หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เรื่องเล่าบ้านเกิด ชุมชนตะเครียะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ .ศ.2484
28 พฤษภาคม 2566 | 10,501

เรื่องราวต่อไปนี้ที่จะนำมาเสนอ เป็นสมุดบันทึกตาหลวงปอด วัดหัวปำ ผ่านคำบอกเล่าของลุงเชือน ศรีวิโรจน์ โดยที่ลุงเชือน ได้เล่าถึงบรรยากาศชุมชนตะเครียะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ .ศ.2484 ว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คนตามชนบทต้องสุมไฟไว้ไม่ให้ดับ(เพราะไม้ขีดไฟแพงมาก กล่องละ 2 บาท หาซื้อยาก ต้องซื้อหลังร้าน ราคาเท่ากับน้ำมันยางข้น 1 ปี๊บ) ถึงเวลาหุงกินเอาเหยื่อไฟไปจ่อต่อไฟมาหุงต้มทุกครัวเรือน มันลำบากเงินมีแต่ไม่มีของที่ต้องการจะซื้อ ขณะนั้นบ้านเรือนใครหลังคามุงสังกะสีต้องเอาทางมะพร้าวขึ้นไปปิดทับสังกะสี กลัวข้าศึกมันทิ้งระเบิด…พวกทหาร ตำรวจชวนกันเข้ามาขอผ้ายันต์ท่าน(หลวงพ่อปลอด วัดหัวป่า)ไม่เว้นวัน

ลุงเชือนเล่าถึงการบวชในสมัยก่อนว่ามีความแตกต่างกับในสมัยปัจจุบันเกือบจะสิ้นเชิง การเป็นสมภารเจ้าอาวาสสมัยก่อนเป็นงานหนักมาก กลางคืนต้องลงเดินตรวจตราไปทุกกุฏิทุกคืน สวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็เริ่มสั่งสอนอบรมพระเณรว่า เราบวชกันทำไม เมื่อไม่มีใครตอบท่านก็ตอบเสียเองว่า บวชเพื่อเอาอานิสงส์ แล้วท่านถามต่อว่า อานิสงส์คืออะไร ท่านตอบเองอีกว่าอานิสงส์คือผลของการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบคือความสุข เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องเรียนธรรมวินัย จึงจะรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด ถ้าเราได้ศึกษาแล้วเราจะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าคือใคร อยู่เมืองไหน เป็นลูกของใคร ทำไมท่านถึงบวช แล้วท่านกล่าวทิ้งท้ายทำนองปรามว่า ใครไม่เรียนนักธรรมจะขังไว้เอาขี้เหมือนวัวควายไม่ให้สึก

ลุงเชือนเล่าถึงโรงเรียนวัดหัวป่า โรงเรียนที่ข้าพเจ้าเคยเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ กว่า 40 ปีมาแล้วว่า อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวป่า(หลวงพ่อปลอด ปุญญสโร)เป็นผู้ริเริ่มตั้งขึ้น อาศัยโรงธรรมศาลาวัด ปี พ.ศ.2481 ปีที่ลุงเชือนบวช ครูผัด จันทน์เสนะ(บิดาของนายบัญญัติ จันทน์เสนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมที่ดินและอดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด)สอนอยู่คนเดียว เป็นทั้งครูน้อยและครูใหญ่ ในโรงธรรมวัดไม่มีฝากั้น เด็กนักเรียน ป,1-2 แม่ต้องสานเสื่อกระจูดให้มารองนั่ง พอฝนตกลมแรงเด็กต้องเอาเสื่อขึ้นห่อตัวกันฝน ป,3-4 พอได้นั่งเก้าอี้ไม้

วันหนึ่งครูผัดไปบอกเจ้าอาวาสว่า ปีนี้กระทรวงธรรมการให้งบประมาณสร้างโรงเรียนหลังหนึ่ง 600 บาท ขนาด 4 ห้องเรียน ทำตามแบบแปลนของกระทรวง เจ้าอาวาสไปเอาหินจากควนทะเลโมงมาหล่อเสาโรงเรียน โดยล่องเรือไปทางบ้านพราน เอาทรายจากลำปำ พัทลุง ซื้อไม้เสาจากบางแก้ว พัทลุง 20 กว่าเสา บรรทุกเรือพ่วงมาใช้เวลาเดินทาง 3 วัน 2 คืน เมื่อได้ไม้กระดานจากพ่อค้าไม้ชาวบ้านดอน นครศรีธรรมราชแล้ว เจ้าอาวาสก็ให้ชิกแผ้ว ช่างคนจีนจากทะเลน้อยผู้ชำนาญเรื่องงานปูนลงมือหล่อเสาสูง 1.70 เมตร เมื่อหล่อเสาเสร็จจีนเจ้าสุกเข้ามาเหมาทำจนเสร็จในราคา 350 บาท มีลูกน้อง 3 คน รับค่าแรงวันละ 1 บาท

‘งบประมาณ 600 บาท ให้ช่างสุกเสีย 350 บาทเหลือเงินเพียงเล็กน้อยท่านต้องเป็นหนี้เถ้าแก่จู้ทิ่นจำนวนมาก เถ้าแก่คนนี้เคารพนับถือท่านมาก ปีนั้นโชคดีที่ชาวบ้านทำนาได้ผลดีทั่วทุ่ง พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จท่านออกเดินขอข้าวเลียงทุกหมู่บ้านทั้งบ้านเสาธง ล่องลม บ้านขาว บ้านพราน บ้านคูวา เก็บรวบรวมไว้ที่บ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางพอ ส่วนบ้านตะเครียะมีลำคลองให้ใส่เรือมาเก็บไว้ที่สัดในวันสงกรานต์ ปรากฏว่าได้ข้าวเลียงไม่น้อยกว่า 10 เกวียน แต่ยังไม่พอใช้หนี้ จนต้องจัดงานเทศน์มหาชาติจึงหมดนี้

โรงเรียนประชาบาลตะเครียะ 3 วัดหัวป่าได้งบประมาณมา 600 บาทแต่ต้องใช้งบประมาณจริงถึง 3,000 กว่าบาท เทียบเงินสมัยนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท เสาธงไม้ตะเคียนทองยาว 10 เมตรเศษ ได้มาจากตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขอบคุณภาพบทความ : ต้นฉบับ สมุดบันทึกตาหลวงปลอด วัดหัวป่า จากตอนหนึ่งเฟชบุ๊คของ อ.จรูญ หยูทองขอบคุณเจ้าของเรื่อง ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง