หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เปิดที่มาความหมายขนม ประเพณีทำบุญเดือนสิบภาคใต้
11 กันยายน 2565 | 5,122

เรื่องราวความเป็นมา ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าประเพณีทำบุญเดือนสิบ ในภาคใต้มีมาแต่เมื่อใดและเริ่มมีขึ้นที่ไหนก่อน ทราบแต่ว่าเป็นประเพณีที่มีมาช้านานแล้ว และปฏิบัติกันทั่วไปในภาคใต้ เพียงแต่ยิ่งหย่อนต่างกันในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในท้องถิ่นนครศรีธรรมราชมีการปฏิบัติประเพณีนี้กันอย่างจริงจังมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับได้มีการจัดงานรื่นเริงประจำปีที่ยิ่งใหญ่ คือ "งานเดือนสิบ” เคียงคู่กับประเพณีนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 แล้ว จึงทำให้ประเพณีทำบุญเดือนสิบที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่รู้จักและเลื่องลือกันมากกว่าในจังหวัดอื่น

ทำบุญเดือน 10 นี้สันนิษฐานกันว่าเป็นประเพณีที่ได้รับมาจากอินเดียเช่นเดียวกับประเพณีอื่นๆ อีกหลายประเพณี และเนื่องจากนครศรีธรรมราชเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งสำคัญของพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ และมีความเจริญรุ่งเรืองมากในภาคใต้มาแต่อดีต จึงทำให้เชื่อกันว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง ที่มีการรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียแล้วแผ่กระจายไปยังแหล่งอื่น

ทำบุญเดือน 10 เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภาคใต้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า ในปลายเดือน 10 พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีบาปตกนรกอยู่ซึ่งเรียกว่า "เปรต” จะได้รับการปล่อยตัวจากพยายมให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปอยู่เมืองนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจึงจัดให้มีการทำบุญเป็นประเพณีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง กับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง (บางท้องที่ทำในวันแรม 14 ค่ำ) เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องตลอดจนบุคคลอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นสำคัญ เพียงแต่ว่าการทำบุญใน 2 วาระนี้ อาจมีวิถีปฏิบัติยิ่งหย่อนต่างกัน กล่าวคือโดยทั่วไปแล้วจะกระทำกันอย่างจริงจังในวาระหลัง เพราะถือว่ามีความสำคัญกว่าในวาระแรก

ชาวพัทลุงและชาวภาคใต้ทั่วไปเรียกว่า "วันชิงเปรต” หรือ "ประเพณีชิงเปรต” แต่ทางภาคกลางเรียกว่า "วันสาร์ท” หรือ "ประเพณีวันสารทไทย” เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปตชนหรือบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ที่ล่วงลับไปแล้วตามคติความเชื่อของชาวบ้านทั่วไป โดยการทำบุญบริจาคทานถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย

ประเพณีทำบุญเดือน 10 เป็นวันที่ถือคติและความเชื่อที่สืบกันมาว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่า หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข อีกประการหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมทำนา ทำไร่ เป็นอาชีพหลักในช่วงเดือนสิบนี้ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงามและรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุกจึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก

การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้ ได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถือเป็นคติว่าปลายเดือนสิบของแต่ละปีเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ ยังชีพด้วยการเกษตรชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่าในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า "ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญ ต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปไห้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้อง ลูกหลาน ที่ล่วงลับไปโดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัดเรียกว่า "ตั้งเปรต”ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น "การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา
การทำบุญสารทเดือนสิบเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติที่มีต่อบุรพชน อันเป็นค่านิยมที่สำคัญยิ่งของชาวใต้และของคนไทยทั่วไป ชาวภาคใต้จึงรู้สึกว่างานบุญนี้มีความสำคัญมาก เมื่อใกล้ถึงวันทำบุญเดือนสิบทุกครอบครัวต่างก็ตระเตรียมข้าวของให้พร้อมเพื่อการทำบุญ ผู้ที่จากภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่นทั้งใกล้และไกล ก็จะเริ่มกลับสู่ถิ่นใต้บ้านเกิดเมืองนอนของตน 

 ขนม 5 อย่างซึ่งมีความหมายต่อการอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปและถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญสารทเดือนสิบ คือ
1. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับญาติผู้ล่วงลับ ใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติทางพุทธศาสนา

2. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าที่ใช้อุทิศให้เปตชน หรือบางท่านเชื่อว่าเส้นของลาเล็กๆ ทำให้เปรตกินได้ เพราะเชื่อว่าเปรตมีปากเท่ารูเข็ม ขนมลามี 2 ชนิด คือ ลาเช็ดกับลาลอย

3. ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

4. ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย เพราะมีลักษณะกลมเจาะรูตรงกลางคล้ายกับเงินสตางค์ที่มีรูตรงกลาง ซึ่งใช้กันในสมัยก่อน

5. ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้าสำหรับญาติผู้ตายจะได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์มีความหมายใช้แทนเงินเหรียญเพราะมีลักษณะเป็นแผ่นกลมคล้ายเงินเหรียญ
ผู้สูงอายุบางคนกล่าวว่าขนมที่เป็นหัวใจของการจัดหฺมฺรับ มี 6 อย่าง โดยเพิ่มลาลอยมัน

ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนฝูกหมอนเข้าไปด้วย ขนมต่างๆ เหล่านี้เป็นขนมที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่บูดเสียง่ายเหมาะที่จะเป็นเสบียงเลี้ยงสงฆ์ไปได้ตลอดฤดูฝน นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ใช้จัดหฺมฺรับยังมีเครื่องเล่นและของใช้ต่างๆ เครื่องเล่นต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นของพื้นเมือง เช่น นำเอาไม้เถียะ ไม้หยี ไม้ระกำ กระดาษ หรือใบลาน มาทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นก ไก่ ปลา ช้าง ม้า ฯลฯ หรือทำเป็นรูปละครรำ รูปหนังตะลุง หรืออาวุธต่างๆ

หรืออาจจะจัดเป็นกระถางต้นไม้ ดอกไม้ต่างๆ จำพวกของใช้ก็มีหลายอย่าง เช่น กระขอน กระจ่า ตะกร้า ฯลฯ ผู้สูงอายุหลายท่านเล่าว่า เครื่องเล่นต่างๆ ที่นำไปถวายพระในวันสารทโดยวิธีติดหมรับจะต้องพิจารณาให้ถูกกับนิสัยของบุรพชนที่อุทิศให้ เช่น บุรพชนชอบดูละคร ชอบกัดปลา ชอบเล่นไก่ชน ชอบชนวัว ชอบเล่นนกเขา ฯลฯ ก็จัดทำเป็นรูปตุ๊กตานั้นๆ เชื่อว่าผู้จัดจะได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง