หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

"วราภรณ์"ทายาทผู้สืบสานงานโนราสายตระกูลโนราเติม วิน วาด ถึง 4 ชั่วคน
30 มีนาคม 2565 | 6,831

หากเราจะกล่าวถึงศิลปินโนราหญิงในยุคสมัยแรกๆที่โด่งดังและมีชื่อเสียงไปทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราชและหลายจังหวัดในภาคใต้ ก็จะต้องเป็นโนราหญิงคู่นี้ โนราหนูวิน - โนราหนูวาด เมืองนครศรีธรรมราช บุตรีของโนราห์วันเฒ่า เมืองนครศรีธรรมราช ชื่อเสียงโด่งดังขนาดที่จังหวัดตรังต้องรับขันหมากให้ไปประชันขันแข่งกับคณะโนรา ตุ้ง-เติม โนราห์ชื่อดังแห่งจังหวัดตรัง การแข่งขันหลายสิบครั้งผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะมาโดยตลอด

ทาง หาดใหญ่โฟกัส มีโอกาสได้สัมภาษณ์ทายาทผู้สืบสานงานโนราสายตระกูลโนราเติม วิน วาด กับเธอผู้นี้ ครูแต้ว “วราภรณ์ อ๋องเซ่ง”  (ครูแต้ว)  การศึกษา ระดับปริญญาตรี  สาขาการจัดการทั่วไป  วิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) 

- ทายาทผู้สืบสานงานโนราสายตระกูลโนราเติม วิน วาด
- ประธานกลุ่มรักษ์-โนรา ตำบลคูเต่า พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด 
- เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา
- เจ้าของและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มีชีวิต “พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด”

ช่วยเล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ

- ครอบครัวเราเป็นศิลปินโนราพื้นบ้านที่มีการสืบทอดกันมา 4 ชั่วคน ปู่ ตา พ่อ แม่ ลูก  เหลน ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ของพี่ต่างก็เป็นศิลปินโนราพื้นบ้านระดับนายโรงที่มีชื่อเสียงในอดีต

ฝ่ายพ่อ ปู่ของพี่คือ “โนราตั้ง” เป็นโนราฟากฝั่งเมืองตรัง  ปู่มีลูกชาย 3 คน ท่านฝึกให้แสดงโนราทั้ง 3 คน  พ่อของพี่ “โนราเติม เมืองตรัง” เป็นลูกชายคนโต  ต่อมาทั่งปู่และน้องชายทั้งสองของพ่อคือ “โนราตุ้ง” และ “โนราเคียง” เสียชึวิตลง เหลือพ่อคนเดียวก็ตั้งคณะที่ใช้ชื่อว่า “คณะโนราเติม” เป็นโนราทีมีพรสวรรค์ในด้านการขับกลอนมุตโตหรือกลอนสดการพัฒนารูปแบบการแสดงโนราสู่สากลหลายอย่าง ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจังหวัดตรัง  

ฝ่ายแม่ พ่อแก่หรือตาของพี่ คือ “โนราวันเฒ่า”  เป็นศิลปินโนราฟากฝั่งเมืองนครศรีธรรมราช  มีลูกสาว 2 คน คือ หนูวิน และหนูวาด   และด้วยเหตุที่พ่อแก่ไม่มีลูกผู้ชายสืบทอดโนรา  ทำให้ต้องฝึกลูกสาวทั้งสองให้สืบทอดโนรา เริ่มจากการตีเครื่องดนตรีโนราก่อนจนสามารถแยกแยะจังหวะดนตรีโนราได้ก็ให้ฝึกรำ หลังฝึกจนชำนาญก็ประกอบพิธีกรรมให้ลูกทั้งสองมาสืบทอดโนรา  3 คนพ่อลูกออกแสดงโนราด้วยกัน  พอลูกโตเป็นสาวก็ใช้ชื่อว่า “โนราหนูวิน โนราหนูวาด”

เป็นโนราผู้หญิงยุคแรกๆที่ได้ประกอบพิธีกรรมโนราที่เป็นโนราหญิงสมบูรณ์แบบ มีความโดดเด่นเรื่องการแสดงโนรา การร้องรำทำบทที่โนราวันเฒ่าฝึกสอนให้  มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก   สมัยก่อนโนราผู้หญิงจะไม่ได้รับการยอมรับจากโนราชาย โนราหญิงจึงมีน้อยมาก โนราหญิง และมักจะถูกระทำคุณไสยทำให้แสดงได้ไม่นานก็มีอันต้องเลิกราไป  ส่วนแม่ทั้งสองของพี่ท่านมีพ่อเป็นโนราผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีความรู้ด้านคาถาอาคมทำให้ปกป้องแม่ทั้งสองไว้ จนสามารถแสดงโนรามาได้อย่างยาวนาน    หลังลูกทั้งสองโตเป็นสาวก็ออกแสดงโนราพร้อมกันสามคนพ่อลูกชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช

พ่อ (โนราเติม) ชื่อเสียงโด่งดังที่จังหวัดตรัง แม่ (โนราหนูวิน โนราหนูวาด) โด่งดังไปทั่วเมืองนครศรีธรรมราช แข่งขันกับโนราคณะใดได้รับชัยชนะตลอดมาจนหาคู่แข่งขันในจังหวัดของตนเองได้ยาก  จึงได้มีการคิดริเริ่มให้นำเอาโนราทั้งสองคณะมาแข่งขันประชันโรงกัน   ซึ่งผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ  มีการแข่งขันประชันโรงกันกว่า 100 ครั้ง  จนต่อมาโนราเติมได้ครองคู่กับโนราหนูวิน โนราหนูวาด จึงได้ตั้งคณะใหม่รวมกันใช้ชื่อคณะว่า “มโนราห์เติม วิน วาด”  ดังบทกลอนมุตโตหรือกลอนสดของโนราเติมที่ปรากฏในเทปอักเสียง ซึ่งพ่อได้ขับกลอนไว้ช่วงหนึ่งว่า “...แข่งร้อยโรงกว่าแข่งมาแข่งไป ไม่เท่าใดพ่อพลาดฉันเอาน้องวาดวิน...”

หลังรวมคณะเป็นคณะมโนราห์เติม วิน วาด  ชื่อเสียงของคณะโด่งดังไปทั่ว 14 หัวเมืองใต้  กรุงเทพมหานครและประเทศมาเลเซีย  พ่อได้เริ่มจัดสวนสนุกด้วยตนเอง เริ่มรับหนังตะลุงมาแสดงด้วยกัน  โดยแสดงกันคนละครึ่งคืน  โนราแสดงก่อน  หลังเที่ยงคืนหนังตะลุงแสดงต่อจนรุ่งสาง ทำให้ชาวบ้านที่มาชมเดินทางกลับบ้านช่องได้สะดวกเพราะยุคสมัยก่อนถนนหนทางไม่มีไฟฟ้าการเดินทางกลับบ้านไม่สะดวก

ชาวบ้านบางส่วนเดินเท้าจากบ้านมาหลายชั่วโมงหรือเกือบครึ่งวันเพื่อมาดูโนราเติม เรียกว่าโนราในดวงใจของคนใต้ในยุคสมัยนั้น   จนต่อมาพ่อได้มีการพัฒนาโนราในยุคสมัยที่โนรามีคู่แข่งขันคือ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์กลางแปลง ลิเกจากภาคกลาง  โดยพ่อได้มีการพัฒนาในหลายๆเรื่อง  เช่น การประพันธ์นวนิยายแล้วนำมาใช้ในการแสดงและแต่งกายแสดงนวนิยายตามยุคสมัย   การนำเอาบทร้องเพลงเกี้ยวพาราสีระหว่างพ่อเอกกับนางเอกโดยใช้ดนตรีที่ใช้ในการแสดงโนรามาบรรเลง  มีการแต่งเครื่องแต่งกายในช่วงของการแสดงนิยายโดยใช้ชุดสูทและชุดทันสมัยไปใช้ในการแสดงที่เป็นเรื่องราว  ที่โดดเด่นมากคือพ่อเองเปลี่ยนชุดโนรามาเป็นชุดสูทเพื่อใช้สวมใส่ในช่วงที่นายโรงออกแสดงขับกลอนสด และโต้กับพราน   ซึ่งพรานคู่ใจของพ่อคือ “พรานแมง” เป็นช่วงแสดงที่ผู้ชมชอบมาก 

พี่มีโอกาสได้สืบสานต่อยังไง

ก่อนพี่จะมาสืบทอดโนราของตระกูล  ผู้สืบทอดก่อนหน้านี้คือแม่หนูวินหรือ “โนราหนูวิน”  การสืบทอดของที่บ้านไม่ได้มีการตั้งคณะโนรา  แต่จะใช้การสืบทอดโดยการตั้งที่สิบสองไหว้ครูหมอโนราตายายทุกวันอังคารแรกของเดือนที่ไม่ตรงกับวันพระ  แต่ถ้าตรงกับวันพระก็ให้ทำในวันอังคารถัดไป  ซึ่งทำสืบทอดกันมานานแล้ว   หลังจากแม่หนูวินท่านชราภาพมากแล้วประกอบกับท่านมีอาการเจ็บป่วยจนต้องไปรักษาตัวกับลูกสาวคนเล็กของท่านที่จังหวัดนนทบุรี  ครอบครัวจึงจำเป็นต้องหาผู้มาสืบทอดทำหน้าที่แทน  แม่หนูวินและพี่น้องของพี่ทั้งลูกแม่หนูวินและลูกๆแม่หนูวาดก็ได้ตกลงกันให้พี่เป็นผู้มาสืบทอดแทน  ด้วยเหตุผลที่ชอบการรำโนรา ชอบการแต่งกลอนมาตั้งแต่เด็กๆ   

ออกจากราชการที่ทำมา 27 ปี เพื่อสืบทอดโนราอย่างเต็มที่

ช่วงที่มีรับสืบทอดโนราพี่ยังรับราชการที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับราชการมาแล้ว 26 ปี  พอปี พ.ศ.2547  อายุพี่ 47 ปี  อายุราชการ 27 ปีก็มีเหตุให้ต้องขอลาออกจากราชการเพื่อมาสืบทอดโนราเต็มที่  เพราะอุปสรรคในการรับราชการไปพร้อมๆกับการสืบทอดโนราทำได้ยาก พี่จึงเลือกเส้นทางมาสืบสานงานโนราแทนแล้วขอลาออกจากราชการในโครงการ “ขอเกษียณก่อนอายุราชการ”  แล้วมาฝึกมาทบทวนแสดงโนราจากแม่หนูวินอีกครั้งหนึ่ง แล้วไปฝึกเพิ่มเติมต่อจากลุงยก “โนรายก ชูบัว” ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อแก่ของพี่ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา

ซึ่งท่านเคยฝึกให้ตั้งแต่พี่รับราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี  ฝึกและทบทวนกันอยู่นานพอสมควร  ต่อมาแม่หนูวินก็ทำพิธีสืบทอดโนราให้ที่บ้านพักของท่าน ทำพิธีครอบเทริดและมอบชุดโนราให้  ต่อมาลุงยกก็ได้มาทำพิธีให้ที่ “บ้านสืบสานตำนานโนราเติม วิน วาด” ซึ่งปัจจุบันคือ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต “พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด” ในปัจจุบัน   ต่อมาก็มีชาวบ้านที่ตำบลคูเต่า ซึ่งบ้านพักของพี่หลังขอลาออกจากราชการที่นั่น  ได้ยกขันมาขอติดต่อให้ไปช่วยฝึกสอนให้ลูกหลานของชาวตำบลคูเต่า  นั่นคือจุดเริ่มต้นที่พี่ได้สืบสานโนราเต็มตัว ทั้งการบูชาครูหมอโนราตายายตามขนบประเพณีที่สืบทอดกันมา  ที้งการถ่ายทอดโนราให้กับเด็กๆ  นับถึงปัจจุบันถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ รวม 18 ปี  สร้างเยาวชนโนราในชื่อ “กลุ่มรักษ์โนรา”  รวม 6 กลุ่ม จำนวนประมาณร้อยกว่าคน  กลุ่มโนราเยาวชนปัจจุบันคือ “กลุ่มรักษ์โนรา ตำบลคูเต่า”  กลุ่มนี้ฝึกมาปีนี้ย่างเข้าปีที่ 11 แล้วค่ะ

