หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ และคุณนิคม ปรีชาวีรกุล
8 พฤษภาคม 2565 | 6,448

สำหรับชายผู้นี้แล้ว แทบทั้งชีวิตของคุณนิคม ปรีชาวีรกุล เสกสรรพันผูกกับ โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ (และโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ) อย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มทำการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น เอกสารอนุสรณ์ฉบับนี้ จึงใคร่ขออุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับประวัติความเป็นมาของ โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ และ โรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ  ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่คุณนิคม ปรีชาวีรกุล ได้ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด ในการเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างเยาวชน ให้กล้า ให้แกร่ง ให้เก่ง และให้เป็นคนดี ให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ – ในลักษณะเส้นเวลา ที่ขนานระหว่างชีวิตกับการพัฒนา

โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ (และโรงเรียนกอบกาญจน์ศึกษามูลนิธิ) เป็นโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีน ซึ่งในอดีต ก่อนที่ประเทศไทยจะมีสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่) ดังเช่นในปัจจุบันนั้น การเรียนการสอนภาษาจีน แม้จะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน บ่อยครั้งก็หมิ่นเหม่และเป็นที่เพ่งเล็งในด้านการเมืองการปกครองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศจีนถูกถือว่าเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่มีแนวคิดต่างทิศต่างทางกับประเทศสังคมประชาธิปไตย การเรียนการสอนภาษาจีนจึงไม่สามารถทำได้อย่างเปิดกว้างสง่างาม และโรงเรียนศรีนครมูลนิธิ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนโรงเรียนสอนภาษาจีนที่เคยประสบปัญหาเช่นนั้น

โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ ที่อายุก้าวย่างใกล้ครบร้อยปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ มีประวัติความเป็นมาที่มีการบันทึกส่วนหนึ่งไว้ ดังนี้

พ.ศ. 2467 ท่าน ซีกิมหยง คหบดีเมืองหาดใหญ่ ต้นตระกูล “ฉัยยากุล” ได้อุทิศที่ดินประมาณ 300 ตารางวาบริเวณสี่แยกถนนธรรมนูญวิถีตัดกับถนนเสน่หานุสรณ์ เพื่อจัดตั้งโรงเรียน “จงฝายิฉิน” ซึ่งจะใช้ภาษาจีนเป็นสื่อการสอน

พ.ศ. 2468 โรงเรียน “จงฝายิฉิน” เปิดทำการสอน

พ.ศ. 2477 โรงเรียน “จงฝายิฉิน” ถูกสั่งให้หยุดทำการสอน

พ.ศ. 2478 ท่าน เจียกีซี หรือขุนนิพัทธ์จีนนคร คหบดีเมืองหาดใหญ่ ต้นตระกูล “จิระนคร” ได้ร่วมกับคณะกรรมการ เปิดโรงเรียนขึ้นใหม่

พ.ศ. 2480 เป็นปีเกิดของคุณนิคม ปรีชาวีรกุล

พ.ศ. 2481 โรงเรียนถูกทางการสั่งให้ปิดกิจการอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับโรงเรียนจีนอื่นๆ ทั้งประเทศ

(ประวัติศาสตร์โลกบ่งบอกว่า สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นในทวีปยุโรป

เมื่อปี พ.ศ. 2481 และสิ้นสุดลงในเอเซียเมื่อปี พ.ศ. 2488 ก่อนช่วงดังกล่าวจีน

แผ่นดินใหญ่ไม่สงบเพราะถูกรุกราน และหลังช่วงดังกล่าวก็เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์

ซึ่งประเทศตะวันตก – รวมทั้งไทย – ต่างก็เกรงการถูกครอบงำและรุกราน การศึกษาในโรงเรียนสอนภาษาจีนจึงถูกทางการเพ่งเล็ง)

พ.ศ. 2488 หลังการสิ้นสุดของสงครามมหาเอเชียบูรพา ขณะคุณนิคมมีอายุ 8 ปี คณะศิษย์เก่าโรงเรียนจงฝายิฉิน ได้จัดการให้มีการเรียนการสอนภาคค่ำในชื่อโรงเรียน จงฝาเยี่ยเสี้ยว และต่อมาก็ได้เริ่มทำการเปิดสอนภาคกลางวันตามปกติในนามโรงเรียนจงฝา และช่วงนี้เองที่ท่าน ซีกิมหยง ได้ทำการยกที่ดินแห่งใหม่ซึ่งเป็นสวนผักขนาดกว่า 13 ไร่ ณ บริเวณทางแยกถนนธรรมนูญวิถีตัดกับถนนเทพสงเคราะห์ แทนที่ดินแห่งที่ให้ไว้แต่เดิม ให้แก่สมาคมจีน 5 สมาคม กล่าวคือ สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมสมาคมฮากกา สมาคมไหหลำและสมาคมกว๋องสิว ทั้ง 5 สมาคม ได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพิ่มในบริเวณนั้นในนามของคุณวลี ฉัยยากุล บุตรีของท่านซีกิมหยง และร่วมกันก่อกำเนิดโรงเรียนศรีนคร บนพื้นที่กว่า 17 ไร่ เปิดสอนหลักสูตรของรัฐบาลโดยมีภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศ

คุณนิคม ปรีชาวีรกุล เข้าเรียนที่โรงเรียนศรีนคร จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 แล้วเสียสละ ลาออกไปทำงานเพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียน

พ.ศ. 2493 ขณะทำการโอนที่ดินจากทายาทกองมรดกซีกิมหยง ตัวแทนของสมาคมกว๋องสิว นายสวัสดิ์ วงศ์เจริญ ไม่สามารถลงชื่อรับโอนได้เนื่องจากมีบิดาที่ถือสัญชาติจีน ตัวแทนของสมาคมไหหลำ นายปิติ ชวพงศ์ ก็ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วม คงเหลือแต่ 3 สมาคม คือ สมาคมแต้จิ๋วที่มีผู้แทนคือนายเช็งจือ ลือประเสริฐ สมาคมฮกเกี้ยนที่มีผู้แทนคือนายเอกศักดิ์ องค์สกุล และสมาคมฮากกาที่มีผู้แทนคือนายกี่ จิระนคร บุตรชายขุนนิพัทธ์จีนนคร เจียกีซี เป็นผู้รับโอนที่ดิน

พ.ศ. 2496 โรงเรียนศรีนคร ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ด้วยเหตุผลผิดระเบียบของรัฐบาลในการสอนภาษาต่างประเทศ การถูกสั่งปิดครั้งนี้นับเนิ่นนานกว่าสิบห้าปี กระทั่งเกิดสมาคมศิษย์เก่าศรีนครขึ้นในปี พ.ศ. 2511

พ.ศ. 2511 สมาคมศิษย์เก่าศรีนครที่ก่อตั้งขึ้น ที่มีนายเผชิญ ลีลาภรณ์ เป็นนายกสมาคมฯ นายปิติ ชวพงษ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนศรีนคร ที่ปรึกษาสมาคมฯ สมาชิกศิษย์เก่าฯ (ซึ่งมีคุณนิคม ปรีชาวีรกุล ที่บัดนี้อายุประมาณ 30 เศษแล้วอยู่ร่วมด้วย) ทายาทกองมรดกซีกิมหยง และ 5 สมาคม ได้ร่วมกันผลักดันให้มีการเปิดโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลไม่เห็นชอบที่จะให้โรงเรียนที่ถูกถอนใบอนุญาตแล้วทำการเปิดสอนใหม่

พ.ศ. 2513 คณะกรรมการสมาคมฯ เลี่ยงปัญหา ด้วยการไปซื้อโอนกิจการและใบอนุญาตของโรงเรียนไชยยันต์วิทยา บ้านทุ่งลุง ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ พร้อมย้ายคณะครูและนักเรียนมาเปิดทำการสอนที่หาดใหญ่บนสถานที่ที่มีอยู่ก่อนแล้ว แล้วเปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เป็น โรงเรียนศรีนคร โดยมีนายกี่ จิระนคร ผู้รับโอนที่ดินโดยกฎหมาย เป็นผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน

พ.ศ. 2525 ช่วงก่อนหน้านี้และช่วง พ.ศ.นี้ กระทั่งถึง พ.ศ. 2529 โรงเรียนศรีนครประสบวิกฤตด้านนิติกรรมที่ดินอย่างหนัก บนความไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการมอบที่ดินแปลงนี้ นายกี่ จิระนคร ผู้รับโอนที่ดินตามกฎหมาย ได้แสดงความประสงค์ที่จะมอบที่ดินให้แก่ทางราชการ โดยมีนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นผู้รับมอบ หากแต่ทาง 5 สมาคมจีนได้ทำการคัดค้าน กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอหาดใหญ่ ต้องเข้ามาช่วยสะสางปัญหาด้วยการขอข้อยืนยันเจตนารมณ์จากทายาทซีกิมหยง ในการบริจาคและมอบที่ดิน และโดยมีนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหาดใหญ่ในสมัยนั้น (นายเคร่ง สุวรรณวงศ์) เป็นคนกลางในการพิสูจน์สิทธิปลายเดือนพฤษภาคม

พ.ศ. 2529 ระหว่างที่คุณนิคม ปรีชาวีรกุล เป็นประธาน 13 สมาคมจีนหาดใหญ่ นายกี่ จิระนคร ได้มอบอำนาจให้นายเคร่ง สุวรรณวงศ์ เป็นตัวแทนในการมอบโอนที่ดินโรงเรียนศรีนครให้แก่ 5 สมาคม โดยมีนายอเนก โรจนไพบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเวลานั้นเป็นสักขีพยานและวิกฤตด้านนิติกรรมที่ดินก็สิ้นสุดลง โรงเรียนศรีนครได้เป็นโรงเรียนที่ทำการสอนภาษาจีนต่อมา

กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2559 ที่คุณนิคม ปรีชาวีรกุล ถึงแก่กรรม คุณนิคม ปรีชาวีรกุล ได้เป็นพลังหลักที่สำคัญหนึ่งในการพัฒนาโรงเรียนศรีนคร ให้เป็นโรงเรียนศรีนครมูลนิธิ ในทุกวันนี้

พ.ศ. 2534 กรรมการบริหารโรงเรียนได้นำที่ดินไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิโรงเรียนศรีนครหาดใหญ่ และได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นแทนอาคารเก่าที่ชำรุด โรงเรียนศรีนคร ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ชื่อว่า มูลนิธิโรงเรียนศรีนครหาดใหญ่ บริหารงานโดยคณะกรรมการจาก 5 สมาคมจีนร่วมกับคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าศรีนคร

พ.ศ. 2536 โรงเรียนศรีนคร ได้รับบริจาคจากมูลนิธิโรงเรียนศรีนครและจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสร้างหอประชุม

พ.ศ. 2539 โรงเรียนได้รับบริจาคจากมูลนิธิโรงเรียนศรีนครและจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น

พ.ศ. 2546 โรงเรียนได้รับบริจาคจากมูลนิธิโรงเรียนศรีนครและจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน 5 ชั้น และห้องสำนักงาน

พ.ศ. 2550 โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ”

พ.ศ. 2551 นายกังส์แสง ศรีสวัสดิ์นุภาพ ที่ปรึกษาชมรมสมาคมและมูลนิธิหาดใหญ่ ได้บริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคาร “หอสมุดกังส์แสง” เพื่อใช้เป็นห้องสมุด สำหรับนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงจำนวน 1 หลัง และมูลนิธิโรงเรียนศรีนครหาดใหญ่และผู้มีจิตศรัทธาทั้งในและต่างประเทศ ได้บริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนอีก 1 หลัง

พ.ศ. 2555 ได้ขยายชั้นเรียน โดยเปิดการสอนไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

พ.ศ. 2556 มูลนิธิโรงเรียนศรีนครหาดใหญ่ ได้จัดซื้อที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 28 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนค่าก่อสร้างอาคาร “ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน” จำนวน 35 ล้านบาท จากนายกำพล เย็นใจชน นายกสมาคมกว๋องสิวหาดใหญ่

ปัจจุบัน พ.ศ. 2560 โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ ที่บริหารงานโดยมูลนิธิโรงเรียนศรีนครหาดใหญ่ มี ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย ปรีชาวีรกุล บุตรชายคนโตของคุณนิคม ปรีชาวีรกุล เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต และโดยมีนางสุภาณี สวาทะสุข เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนฯ

ขอบคุณข้อมูลบทความ : โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง