเรื่องเมืองหาดใหญ่ ตอนทำธีสิสก็ทำประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเมือง ซึ่งแจนมีข้อมูลอยู่เกี่ยวกับเมืองหาดใหญ่อยู่ในมือค่อนข้างมาก เลยนำมาประยุกต์กับการทำเพจ ประกอบกับเป็นสิ่งที่แจนตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าหากเรียนจบว่าจะกลับมาช่วยอะไรเมืองบ้าง หลังจากจบเป็นสถาปนิกเต็มตัวอยู่กรุงเทพสักพัก และได้มีโอกาสโครงการริทัศน์เลยทำให้เห็นว่าเรื่องเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ใครก็สามารถออกแบบเมืองได้ และเราควรที่จะให้ทุกคนออกแบบด้วย

สรวิชญ์ อังศุธาร (ไบร์ท) ไบร์ทเป็นเด็กหาดใหญ่ รุ่นน้องของแจนที่มอ.ว. เรียนจบวิศวะ เคยฝึกงานด้านเมืองที่ UN Habitat (โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ) และ UDDC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) ซึ่งมีความสนใจด้านเมืองอยู่แล้ว แจนเลยชวนมาทำงานเรื่องเมืองด้วยกันเพราะรู้ว่ามีความสามารถที่เสริมกันได้

สุตาภัทร ชากรี (ขนุน) ขนุนจบด้านบริหารจาก ม.อ. ระหว่างที่เรียนปี 4 ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการริทัศน์ แล้วก็ทำคู่ขนานเรื่องเยาวชนไปกับตอนเรียน เพราะความชอบเรื่องเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเรียนจบก็ทำเรื่องเมืองต่อเลย นอกจากนี้ขนุนยังมีทำฟรีแลนซ์ควบคู่กันไปทั้งเป็นครูสอนภาษาไทย แม่ค้าขายของใน TikTok แล้วตอนนี้ก็ทำเพจได้ด้วยซึ่งดูด้านการจัดการ การเงิน เอกสาร ลงพื้นที่ชุมชน

จุดเริ่มต้นของเพจ Hatyai Connext
เร่ิมมาจากการเข้าร่วมโครงการ Rethink Urban Spaces หรือริทัศน์ โครงการที่ซัพพอตเยาวชน ริทัศน์หาดใหญ่ เป็นการพูดถึงเยาวชนในบทบาทการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเมือง พวกเราเป็นกลุ่มที่มีความสนใจด้านชุมชนอยู่แล้ว โดยโครงการนี้ทั้งหมดจะมี 5 จังหวัด เชียงใหม่ กรุงเทพ ขอนแก่น กาญจนบุรี และหาดใหญ่ จะค้นหาเด็กที่มีความสนใจที่จะพัฒนาเมืองใน 5 ประเด็นหลัก คมนาคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะ และการออกแบบ หลังจบโครงการพวกเรายังมีความตั้งใจที่อยากจะทำโปรเจคต่อ จึงตั้งเป็นโปรเจคตัว Hatyai Connext ขึ้นมา ซึ่งผู้ใหญ่ในเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องเมือง ทำให้เราเริ่มขยับขยายไปค่อนข้างกว้าง การทำเพจของกลุ่มพวกเราเกิดจากตั้งข้อสงสัยว่าถ้าเราอยากทำเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับเมืองว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง พอได้โอกาสตรงนี้ก็อยากทำต่อ เราเป็นเหมือนตัวกลางหรือเสียงให้กับคนรุ่นใหม่ในประเด็นเรื่องเมืองที่มีความครีเอทีฟมากขึ้น เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากวันที่เริ่มทำเพจจนตอนนี้ก็เกือบปีแล้ว เรามองว่ามันจะเติบโตขึ้นไปได้อีก

(*ReThink Urban Spaces-ริทัศน์ โครงการริทัศน์ มองเมืองมุมใหม่ - ความร่วมมือเยาวชนไทย-ยุโรปในการพัฒนาชุมชนเมือง โครงการริทัศน์ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เป็นการร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อพลเมืองไทยและมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดที่นำโดยเยาวชนในการมองพื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมืองที่นับรวมทุกคน (inclusive cities) ให้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง ได้มามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต)

การสื่อสารผ่านดีไซน์ที่แตกต่าง จุดเด่นที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเพจ 
(ขนุน) จุดสำคัญหลักของเพจคือการมีส่วนร่วมของเยาวชนกับ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ คมนาคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะ และการออกแบบ เราคิดว่าคนในเมืองเค้ามีคำถามเหล่านี้อยู่แล้วแต่ยังไม่มีคนพูด บางอย่างเราเห็นจนมันคุ้นชินแต่เราไม่ได้รู้ว่ามันเป็น Hieden Gem ของเมือง เราสามารถเอามาเล่นหรือทำผ่านกิจกรรมอะไรได้บ้างให้คนรู้สึกว่าเมืองไปต่อได้ 

(ซอล) ส่วนของ CI (Corporate Identity) เพจ เนื้อหา วิธีการสื่อสาร ลีลาและภาษาวัยรุ่นแบบมีความปากร้ายนิดนึงแต่กรักนะ เราเลยมองว่าสีเทากับสีเหลืองมีความ Modernize อยู่ในตัว สีเหลืองจะเป็นโทนร้อน ดรอปเฉดให้มีความเป็นแสงว่างนิดนึง ส่วนสีเทาจะล้อกับตัวคู่สีอยู่แล้ว และคำว่า Connext เราก็เอาไอคอนของคลิป ซึ่งจะมองเป็นคลิป หรืออาจจะมองเป็นสองมือที่ประกบกันก็ได้ เนื้อหาเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับเมือง มีความจริง และการตั้งคำถามแบบสร้างสรรค์

การต่อยอดในการสื่อสารเกิดจากการตั้งคำถามกับเมือง 
บางประเด็นที่เราตั้งคำถาม เช่น ภาพยนตร์หรือพื้นที่สาธารณะในหาดใหญ่ ก็จะมีผู้ใหญ่คนที่มีบทบาทท้ังภาครัฐ เอกชน สังคม เยาวชน ให้ความสนใจแล้วผลักดันต่อยอด ระหว่างนั้นทางเพจเราก็จะทำตัวคอนเทนต์ออกมาเพื่อขยายออกไปให้กับคนทั่วไปได้รับรู้ด้วย เน้นเรื่องการตั้งคำถาม ความจริง สิ่งที่มีอยู่เอาออกมาสื่อสารในทางที่ครีเอทีฟมากขึ้น ซึ่งฟีตแบคจะมีจากลูกเพตที่มาคอมเม้นท์ เพราะสุดท้ายเค้าจะบอกเราว่าควรทำคอนเท้นท์แบบไหน กลุ่มคนในเพจที่เรามองไว้ตอนแรกจะเป็นกลุ่มเยาวชน พอเพจเติบโตก็ค่อนข้างมีกลุ่มหลากหลาย

ปัจจุบันและอนาคตของเพจ
(ขนุน แจน) เรามีโอกาสได้คุยกับหลายคนในหลายจังหวัด ตัว Model Hatyai Connext น่าจะไปทำกับจังหวัดอื่นได้ด้วย เราเลยตั้งเป็นบริษัท city connext เพื่อให้ขยายไปจังหวัดอื่นด้วย ส่วน Hatyai Connext เราจะทำต่อเพราะตอนนี้ค่อนข้างเข้าที่ประมาณนึงแล้ว การทำเพจเรามองว่าเป็นการมอบ knowleage หรือ know-how ซึ่งเราไม่ได้ต้องการไปทำแทนคนในพื้นที่ แต่เราต้องการไปช่วยหรือเป็นองค์ประกอบนึงที่เราก้าวไปด้วยกันมากกว่าโดยใส่ความครีเอทเข้าไปเพิ่มขึ้น 

(ซอล) ตั้งแต่วันที่สร้างเพจจนถึงปัจจุบันปีกว่า รู้สึกว่าค่อนข้างไวเหมือนกัน ทั้งยอด ทั้งคอมเมนท์ ถ้าเราวัดจากตัวเลขเพจ แสดงให้เห็นว่าคนในเมืองก็สนใจเนื้อหาการเล่าประมาณนี้ แต่จะทำยังไงให้ขยายไปในกลุ่มคนมากขึ้น มันจะง่ายกับคนที่สนใจและพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง

การทำงานเพื่อสังคมคืองานหนึ่งงาน ไม่ใช่งานฟรีหรืองานกุศล
รางวัล“FIRST Runner-up" Design Hero ดีไซน์ดี มีแต่ได้ เป็นหนึ่งในโครงการหรือกิจกรรมที่เราสนใจที่อยากจะทำเสริม ซึ่งถ้าพูดถึงภาพรวมของ Hatyai Connext เราค่อนข้างที่จะเป็น project base ในทุกครั้งที่เราทำโครงการต้องใช้งบ ทุกครั้งเราจึงต้องหาองค์กรหรือโปรเจคย่อย การประกวด เพื่อที่จะหาบัตเจ็ตมาทำกิจกรรมต่างๆในเพจ เราจะได้มูฟออนต่อ การที่เราทำงานเพื่อชุมชนหรือสังคม มันก็คืองานนึง ดังนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว มันไม่ใช่งานฟรี งานกุศล ถึงแม้ว่าผลประโยชน์สุดท้ายจะได้ให้กับคนส่วนมาก ดังนั้นทุกครั้งที่ทำโปรเจคก็จะมีองค์กรที่สนับสนุน 

ปัญหาอุปสรรคในการทำงานเรื่องเมืองกับชุมชน
ในการจัดงานที่เกี่ยวกับเมืองอาจจะต้องมีการปิดถนน วิธีการสื่อสารกับคนที่อยู่ในชุมชนตรงนั้นอาจจะยังไม่เยอะพอ ต้องช่วยกันทำด้วยกันต่อไปให้มีจุดตรงกลางให้เจอ event ทำให้ภาพรวมเมืองคึกคัก ได้ประโยชน์กับเมือง แต่สุดท้ายแล้วคนที่บ้านอยู่ตรงนั้นเค้าขับรถเข้าออก เค้าส่งลูกไม่ได้ เทศบาลหรือคนที่จัดงานเองจะช่วยอย่างไรไบ้าง มันเป็นการตั้งคำถามตอนนี้ที่อาจจะยังไม่ได้รับคำตอบ พอเป็นคำว่าเมือง ทำอะไรแล้วมีผลกระทบกับเมือง หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แต่คิดว่าน่าจะเข้าใจมากขึ้นแล้ว การสื่อสารที่มีมากกว่าแต่ก่อนทำให้คนเข้าใจเรื่องประเด็นเมืองมากขึ้น

เคยเจอกับคำถามว่าทำอะไรอยู่ 
(แจน ขนุน) เปรียบเทียบตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าการทำงานเมืองคืออะไร คำตอบตอนนี้คือทำเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองดีขึ้น เข้ามามองเมืองตัวเองว่าจะอุดช่องโหว่และเสริมจุดเด่นอย่างไรได้บ้าง เรามองว่าเราเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่เข้ามา เสริมกับหน่วยงานต่างๆที่อาจจะมีภารกิจหรืองานมากอยู่แล้ว คนทำงานหลายคนยังไงก็เป็นการขับเคลื่อนเมืองได้ดีกว่าอยู่แล้ว เราก็มีในส่วนขอมันสมองและแรงที่จะช่วยสื่อสารในแง่ของความครีเอท events on ground 

อยากสื่อสารอะไรกับคนหาดใหญ่ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่
(แจน) เราต้องทำให้รู้สึกว่าเมืองมันยังมีโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รู้ว่ากลับบ้านแล้วจะทำอะไร มันยังไปต่อและเห็นภาพในอนาคต เพราะถ้าเค้าไม่เห็นภาพในอนาคต สุดท้ายเค้าก็ไม่เลือกที่จะอยู่ และอีกอย่างคือไลฟ์สไตล์มันตอบโจทย์หรือเปล่า สุดท้ายเค้าจะเลือกจากสิ่งที่ตอบโจทย์เค้าอยู่ดี

(ขนุน) ณ ตอนนี้เหมือนทุกคน ทุกฝ่าย กำลังพยายามอยู่ หาดใหญ่เป็นเมืองที่ตอบรับได้กับทุกคน ขนาดเราเพิ่งเริ่มทำเพจ ยังมีคนมาคอนเมนต์ว่าอยากกลับบ้าน ที่บ้านมีอะไรแบบนี้ด้วยหรือ ตอนนี้เราเลยสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุดว่าเมืองเรามีอะไร ทำอะไรได้บ้าง ถ้ามีคนแบบเราที่สนใจเรื่องเมือง สร้างพื้นที่ สร้างโอกาสเยอะขึ้น ก็คิดว่าเด็กรุ่นใหม่คงอยากจะอยู่บ้านอยู่แล้ว

ประเด็นสังคมกับวลีหาดใหญ่ตายแล้ว
(แจน) พี่ๆหลายคนในเมืองเคยคุยกันว่าไม่ควรใช้คำนี้ เพราะมันทำให้คนในเมืองหดหู่ด้วย ภาพลักษณ์ของเมืองก็แย่ลง ซึ่งสภาพความจริงต้องยอมรับว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หาดใหญ่เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะฟื้นเร็ว เมืองเป็นเมืองเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ สภาพสังคมหลายๆอย่าง หรือเพราะว่าโลกกำลังจะเปลี่ยน แล้วเมืองไม่ได้เปลี่ยนตาม ถ้าเราไม่พัฒนาให้ทันมันจะตายได้จริงๆ เราเลยมองว่ามันเป็นจังหวะสำคัญที่เมืองจะต้องไปต่อ

(ขนุน) พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น มันทำให้คนโฟกัสในเมืองเยอะขึ้นว่าทุกวันนี้จะทำอะไรดีที่ทำให้ไม่รู้สึกเหงา หรือหดหู่ มันทำให้เมืองรันอยู่ภายในของมัน ซึ่งบางอย่างก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

(ซอล) เชิงพื้นที่หาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดน มันเป็นปัจจัยภายนอกด้านการท่องเที่ยว เราก็เลยเจ็บหนักแล้วคำนี้จังหวะก็โผล่ขึ้นมา แต่พอเมืองเปิดก็มีนักท่องเที่ยวกลับมา ส่วนปัจจัยภายในจะทำยังไงที่เมืองจะสามารถโอบอุ้มกันเองได้ ควรเป็นโจทย์ที่หน่วยงานที่มีอำนาจควรจะปล่อยแมสเสจร่วมกันของเมือง อีกมุมนึงหาดใหญ่แทบจะไม่ได้เป็นจุดหมายของกลุ่ม Blogger ท่องเที่ยวที่จะเดินทางมา หาดใหญ่ไม่ใช่เมืองรอง หาดใหญ่เป็นเมืองหลัก แต่คนยังไม่มอง หาดใหญ่เหมือนอยู่ในลิสการเดินทางที่เป็นทางผ่าน เรื่องของอาหาร อย่างเช่น ไก่ทอดหาดใหญ่ เราควรเน้นย้ำ Key Message ให้มันว้าวไหม ให้ทุกคนเดินทางมาแล้วต้องลอง ก่อนจะไปเรื่องอื่นๆ หรือจะไปหลายทิศทางแล้วให้น้ำหนักมันพอๆกัน

อยากสื่อสารให้คนข้างนอก รู้ว่าเมืองหาดใหญ่เป็นอย่างไร
(ขนุน) คนข้างนอกจะมองว่าหาดใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยว หาดใหญ่เป็นเมืองโอกาสของภาคใต้ แต่เราอยากให้เค้ามองว่าไม่ใช่แค่ภาคใต้ แล้วก็ไม่ได้เป็นแค่เมืองท่องเที่ยว เป็นอะไรที่มากกว่านั้น มีโอกาสในหลายๆ อย่างให้เราได้ทำ เราอยากสื่อสารออกไปว่ามันมีนะ ซึ่งเรากำลังปรับความเข้าใจระหว่างคนนอกและคนในเมือง 

(แจน) หาดใหญ่เหมือนเป็นเป็ด ด้านการศึกษาเราดีมาก เป็น learning city ด้านการแพทย์ที่ค่อยข้างดังเพราะเรามีโรงพยาบาลใหญ่เยอะ หลายๆ ครั้งเรามองว่าเมืองมีปัญหาเป็นแค่เมืองแวะพัก แต่ในทางกลับกัน เราพร้อมเป็น transition city ที่ดีไปเลยได้ไหม การที่เมืองเป็นเป็ดก็ไม่ได้ผิดอะไร แสดงว่าเมืองเราเป็นเมืองที่มีความหลากหลาย

(ซอล) ถ้ามองว่าเมืองหาดใหญ่เป็นทางผ่าน เราจะทำอย่างไรให้ผ่านให้ช้าลง ในเมื่อเรามีสิ่งล่อตาล่อใจ แสงสีที่สมัยใหม่ให้กับคุณในเวลาที่คุณมี วันนึงคุณสามารถมาแวะกินเที่ยว แต่เราต้องมามองในเมืองว่าเรามีสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องรีเสิชว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไร

หลายคนอยากทำอะไรให้กับเมืองแต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
(แจน) การทำงานด้านเมืองเรามองว่ามันมีหลายมิติมาก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคมนาคม ดิจิตอล คนในเมือง ซึ่งเราอาจจะไม่ได้เป็น specilist ในด้านนั้น ถ้าอยากจะเริ่มต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่เราสนใจ ไปเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เสริมเรื่องของงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อ

(ขนุน) อยากทำงานด้านเมือง มาร่วมงานกับเราสิ เหมือนจะดูเล่นๆ แต่คือเรื่องจริง ที่พวกเราเกาะกลุ่มกันมา พวกเราก็จะมีคอนเทคชั่น เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้มาร่วมงานกัน

(ซอล) มาหาเราเพื่อเป็นทางผ่านก็ได้ ช่วงแรกที่เราทำ เราจะเสียเวลามากในการติดต่อคน ติดต่อหน่วยงาน เราไม่อยากให้ใครที่มีความตั้งใจเสียเวลาไปกับตรงนี้แล้วทำให้บั่นทอน ควรจะใช้เวลาไปสร้างสรรค์ไอเดีย โปรเจคเพื่อไปได้เร็วกว่า การวิ่งอยู่บนลู่คนเดียวบางทีมันก็เหงาเกินไป ทุกคนมีของพื้นที่ยังขาด ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ทางเราก็ยินดีมากเลย

หากคุณเป็นคนหาดใหญ่หรือคนพลัดถิ่นที่เป็นประชากรของเมืองหาดใหญ่ หาดใหญ่โฟกัสเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า ไม่ว่าจะนำความถนัดทางด้านไหนมาใช้ ไม่ว่าการลงทุน ลงแรงนั้นจะเล็กหรือใหญ่ เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง ทำให้เมืองเติบโตต่อไปหากเราลงมือร่วมกันทำตั้งแต่วันนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง