สุสานบ้านพรุ หรือ เปรวจีนบ้านพรุ ในชื่อท้องถิ่น เป็นสุสานจีนที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย มีขนาดประมาณ 333 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งห่างจากตัวเมืองชั้นในเทศบาลนครหาดใหญ่ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร สุสานแห่งนี้ประกอบด้วย 2 กรรมสิทธิ์แบ่งเป็นสุสานของมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา จำนวน 211 ไร่ และสุสานของมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง (มูลนิธิมิตรภาพสามัคคี) จำนวน 122 ไร่ ซึ่งมีการใช้แนวรั้วและแนวถนนด้วยกัน แต่มีการจัดการสุสานแยกออกจากกัน
ในอดีตบริเวณพื้นที่สุสานบ้านพรุปัจจุบัน เป็นสวนยางพาราเก่าซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านพรุ จนเมื่อขุนนิพัทธ์จีนนครได้เข้ามาซื้อที่ดิน แล้วบริจาคเป็นสถานที่สำหรับการฌาปนกิจชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในหาดใหญ่ ซึ่งมีมูลเหตุมาจากการสร้างทางรถไฟสายใต้จนเมื่อมาสิ้นสุดบริเวณสถานีชุมทางหาดใหญ่ ซึ่งเป็นชุมทางหลักของภาคใต้ แรงงานชาวจีนส่วนใหญ่จึงเลือกมาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นเป็นชุมชนขนาดเล็ก ในเวลานั้นขุนนิพัทธ์จีนนคร หัวหน้าแรงงานชาวจีน ได้เป็นผู้สร้างถนนนิพัทธ์อุทิศ 1,2,3 ในรูปแบบกริดตารางขนานไปกับสถานีชุมทางหาดใหญ่ทางทิศตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. 2459 ทำให้เกิดการสร้างตึกแถวพาณิชยกรรมตลอดแนวถนนทั้ง 3 สายนี้ อันเป็นการบุกเบิกพัฒนาเมืองหาดใหญ่ที่สำคัญ ทำให้หาดใหญ่กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ในเวลาต่อมา
ขุนนิพัทธ์จีนนครได้ทำการซื้อที่ดินในชุมชนบ้านพรุ เพื่อบริจาคสร้างสุสานแก่ชาวจีนที่เสียชีวิตในหาดใหญ่ จำนวน 180 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยให้มูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถาเป็นผู้ดูแลรักษา ภายในสุสานจึงประกอบด้วยศพชาวจีนทั้งศพไร้ญาติ และศพมีตระกูล โดยศพไร้ญาติจะเป็นการฌาปนกิจในลักษณะการกุศล ส่วนศพมีตระกูลจะเป็นรูปแบบของการขายฮวงซุ้ย ในเวลาต่อทางมูลนิธิก็ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ 31 ไร่ ทางทิศเหนือซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการขายฮวงซุ้ยเพิ่มเติม
ในส่วนกรรมสิทธิ์สุสานมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2511 ต่อเนื่องจากส่วนสุสานมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถไปทางใต้ โดยมีการใช้แนวรั้วและแนวถนนเชื่อมต่อกัน ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสุสานที่มีเจ้าของเพียงรายเดียว สุสานของมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง มีการจัดการที่ค่อนข้างเป็นระบบมากกว่าของมูลนิธิจงฮั่ว จากการวางแถวของฮวงซุ้ยที่มีขนาดกลาง ๆ และขนาดใหญ่วางเป็นแถวชัดเจน แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจของสังคมหาดใหญ่ยุคนั้นที่ชาวจีนประกอบอาชีพจนมีฐานะร่ำรวย มากขึ้นกว่าชาวจีนในช่วงยุคแรก ๆ ที่จะทำฮวงซุ้ยขนาดเล็ก และไม่ตกแต่งป้ายหลุมมาก แม้ว่าภาพรวมมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊งจะเน้นขายฮวงซุ้ยเป็นหลัก แต่ก็มีการฮวงซุ้ยสำหรับศพไร้ญาติ รวมถึงหลุมบรรจุอัฐิไร้ญาติรวมขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าโครงการ
ลักษณะกายภาพบริเวณพื้นที่สุสานบ้านพรุ เป็นที่ราบเชิงเขาของแอ่งหาดใหญ่ โดยมีลักษณะค่อย ๆ ลาดต่ำจากทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นภูเขาเตี้ย ลงไปทางทิศตะวันตกที่เป็นที่ต่ำกว่า จนจดคลองอู่ตะเภา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 13.00 เมตร และสูงสุดประมาณ 56.00 เมตร ด้วยเหตุนี้ทางฝั่งทิศตะวันตกของสุสานจึงเป็นจุดที่สามารถเห็นทัศนียภาพแนวเทือกเขาฝั่งตรงข้ามได้อย่างชัดเจนตามภูมิลักษณะในรูปแบบแอ่ง นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นอาคารสูงจากตัวเมืองหาดใหญ่ชั้นในทางทิศเหนือได้อีกด้วย
ด้วยระยะทางจากสุสานที่ห่างจากคลองอู่ตะเภากว่า 1.85 กิโลเมตร รวมถึงความสูงของภูมิลักาณะบริเวณพื้นที่สุสาน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหลากจากคลองอู่ตะเภา สอดคล้องกับการวางสุสานตามหลักชัยภูมิฮวงจุ้ยที่กล่าวว่าพื้นที่สุสานน้ำต้องไม่ท่วมถึง เนื่องจากจะทำให้ศพในโลงศพเน่าเปื่อยได้ ส่งผลกระทบต่อบรรพชน
บริเวณหลุมศพเก่าในช่วงแรก ๆ ของการเปิดสุสานของมูลนิธิจงฮั่วสงเคราะห์คนชราอนาถา ถือเป็นโซนหนึ่งที่มีรูปแบบของการตกแต่งป้ายหลุมหลากหลายมากที่สุดในภาคใต้ แตกต่างจากในปัจจุบันที่พบว่ามีการทำป้ายหลุมฮวงซุ้ยที่คล้าย ๆ กัน โดยภายในโซนหลุมเก่านี้ประกอบด้วยรูปแบบจีนมีสถูปพุทธ รูปแบบคริสตัง และรูปแบบหลุมหินเรียงก่อ ปัจจุบันหลุมศพเก่าจำนวนหลายหลุมได้ถูกทิ้งร้างและไม่ได้รับการเข้าไปดูแลรักษา
ในปี พ.ศ. 2558 ทางมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊งได้เปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้งานในเชิงกิจกรรมนันทนาการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย โดยทางมูลนิธิมีการจัดสรรเครื่องออกกำลังกาย เครื่องเล่น และลานแอโรบิกไว้รองรับ ซึ่งก็พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาใช้งานในช่วงและช่วงเย็น ทั้งการเล่นฟุตบอล เล่นเครื่องออกำลังกาย เต้นแอโรบิก และวิ่ง สุสานแห่งนี้มีการเปิดไฟในช่วงเย็นจนถึง 20.00 น. นอกจากนี้ในบางโอกาสสุสานแห่งนี้ก็เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเช่นวิ่งมาราธอน หรือปั่นจักรยาน
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 172ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 161ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 169ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 295พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 379ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 412ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 547ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,597