ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในราวปี พ.ศ. 2484 หรือเมื่อ 82 ปีก่อน เครื่องบินของญี่ปุ่น เคยเกิดอุบัติเหตุตกในทุ่งนา ที่ บ.ควนไสน อ.ควนโดน จ.สตูล ( บริเวณทุ่งนาติดป่าสาคู หลังร้านสตูลค้าเหล็กในปัจจุบัน )
ได้รับจากคำบอกเล่าของคุณตาท่านนึงระหว่างนั่งรถเมล์ไปดูงานต่างจังหวัดด้วยกันเมื่อ 23 ปีก่อน ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้ก็จะมีอายุราว 100 ปี
ซึ่งท่านเคยเป็นลูกน้องของทวด หลวงยนตรการกำธร ระหว่างนั้นท่านก็เล่าไปเรื่อยถึงการทำงานทำถนนในยุคนั้นว่ายากลำบากเพียงใด ยังต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ยังเอ่ยถึงชะแลงเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งตรงกับอันที่ตนเองยังเก็บไว้ใช้งานในทุกวันนี้
จนท่านเล่าถึงเรื่องในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าตอนแรกที่ได้ข่าวว่ากองทัพญี่ปุ่นจะเข้ามายังสตูล ชาวบ้านต่างหวาดกลัวจนต้องอพยพครอบครัวหนีเข้าป่าเข้าภูเขาไปอยู่อาศัยกันตามในถ้ำต่างๆ เพราะมีข่าวจากญาติฝั่งมาเลเซียว่าชาวบ้านที่นั่นถูกทหารญี่ปุ่นฆ่าตายไปแล้วหลายหมู่บ้าน ซึ่งจากการประเมินในภายหลัง พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งมาเลเซียราว 4 แสนคน เป็นลักษณะแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปทีละหมู่บ้านในช่วงระยะเวลานึง ก่อนจะหยุดจากข้อตกลงใหม่กับอังกฤษ
และกองทัพญี่ปุ่นจากฝั่งมาเลเซีย ก็เริ่มเดินทัพทางเท้าเข้าสู่ จ.สตูล ผ่านทางถ้ำธรรมชาติ Gua kelam - วังประจัน มีการใช้ถ้ำระหว่างทางหลายแห่งเป็นที่พักเสบียงอาวุธ จนเข้าสู่พื้นที่ เขตในตัวเมือง ก็ได้ใช้คฤหาสถ์กูเด็น หรือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติคฤหาสถ์กูเด็นในปัจจุบัน เป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพ
มีการสร้างหอสื่อสารและหอสังเกตุการณ์บนยอดเขาโต๊ะหยงกง มีการแผ้วทางทุ่งบางพื้นที่เพื่อทำสนามบินชั่วคราว ในหลายแห่งและเมื่อมีความชัดเจนว่าทหารญี่ปุ่นนั้นไม่ทำร้ายคนไทยจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ชาวบ้านจึงออกจากที่พักในถ้ำต่างๆ ย้ายกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติในบ้านเรือน และบางส่วนก็มีการค้าขายสินค้าเกษตรให้กัน
จนถึงวันนึงในฤดูกาลดำนา ซึ่งทั่วทั้งทุ่งนานั้นเป็นโคลนเลนเตรียมปักดำต้นกล้า คุณตาขณะกำลังแบกต้นกล้า ก็ได้เห็นเครื่องบินลำนึงมีควันพวยพุ่งมาแต่ไกล โฉบผ่านเลียบภูเขาควนโดน แล้วค่อยๆร่อนต่ำลง แต่ยังไม่ทันถึงพื้นดิน ก็มีนักบินคนนึงกระโดดลงมาจนกลิ้งหายไปในโคลนเลน ส่วนตัวเครื่องก็กระแทกลื่นไถลไปในทุ่งนาไกลออกไป
คุณตาเห็นว่านักบินคนนั้นยังไม่ตาย ยังตะเกียกตะกายอยู่ในโคลน จึงรีบวิ่งไปช่วยเหลือ ลากตัวมาพักบนคันนา พบว่าขาหักไปข้างนึง ส่วนนักบินอีกคนในเครื่องนั้นก็ปลอดภัย ชาวบ้านอีกหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ต่างก็เข้ามามุงดู
แต่เพียงไม่นานนัก ก็ได้มีรถบรรทุกของกองทัพญี่ปุ่นเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ นำตัวนักบินทั้งสองไป และมีอีกทีมที่ช่วยกันถอดแยกชิ้นส่วนเครื่องบินทั้งลำอย่างรวดเร็ว นำขึ้นรถบรรทุกไป มีชาวบ้านที่แอบเก็บชิ้นส่วนไปบ้างแล้วต้องรีบนำมาคืน
ซึ่งรุ่นของเครื่องบินนั้นไม่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจจะเป็นรุ่นซีโร่ แบบสองที่นั่ง ซึ่งสามารถร่อนได้ในแบบช้าๆต่ำๆ เป็นระยะทางได้ไกล ( แบบตัวอย่างในภาพแรก จากภาพทหารอเมริกันค้นพบบนเกาะปาปัว - นิวกีนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 )
และสอดคล้องกับการค้นพบชิ้นส่วนถังน้ำมันของเครื่องบินญี่ปุ่น บนภูเขาค้อม ด้านหลังวิทยาลัยเกษตรสตูล เมื่อ 2 ปีก่อน ที่เส้นทางนั้นสอดคล้องกับจุดที่เครื่องตกพอดี
ส่วนเรื่องสุดพีคในยุคนั้นอีกเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ทหารญี่ปุ่นหลายคนป่วยสาหัสจนเกือบเสียชีวิต เพราะตอนแรกไปเห็นชาวบ้านนำบอนออดิบมาขายในตลาด เมื่อซื้อไปกินก็ติดใจ
แต่รอบหลังนั้นไปเจอเองตามชายป่า แล้วก็เก็บมาทำอาหาร ปรากฏว่า โดนเข้ากับบอนลาโบ๊ะ ที่มีพิษร้ายแรง ถึงกับสำลักเลือดออกปากมันช่างคุ้นเคยมากๆ กับเหตุการณ์เช่นนี้ บอนลาโบ๊ะ หรือ บอนโหรา
ขอบคุณภาพเจ้าของบทความ : Folk Kamponsak Sassadee
บัวของคนภาคใต้...ที่ไม่ได้หมายถึงดอกบัว
11 พฤษภาคม 2568 | 130ร่องรอยเจดีย์บนเกาะหนู โบราณสถานสำคัญสมัยอาณาจักรอยุธยา
11 พฤษภาคม 2568 | 146ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 432จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 327บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 454ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 352พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 1,115รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 917