เราได้ใช้ศาสตร์เหล่านี้มาต่อยอดมากน้อยแค่ไหน มีการเปิดสอนเรียนอย่างไร

เหมือนที่บอกว่าศิลป์และศาสตร์ของการแสดงโนรา การสืบทอดโนรา เกิดจากความผูกพันที่เกิดจากสายเลือดที่มีอยุ่ในตัวเรา  มันจะเกิดขึ้นกับลูกหลานบางคนไม่ได้ทุกคน  พ่อแม่ก็ปล่อยให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการดู การฟัง การแสดงที่เราเห็นมาตั้งแต่เริ่มจำความได้จนพ่อแม่จากไป จนคณะยุติบทบาทการแสดงไป  ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความชอบ ความศรัทธา ผู้ที่เข้ามาสืบทอดโนราเชื่อมาว่าได้ถูกครูหมอโนราตายายหรือเบื้องบนได้กำหนดไว้แล้ว ไม่มีใครจะเข้าสืบทอดโดยสมัครตัวเข้ามาทำตรงนี้ได้   พี่ได้นำศิลปะการแสดงโนรามาต่อยอดและพัฒนาชุดการแสดงโนราขึ้นมาใหม่ด้วยเหตุ ที่ต้นสายตระกูลของพี่ฝ่ายพ่อเป็นศิลปินโนราเมืองตรัง  ต้นสายตระกูลโนราของฝ่ายแม่เป็นศิลปินโนราเมืองนครศรีธรรมราช   

พี่จึงได้พัฒนาท่ารำโดยนำเอาท่ารำของทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่มาผสมผสานกัน  โดยเน้นท่ารำโนราโบราณของฝ่ายแม่ที่แม่เคยแสดงไว้เป็นหลัก  เพราะฝ่ายแม่โดดเด่นทางการร้องรำทำบท  ส่วนฝ่ายพ่อของนำท่ารำของพ่อบางท่า  ท่าของโนราจังหวัดตรังท่าสำคัญๆบางท่า  รวมถึงการแต่งบทกลอนโดยใช้แนวทางการแต่งกลอนของพ่อมาประพันธ์บทกลอนใหม่ใช้ในการแสดงของเด็กๆ  บางช่วงบางตอนก็นำเอาบทกลอนที่โดดเด่นและไพเราะของพ่อเข้ามาประพันธ์ร่วมกันกับกลอนที่แต่งขึ้นใหม่  ใช้ในการแสดงโนราของเยาวชนโนราที่ฝึกสอนตลอดมา  การแสดงชุดใหม่ที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวจึงมีรูปแบบที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มที่พี่ฝึกสอนค่ะ

เล่าถึงความภาคภูมิใจของมโนราห์ครอบครัวของตนให้ฟังหน่อยหน่อยค่ะ

 ต้องบอกว่าภาคภูมิใจทั้งความสามารถในด้านการแสดงโนราของพ่อแม่มาก  การพัฒนาโนราโดยยังคงรักษารูปแบบการแสดงโนราไว้อย่างครบถ้วน ส่วนหนึ่งทำให้โนรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างฐานะ สร้างหลักปักฐานได้  โนราที่เคยถูกมองจากพวกเต้นกินรำกิน เริ่มได้รับการยอมรับ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ได้รับการยอมรับจากสาธารณะชนมากขึ้น  การพัฒนารูปแบบโนราในยุคสมัยนั้นพ่อก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากมายแต่พ่อไม่เคยโต้ตอบ  เป็นศิลปินที่มีความโอบอ้อมอารี  ความเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นในสิ่งที่คิดว่าดีงามแล้วทำต่อไปแม้จะต้องได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายท่านก็ผ่านไปจนได้   

นอกจากนี้ยังภาคภูมิใจในการบริหารจัดการคณะของพ่อเอง  ปฏิบัติตนในฐานะนายโรง และในฐานะโนราที่มีชื่อเสียง  ทราบกันโดยทั่วไปว่าพ่อมีพรสวรรค์ มีความโดดเด่นมากเรื่องการขับกลอนมุตโตหรือกลอนสด ซึ่งพ่อมีปฏิภาณตรงนี้  จนมีผู้กล่าวถึงท่านว่า “ศิลปินโนราผู้มองเห็นแสงสว่างแห่งทางกลอน  ยอดโนรามุตโต  หรือโนราเติมคือโนราของประชาชน”  การนำเอานวนิยายมาแสดง  การยกพื้นเวทีให้สูงขึ้นในยุคที่ท่านมีชื่อเสียงจากเวทีบนพื้นดินเป็นการยกเวทีให้สูงขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านได้มองเห็นการแสดงอย่างทั่วถึง  การนำเอาเครื่องปั่นไฟฟ้า ไฟฟ้ามาใช้บนเวทีการแสดง  ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงการแสดงการแสดงจากกลางวันเป็นกลางคืนเพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องทิ้งนา ทิ้งไร่มาดูโนรา  อีกทั้งอากาศในช่วงกลางคืนยังเย็นสบายดีกว่า    ประทับใจที่พ่อที่มีความนอบน้อมถ่อมตน  ให้เกียรติยกย่องผู้อื่นเสมอแม้คู่แข่งขันประชันโรงด้วย   

การปกครองดูแลลูกน้องทุกคนเท่าเทียมกันเสมือนหนึ่งญาติพี่น้อง   รายได้จากการแสดงพ่อส่วนหนึ่งหลังจากหักค่าตอบแทนลูกน้องๆและเพื่อการทำงานของพ่อแล้วพ่อจะทำบุญให้กับวัดวาอาราม  การจัดสร้างโรงเรียน  โรงพัก  สมาคมต่างๆ  ดังปรากฏในบทกลอนมุตโตที่พ่อขับไว้เป็นหลักฐานมากมายหลายวาระ  นั่นทำให้พี่ได้รู้ถึงความเป็นตัวตนของพ่อแม่และชาวคณะมโนราห์เติม วิน วาดว่า อาชีพโนราของท่านสร้างคุณูปการไว้กับสาธารณชนอย่างมากมาย  ได้มาแล้วก็รู้จักแบ่งปันให้สังคม  นั่นทำให้ท่านมีชื่อเสียงและเป็นที่รักและศรัทธาของทั้งศิลปินพื้นบ้านด้วยกัน เพราะชั่วชีวิตของพ่อได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนทั้งโนราและหนังตะลุง รับมาแข่งขัน รับมาแสดงโนราด้วยกัน มอบค่าตอบแทนให้อย่างยุติธรรม 

ศิลปินพื้นบ้านในยุคสมัยก่อนที่พ่อรับมาแสดงด้วยกันคือลุงกั้น “หนังกั้น ทองหล่อ”  จนชาวบ้านชื่นชอบ ถ้ามีการแสดงของ “โนราเติม ตรัง หนังกั้นสงขลา” เมื่อไหร่ชาวบ้านก็จะชอบ ทั้งสองคณะมีชื่อเสียงมากจนมีวลีทองกล่าวถึงสองท่านไว้ว่า “หนังสงขลา โนราตรัง”  หนังตะลุงดังต้องหนังกั้นสงขลา  โนราที่ดังต้องโนราเติม มาจากจังหวัดตรัง”     จากผลงานและคุณงามความดีที่พ่อแม่ได้เคยสร้างสรรค์ไว้ในอดีต ทำให้พ่อและแม่ในนามคณะ “มโนราห์เติม วิน วาด” ยังคงเป็นที่รักและศรัทธาของศิลปินพื้นบ้านและชาวบ้านไปทั่วภาคใต้  กว่าจะได้รับการยอมรับในเรื่องเหตุของความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบการแสดงโนราเพื่อให้โนราได้ดำรงคงอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พ่อต้องผ่านคำวิพากษ์วิจารณ์อะไรมามากมายจริงๆ  ซึ่งมีบทกลอนมุตโตของพ่อได้ขับไว้ว่า

“คนแต่แรกเขานินทาว่าโนรากับหนัง ว่าตอนหลังจะต้องวกตกภลำ
คนเต้นกินรำกินเขาว่าศิลป์ต่ำ เติมขอนำให้ก้าวหน้าถึงอนาคต
กันปากคนนินทาว่าเติมชั่ว ต้องทำตัวแล้วทำให้ถูกกำหนด
ไม่ใช้เติมพูดโมหรือโป้ปด ผมจำจด้สิ้นคนนินทา
ว่าพวกกินใต้แชงแหลงใต้ไม้ พวกนั้นไร้การนึกการศึกษา
ไม่มีโค มีควาย มีไร่นา ไม่มีเคหาพักผ่อนนอนตาย...”

จากบทกลอนของโนราเติมบทนี้ได้ขับไว้จากประสบการณ์ที่ศิลปินโนราถูกมองว่าเป็นพวกเต้นกินรำกินมาก่อน  คงเป็นเหตุให้พ่อมีแรงบันดาลใจมุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนาโนราในหลายๆด้าน รวมถึงการสร้างรายได้โดยการจัดสวนสนุกขึ้นเพื่อหารายได้โดยพึ่งพาตนเอง จนมาถึงจุดหนึ่งที่โนรายืนหยัดอยู่ได้อย่างทุกวันนี้

โนราเติม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2514  ขณะอายุได้ 56 ปี  ด้วยผลงานที่โนราเติมได้สร้างสรรค์ไว้ในอดีตอย่างมากมายจนเป็นที่ยอมรับ   โนราเติมได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “บรูพศิลปิน”  เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2559   หลังจากท่านได้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 45 ปี   นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าแม้โนราเติมได้จากไปนานแล้ว แต่ผลงานและความดีงามของท่านยังคงอยู่กับภาคใต้กับประเทศไทยชองเราเสมอมา

ทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องโนรา เช่นอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงโนราอย่างไรบ้าง ความคาดหวังในอนาคต

-โนราถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง  เป็นมรดกทางการแสดง  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้  ของประเทศไทย  จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564  ยูเนสโก หรือ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ 'โนรา' หรือ 'มโนราห์' ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นที่นิยมของคนในภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ  ถือเป็นความงดงามทางวัฒนธรรมของชาติเรา   

กว่าศิลปะการแสดงโนราจะงดงามมาถึงทุกวันนี้  ศิลปินโนรายุคก่อนๆ ท่านได้ทุ่มเทเสียสละ  มีความศรัทธาสืบทอดกันมายาวนานมาก  ทุกคนจึงควรภาคภูมิใจและธำรงรักษาไว้ให้ดีงามต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน   และผู้ที่ชื่นชอบที่จะเข้ามาสืบทอดร่วมกันตรงนี้ให้สืบทอดกันอย่างจริงจังและด้วยความศรัทธาเพื่อให้ “โนรา” ได้มีการสืบทอดต่อไปจากรุ่นไปสู่รุ่นอย่างไม่ขาดสายต่อไป

ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ลูกหลาน ลูกศิษย์โนราอาชีพพื้นบ้าน โนราในสถาบันการศึกษา และผู้สืบทอดทุกกลุ่ม ทุกท่านที่ยังคงสืบสานโนราของบรรพชนอยู่ให้ทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไปอย่างเข้มแข็ง  โดยเฉพาะในการสืบทอดของลูกหลาน ลูกศิษย์บางท่านที่แม้จะมีความยุ่งยากลำบาก  เพราะต้องบริหารจัดการด้วยตัวเองอย่างมากมาย ให้ถือว่าเป็นขนบธรรมเนียมที่เราจะต้องสืบสานและปฏิบัติให้ดีงามและปฏิบัติอย่างตั้งใจต่อไป  เพราะโนราคือความงดงามทางการแสดง  และมีความศักดิ์สิทธิ์  เป็นความเร้นลับที่ยากจะหยั่งถึง  การปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงามครูหมอโนราตายายจะอยู่คอยปกป้องในการทำความดี การกระทำที่ถูกต้องเสมอค่ะ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง