หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

อ.ธรรมนิตย์ 40 ปีกับการสอนมโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้
24 มีนาคม 2565 | 7,835

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora) ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งโนรานับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยลำดับที่ 3 ต่อจากโขน (พ.ศ.2561) และ นวดไทย (พ.ศ.2562) เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างมโนรากับอาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ผู้อยู่กับแวดวงการแสดงมโนรามามากกว่า 40 ปี อาจารย์ได้บ่มเพาะวิชาและเผยแพร่การสอนโนราให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่เพื่อต่อยอดและรักษาศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้คงอยู่ตลอดไป

ชื่อ-นามสกุลประวัติทั่วไป

- ชื่อนายธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ครับ อายุ 63 ปี เป็นชาวอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลานะครับ จบการศึกษาระดับประถม และมัธยมจาก โรงเรียน มณาทวี และนาทวีวิทยาคม แล้วก็มาศึกษาระดับปวส.ต้นที่ วิทยาลัยครูสงขลา เรียนต่อปริญญาตรีที่ มศว. สงขลา และปริญญาโททางด้าน นาฏศิลป์ไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครูสอนที่โรงเรียน วัดใสประดู่ ที่จังหวัดพัทลุงเมื่อ พ.ศ.2521 แล้วก็ พ.ศ. 2525 สอนที่โรงเรียนบ้านกระทิง อำเภอนาทวี 2534 สอนที่สาธิตสถาบันราชภัฏสงขลา และ ปี2540 สอนที่ สาขานาฏศิลป์และการละคร สถาบันราชภัฏสงขลา จนปี 2546 มาอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณจนถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการรำมโนรา และความชื่นชอบในการแสดง

- เหตุผลที่ชอบศิลปะการแสดงมโนราอันดับแรกคือ ชอบในการร้อง ๆ รำ ๆ ตามลักษณะนิสัยของตนเองในอดีตก่อน อันดับที่ 2 ก็แม่ครับ พาไปดูโนราโรงครู ที่เขาทรงบรรพบุรุษของโนราในอดีต ชอบบ้างกลัวบ้างในที่สุด ได้เห็นอาจารย์สาโรชไปออกรายการช่อง 10 หาดใหญ่ ในอดีตก็ชื่นชอบเลยอยากจะรำโนราให้เป็น แต่ว่าไม่เคยฝึกหัดมาฝึกหัดครั้งแรกที่วิทยาลัยครูสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2519 ตอนนั้นตอนนั้นอยู่ในระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้วก็เรียนโนราอยู่กับอาจารย์สาโรช 1 ปีครับ แล้วอาจารย์สาโรชก็พาไปรำในงานโนราบันเทิงทั่ว ๆ ไป ครับ นั้นครั้งแรกครับ

รำมโนรามากี่ปีแล้ว เป็นอาจารย์สอนมโนรามากี่ปีแล้ว

- รำโนราตั้งแต่ 2519 จนถึง 2565 นี้น่าจะ 40 กว่าปีแล้วครับ ถ้าสอนโนราจริง ๆ ที่เป็นครูสอน ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 นี้ก็ 2565 ก็ประมาณ 40 ปีครับที่เป็นครู สอนมโนราระดับประถม มัธยม อุดมศึกษาสอนมาทุกระดับและจนถึง นานาชาติครับ

ประเภทของโนรา และความแตกต่างในการฝึกซ้อม

- ศิลปะการแสดงโนราโดยทั่ว ๆ ไป ของภาคใต้นะครับ ก็จะมีอยู่ 2 ประเภท ก็คือการแสดงโนราโรงครูและการแสดงโนราบันเทิง การแสดงโนราโรงครูก็คือการแสดงประกอบพิธีกรรม โนราบันเทิงก็คือการแสดงโนราเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งโอกาสในการแสดงก็จะแตกต่างกันออกไปนะครับ

การฝึกหัดกว่าจะเป็นโนราต้องผ่านอะไรบ้าง

- อันดับแรกถ้าการฝึกหัดโดยปกติแล้วนะครับในอดีต เราจะฝึกหัดผ่านทางสถาบันครอบครัว คือถ้าพ่อแม่เป็นโนรา ลุงป้าน้าอาก็จะถ่ายทอดให้กับลูกหลาน เพราะฉะนั้นความใกล้ชิด ความสนิทสนม การได้ติดตาม ครู พ่อแม่ ลุงป้าน้าอาที่ไปแสดงโนราประกอบอาชีพนั้นก็เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่จะทำให้การฝึกและเรียนรู้ได้รวดเร็ว และอันดับ 2 ถ้าหากว่าเรามาฝึกในสถาบันการศึกษาซึ่งในปัจจุบันโนราก็มีการสืบทอดได้หลากหลายรูปแบบสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งก็มีแนวทางในการสอน ในอดีตเวลาจะเรียนโนรานะครับ ต้องมีครูหรือพ่อแม่เป็นผู้ฝึกหัดก่อนที่เราอาจจะฝึกร้องแล้วให้รำตาม จนเชี่ยวชาญ ที่นี้มาฝึกร้องและรำในบทต่าง ๆ แล้วก็ร่วมฝึกบรรเลงดนตรีประกอบไปด้วย โดยอาศัยการได้ร่วมกิจกรรม การเลียนแบบและการฝึกเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อครูหรือพ่อแม่เห็นว่า มีความชื่นชอบ แต่พอมาในโรงเรียนสถาบันการศึกษาก็จะมีแนวทางในการสอนอยู่ เช่น อาจจะมีหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรในการอบรมหรือหลักสูตรที่ต้องเรียนต่อเนื่องกัน ถ้าในการจะรำโนราในการจะฝึก อันดับแรกนะครับเราจะต้องมีความรู้เรื่องของโนรามาก่อน เช่น รู้ว่าโนราคืออะไร ประวัติความเป็นมาเป็นยังไง มีท่ารำอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ รู้จักดนตรี รู้จักจังหวะ พอเราเรียนรู้ตรงนี้ในเบื้องต้นแล้วก็มาฝึกทักษะ

สเน่ห์ของการแสดงโนรา

- ท่ารำของโนราก็จะมีเสน่ห์ตรงที่ว่ามีท่ารำที่พลิกแพลงแตกต่าง มีทั้งพิธีกรรม สวยงาม โลดโผนทำให้คนชื่นชอบตื่นตาตื่นใจ และการแสดงทุกครั้ง ต้องใช้นักดนตรีบรรเลงสดเพราะฉะนั้นเสียงดนตรีมันจะมีเสน่ห์ของความเป็นศิลปินท้องถิ่นความภาคภูมิใจในความเป็นคนภาคใต้ที่แสดงออกมาทั้งดนตรีที่บรรเลงออกมาด้วยความสนุกสนาน เสียงร้องที่เป็นสำเนียงของคนภาคใต้นี้คือเสน่ห์ที่ทำให้คนที่ชมโนราว่า อ๋อ นี้คือความเป็นศิลปะของคนภาคใต้ และคนที่ร่วมบรรเลงดนตรีกับคนที่รำนั้นก็จะมีความสุขเนื่องจากว่าได้ทำงานร่วมกัน เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งคือโนราเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อเคารพบูชาบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นการอบรมสั่งสอนให้คนมีความกตัญญูกตเวทีมันจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เป็นกุศโลบาย ที่จะสร้างความรักสมัครสมาน สามัคคีภายในครอบครัวภายในสายตระกูล

การประยุกต์มโนรากับบริบทแวดล้อมของคนยุคใหม่

- ยุคใหม่ในอดีตกับยุคใหม่ในปัจจุบันก็จะซึมซับและนำโนราไปถ่ายทอดอยู่สม่ำเสมอเช่น ถ้าเป็นดนตรีก็จะมีดนตรีเพลงลูกทุ่ง เพื่อชีวิต ก็จะมีสำเนียงโนราเข้าไปผสมผสานนั้นคือการประยุกต์ดัดแปลง หรือว่าการแต่งกาย หรือว่าพวกศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ เขาก็ดึงเอาความมีศิลปะโนรานำไปใช้ เพราะฉะนั้นถ้าคนรุ่นใหม่เขาเข้าใจโนราเขาก็สามารถดึงเอาภูมิปัญญาที่มันมีคุณค่านั้นไปใช้ และในขณะเดียวกันคนที่เป็นศิลปินโนราที่อยู่ในยุคใหม่นั้นเขาก็จะใช้ความทันสมัยของเทคโนโลยียุคใหม่มาช่วย ในการแสดงของโนราเช่นการลงคลิปการแสดงโนราใน Youtube สร้างเพจ Facebook หรือ TikTok ก็จะทำให้คนยุคใหม่ซึมซับศิลปะการแสดงโนรา

อยากฝากอะไรเกี่ยวกับผู้สนใจการแสดงโนรา

- ในปัจจุบันศิลปินโนรามีวิธีการในการถ่ายทอดการแสดงมากมายหลายทางให้เห็นถึงความสวยงามและความน่าสนใจเพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนนั้นลองดูศิลปะการแสดงโนรานั้นผ่านสื่อทุกประเภทและการแสดงจริงในชุมชนนะครับ ทดลองยืนดูสัก 1 นาที หรือ 5 นาทีก็จะเห็นความมีคุณค่าของศิลปะโนรา

ช่องทางการติดตามเรื่องมโนรา : Facebook : ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomrat
ขอบคุณภาพ : นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา / Sart Noro Kru Thummanit Nikomrat

เรื่องที่เกี่ยวข้อง