หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

บ่อฆ้องวัดพระสิงห์ (พุทธสิหิงส์) ตามตำนานวันดีคืนดี จะมีเสียงฆ้องดังขึ้นจากบ่อลูกนี้
28 พฤศจิกายน 2564 | 5,715

ออกเดินทางอีกครั้งกับตำนานที่ได้ยิน เพียงแค่อยากไปเห็นกับตาเท่านั้น เราจึงเดินทางไปวัดพระสิงห์ (ร้าง) ในปัจจุบัน อยู่หมู่ที่ 4 บ.พังตำเสา ต.บ่อดาน อ.สทิงพระ จ.สงขลา สภาพของที่ตั้งเป็นโคกหรือเนินดินสูงที่รายล้อมไปด้วยทุ่งนา มีต้นสำโรงและต้นมะม่วงคันขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณเขตวัด (ใครที่อยากดูต้นสำโรงก็สามารถที่จะมาดูได้ในบริเวณวัด) มีเยอะมาก

 

ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 40 เมตร มีบ่อน้ำโบราณรูปทรงกลม 1 บ่อ ชาวบ้านในละแวกนี้เรียกกันว่า บ่อฆ้อง เนื่องจากวันดีคืนดีก็จะได้ยินเสียงฆ้องดังขึ้นมาจากบ่อแห่งนี้ นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อกันว่าภายในบ่อฆ้องแห่งนี้ยังมีทรัพย์สมบัติของปู่ย่าตายายฝังอยู่ สภาพของบ่อฆ้องในปัจจุบันได้ถูกขุดขยายให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นและบริเวณรอบๆ ยังคงพบเศษเครื่องถ้วยหลากหลายรูปแบบปรากฏให้เห็น

 

ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนบ่อฆ้องยังไม่ได้ดูดีขนาดนี้ ยังคงเป็นบ่อน้ำปกติทั่วไป เป็นหลุมเล็ก ๆ ที่มีน้ำขังอยู่แต่ภายในเพิ่งมีการบูรณะทำประตูรั้วและก่อปูนรอบ ๆ พื้นที่ ปัจจุบันมีขนาดกว้างและใหญ่ขึ้น ส่วนน้ำที่เราเห้นมากในขณะนั้น ชาวบ้านบอกว่าตอนนี้น้ำขึ้นเยอะ แต่มาบางช่วงน้ำก็จะลดลงไปจะเห็นตัวบ่อชัดเจน

 โดยเฉพาะในการสำรวจคราวนั้นผมบังเอิญได้พบเม็ดลูกปัดลักษณะเป็นหินแก้วหลอมสีฟ้าใสลักษณะเหมือนๆ กับที่มีการพบโดยทั่วไปในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จำนวน 1 เม็ด ที่บริเวณริมขอบบ่อฆ้องแห่งนี้ด้วย ลักษณะของเม็ดลูกปัดก็สำหรับในทางทิศใต้ของวัดพบว่ามีพัง (ตระพัง) ขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ 1 พัง 

ในพื้นที่ของวัดพระสิงห์(ร้าง) แห่งนี้ นอกจากจะพบว่ามีพระพุทธสิหิงค์แล้ว ชัยวุฒิ พิยะกูล ยังได้กล่าวไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 6 หน้า 2401 สรุปความได้ว่า เคยมีผู้ขุดพบลูกนิมิตทำด้วยหิน กระปุกใส่กระดูก พระพุทธรูปปูนปั้น 1 องค์ (ชำรุด) ชิ้นส่วนของปล้องไฉนเจดีย์ซึ่งทำจากหินปะการังเป็นรูปทรงกลมมีรูกลวงตรงกลางจำนวนหลายชิ้น

และสำหรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบก็คือ พระนารายณ์จำหลักหิน ซึ่งเป็นรูปเคารพอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลักษณะประทับยืน มี 4 กร พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงถือคทา (กระบอง) พระหัตถ์ขวาล่างทรงถือภู (ก้อนดิน) พระหัตถ์ซ้ายบนทรงถือสังข์ และพระหัตถ์ขวาบนทรงถือจักร ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ในส่วนของพระเศียรทรงสวมมงกุฏทรงกระบอก ผ้าทรงยาวถึงพระชงฆ์ ดูคล้ายโธตีของอินเดีย เครื่องประดับมีเพียงกุณฑลกลมใหญ่ที่พระกรรณทั้ง ๒ เพียงคู่เดียว พระบาททั้ง ๒ ขาดหายไป ซึ่งนักโบราณคดีได้กำหนดอายุของพระนารายณ์องค์นี้ไว้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งจากหลักฐานที่พบนี้น่าเป็นไปได้ว่าบริเวณนี้อาจจะเคยเป็นศาสนสถานอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์มาก่อนก็ได้

จนถึงเวลานี้แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ได้มากนัก แต่อย่างน้อยๆ ก็พอจะได้เค้ารอยบางประการว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดโบราณที่เคยประดิษฐานอยู่ในบริเวณชุมชนโบราณสทิงพระมาก่อน หากใครอยากจะลองไปสัมผัสบ่อฆ้องแห่งนี้ด้วยตนเองก็สามารถเดินทางไปได้ทุก ๆ วัน  ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ.พังตำเสา ต.บ่อดาน อ.สทิงพระ จ.สงขลา

ขอบคุณข้อมูล : ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง