หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ประวัติต้นสกุล "ดิษยะศริน" หาดใหญ่ ครอบครัวแห่งการศึกษาอย่างแท้จริง
19 กันยายน 2564 | 10,599

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับนามสกุล ดิษยะศริน ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติชีวิตและงานของ ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนในเครือหาดใหญ่อำนวยวิทย์และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่ายิ่งแก่การศึกษาเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลัง ใคร่ขอย้อนอดีตและกล่าวถึงสายรากของตระกูล "ดิษยะศริน" ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เพื่อฉาย ภาพให้ เห็นถึงความเป็นมาและความเป็นไปอย่างกระจ่าง และเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจในลำดับชั้นของวงศ์ตระกูลตามสมควร

เนื่องด้วยตระกูล "ดิษยะศริน" ได้สืบเชื้อสายมาหลายยุคสมัย กว่าจะถึงลำดับชั้นของท่านอาจารย์ประณีต ลูกๆ และน้องสาวคนเล็กของท่านอาจารย์ คือ อาจารย์ลักขณา ดิษยะศริน (ตะเวทิกุล) ซึ่งได้ตั้งโรงเรียนในกรุงเทพฯ ชื่อ ดิ  อเมริกัน ออฟ แบงค็อก ที่สุขุมวิทและที่บางนา ตระกูลดิษยะศรินนั้น มีความเชื่อมโยง และเกี่ยวข้อง กันอย่างแนบแน่นกับบรรพบุรุษในรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการดำเนินกิจการสถานการศึกษา ซึ่งนับเป็นผลผลิตแห่งความสำเร็จ ที่ผ่าน การซึมซับ สั่งสม และสืบทอด ต่อๆ กันมาด้วยความวิริยะ จนกระทั่งได้รับการขนานนามจากประชาคมในแวดวงการศึกษาว่า ตระกูล "ดิษยะศริน" เป็น "ครอบครัว แห่งการศึกษา" โดยแท้ จึงเห็น สมควรที่จะได้มีการสืบค้นและบันทึกเรื่องราวของบรรพบุรุษไว้โดยลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตามความที่สืบค้นได้ ปรากฏ รายละเอียดเกี่ยวกับต้นสกุล "ดิษยะศริน" ดังนี้


  
นับย้อนไปในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุลให้แก่คนไทย เมื่อ ปี พ.ศ.2456 เป็นต้นมา คนไทยก็ได้เริ่มมีการใช้นามสกุลต่อท้ายชื่อมาตั้งแต่คราวนั้น ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริว่าบุคคลทุกคน จำต้องมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้นามสกุล


เป็นหลักของการสืบเชื้อสาย ก่อให้เกิดความเป็นหมู่คณะ ให้เจ้าของนามสกุลสำนึกในความชั่วความดี และปฏิบัติดีเพื่อรักษาเกียรติแห่งนามสกุล ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ได้พระราชทานชื่อสกุล ให้แก่ข้าราชการ พ่อค้า ที่ขอพระราชทานชื่อสกุล โดยเรียกว่านามสกุล มีนามสกุลพระราชทานจำนวนทั้งหมด6,432 นามสกุล
  
โดยเฉพาะนามสกุลพระราชทานนั้น พระราชทานให้แก่ใครเมื่อใด เขียนเป็นอักษรไทยและอักษรโรมันว่าอย่างไร ทรงทำทะเบียนไว้หมดทุกนามสกุล และนามสกุลพระราชทานนี้ จะมีปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาอย่างชัดเจนทุกนามสกุล หนึ่งในจำนวนนามสกุลพระราชทานที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไปนี้ก็คือนามสกุล "ดิษยะศริน"

จากเอกสาร "ทะเบียนนามสกุลที่เราได้ให้ไป" ลงพระนามย่อ "วชิราวุธ" รวมถึงเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พงศาวดารนามสกุลพระราชทาน อักขรานุกรมนามสกุลพระราชทาน กำเนิดนามสกุล เป็นต้น ได้ให้ข้อมูลอันเป็นเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับนามสกุล “ดิษยะศริน” ไว้สอดคล้องกัน หากแต่มี การอธิบาย ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมไว้มากน้อยผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง รวมความทั้งหมดทั้งสิ้นประมวลได้ดังนี้

ชื่อสกุล "ดิษยะศริน" ปรากฏอยู่ในลำดับที่ตามสมุดทะเบียนคือ 1389
นามสกุล  "ดิษยศริน"  อักษรโรมัน ว่า  "Tishyasarin"
ยศบรรดาศักดิ์   นายร้อยเอก  นามเดิม  นายโต๊ะ
ตำแหน่ง   ผู้บังคับกองร้อยที่ 2  กองพันที่ 1  กรมทหารราบที่ 11  รักษาพระองค์
หมายเหตุ  บุตรหลวงญาณประกาศ  (ดิศ)
วันที่ลงในใบพระราชทานนามสกุล  คือ  27 เมษายน พ.ศ.2457

(นายร้อยเอก  นายโต๊ะ  สังกัดกระทรวงกระลาโหม ในสมัยนั้น) หมายเหตุ : ราชกิจจานุเบกษา  ครั้งที่ 17  ประกาศ  วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2457 ลงว่า " ดิษยะศริน "

   

จากเนื้อความที่ปรากฏในทะเบียนนามสกุล รวมถึงหมายเหตุที่ปรากฏเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา ทำให้พอที่จะเข้าใจได้ว่า ต้นแบบอันเป็นที่มา ของการสะกดนามสกุลพระราชทาน "ดิษยศริน" ว่า "ดิษยะศริน" นี้ น่าจะมีการยึดถือและสืบทอดต่อมา จากรายชื่อนามสกุลที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ครั้งนั้น และก็นับได้ว่า นายร้อยเอก นายโต๊ะ  ดิษยศริน บุตรหลวงญาณประกาศ (ดิศ) คือต้นสกุล  " ดิษยะศริน" ที่นับเนื่องสืบมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2457 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
  
เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏและจากคำบอกเล่าของ พล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ชีวประวัติ พล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน นับว่าสอดคล้องกัน โดยท่านได้เล่าไว้ว่า คุณปู่ของท่านชื่อ ร.อ.โต๊ะ  ดิษยศริน  บุตรหลวงญาณประกาศ โดยเฉพาะนามสกุล "ดิษยะศริน" นั้นเป็น นามสกุลที่ได้รับพระราชทาน จากรัชกาลที่ 6 ครอบครัว “ดิษยะศริน” รองอำมาตย์ตรี ดัด  ดิษยะศริน รุ่นที่ 1 ผู้ริเริ่ม อาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน  รุ่นที่ 2 สู่ความรุ่งโรจน์ทางการศึกษา

ท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศริน  รุ่นที่ 3 สืบทอดและพัฒนา ชีวประวัติของท่านรองอำมาตย์ตรีดัด  ดิษยะศริน เท่าที่สืบค้นและพบข้อมูลปรากฏอยู่เพียงเล็กน้อย ในหนังสือชีวประวัติ พล.อ.อ.ประหยัด ดิษยะศริน มีรายละเอียดมีดังนี้ รองอำมาตย์ตรีดัด  ดิษยะศริน เป็นสหชาติในรัชกาลที่ 6 กล่าวคือ เป็นผู้ที่เกิดในวัน เดือน ปี เดียวกันกับพระองค์ท่าน นอกจากนี้ ท่านรองอำมาตย์ตรีดัด ยังเป็นผู้สำเร็จการศึกษาโรงเรียนกฎหมายเนติบัณฑิตแห่งประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งขึ้นเป็นรุ่นแรก”
   

ข้อมูลที่ พล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน ได้เล่าไว้มีนัยประโยชน์สำคัญที่แฝงอยู่ ก็คือ ทำให้สามารถที่จะระบุได้อย่างชัดเจนว่า ท่านรองอำมาตย์ตรีดัด  ดิษยะศริน ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2423 ซึ่งต่อมาท่านได้สมรสกับคุณทวดเชย  ดิษยะศริน มีบุตรและธิดา จำนวนทั้งสิ้น 8 คน และหนึ่งในจำนวนพี่น้อง ท้องเดียวกัน ก็คือ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน ซึ่งเป็นคุณพ่อของท่านอาจารย์ประณีต  ดิษยะศรินในเวลาต่อมา

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน เดิมชื่อ ประทุม  ดิษยะศริน เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2457 (ปีเดียวกับที่มีการพระราชทานนามสกุล) ณ จังหวัดปทุมธานี ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของท่านรองอำมาตย์ตรีดัด และคุณทวดเชย  ดิษยะศริน เกี่ยวกับชื่อ “ประทุม” ของท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน นั้น พล.อ.อ.ประหยัด  ดิษยะศริน ได้เล่าไว้เป็นเกร็ดความรู้แก่อนุชนรุ่นหลังว่า
 

"หลังจากที่คุณพ่อย้ายมาอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี คุณแม่ก็ตั้งท้องลูกขึ้นมาเป็นคนที่สามเมื่อถึงกำหนดคลอด คุณแม่ก็คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย คุณพ่อให้ชื่อว่า "ประทุม" ภายหลังจาก จอมพล  ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ปกครองประเทศให้ก้าวหน้าและทันสมัยกับอารยะประเทศ มีการชักชวนให้คนไทยตื่นตัว รักชาติ ฟื้นฟูวัฒนธรรมทุกด้านหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า "รัฐนิยม" พี่ชายผมชื่อ "ประทุม" จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ประดิษฐ์"  การศึกษาในวัยเยาว์ของท่านอาจารย์ประดิษฐ์  ดิษยะศริน ท่านศึกษาที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8
  

ขอบคุณข้อมูล : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง