หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เล่าที่มา “วัดสระเต่า” มีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณสระน้ำ
18 กันยายน 2565 | 4,579

จากตำนานและการบอกเล่าของคนในชุมชนได้กล่าวไว้ว่าเดิมทีวัดคูเต่ามีชื่อว่า “วัดสระเต่า” เนื่องจากมีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณสระน้ำของวัดแต่เดิมวัดสระเต่า ตั้งอยู่ตรงข้ามกับป่าช้าหนองหิน เหตุที่ต้องย้ายสถานที่ตั้งวัดก็เพราะว่าบริเวณที่เดิมเป็นที่ราบลุ่มมาก แต่ละปีจะมีน้ำหลากและท่วมวัด พระภิกษุและชาวบ้านต่างพากันเดือดร้อน กอรปกับชุมชนบริเวณนี้มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่และประกอบอาชีพในการทำสวนส้ม เพราะสภาพของดินน้ำอุดมสมบูรณ์

สิ่งที่ชุมชนต้องการมากคือไม้เพื่อเป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับค้ำยันต้นส้ม ยิ่งผลส้มลูกใหญ่ก็ต้องใช้ไม้ค้ำเป็นจำนวนมาก และเมื่อทำสวนส้มกันมากขึ้นไม้ที่นำมาใช้ค้ำยันตามธรรมชาติก็ขาดแคลนลง ชาวบ้านจึงต้องเดินทางไปตัดไม้เสม็ดที่บริเวณทุ่งเกาะไหล การเดินทางและขนไม้ยากลำบาก บางคนเล่าว่าตอนขากลับมักเจอสัตว์ร้ายต่างๆ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเคยมีเสือสมิงทำร้ายพระและเณรมรณภาพมาแล้ว

จากปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจขุดคูทอดยาวไปยังสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบันจึงทำให้เต่าที่เคยอยู่อาศัยที่วัดเดิม ก็เคลื่อนย้ายมาอยู่ที่คูใหม่และวัดก็ได้ชื่อว่า “วัดคูเต่า” ตั้งแต่นั้นมา ผลพลอยได้จากการขุดคูเต่านอกจากจะได้ที่ตั้งวัดใหม่ที่น้ำไม่ท่วมเหมือนที่เดิมแล้วยังทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่งดงามขึ้นอีกด้วย ดังข้อมูลที่สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงบันทึกไว้เมื่อเสด็จ มาถึงเมืองสงขลาในปี ร.ศ. 126 

ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7” ว่าที่ฝั่งตะวันออกท้ายเกาะยอทางตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อคลองอู่ตะเภา ปากคลองกว้างประมาณ 4 วา น้ำลึกประมาณ 2 ศอก ในลำคลอง 2 ฟาก มีต้นไม้เป็นชายเฟือย ต้นเหงือกปลาหมอ ปรงไข่ เป็นต้น ในลำคลองน้ำลึกประมาณ 5-6 ศอก คลองลดเลี้ยวไปประมาณ 100 เส้นเศษ มีสวนมะพร้าว สวนผลไม้ต่างๆ

มีสวนส้มเป็นสวนวิเศษตลอดไปทั้ง 2 ฟากคลองประมาณ 20 สวนเศษ เป็นส้มจุกซึ่งชาวกรุงเรียกส้มตรังกานู สวนเหล่านี้เป็นสวนไทยสักส่วนหนึ่ง สวนจีนสัก 2 ส่วน มีบ้านเรือนตั้งประจำอยู่ที่สวนเป็นอันมาก ในคลองระหว่างสวนส้มนั้นมีวัดแห่งหนึ่งชื่อวัดสระเต่า มีศาลาที่พัก 2 หลัง มีพระสงฆ์ 17 รูป...” อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาจากการขุดคูก็คือตลาดน้ำคูเต่า ซึ่งได้รับการตกทอดมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบันตลาดน้ำในยุคแรกๆ ราวปี พ.ศ. 2299

 ถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่งและรุ่งเรืองสูงสุดในระหว่างปี พ.ศ. 2451 ถึง 2505 ซึ่งมีพระครูสุคนธศีลาจาร (หลวงพ่อหอม ปุญฺญาโน) เป็นเจ้าอาวาสถือเป็นศูนย์กลางตลาดน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดสงขลา แต่ในปัจจุบันตลาดได้ถูกย้ายขึ้นบกเป็นตลาดริมน้ำแล้ว

ขอบคุณภาพข้อมูล : ข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง