หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ข้อสังเกตุจากผังเมืองซิงฆอร์ (Singor) คำอธิบายผังเมือง Singor (ซิงฆอร์)
25 กรกฎาคม 2564 | 5,463

หลังจากที่ทางหาดใหญ่โฟกัส ได้นำเสนอเรื่องราวของ ภาพสงขลาที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว สภาพภูมิศาสตร์ของนครซิงฆอรา ณ หัวเขาแดง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี 1617 ในสัปดาห์ก่อน วันนี้จึงมีอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าติดตามไม่แพ้กัน ของ ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน โดยบันทึกถึงเรื่องราวข้อสังเกตุจากผังเมืองซิงฆอร์ (Singor)

ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน  ได้กล่าวไว้ว่าคราวที่ไปศึกษาแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาในปี 2529 ผมได้มีโอกาสไปขอความรู้จากท่านอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (ศาสตราจารย์) แห่งสถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นจังหวะดีได้เห็นภาพถ่ายสำเนาแผนที่ขนาดใหญ่ที่ท่านเพิ่งได้รับมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติใหม่ๆ เป็นผังเมืองโบราณที่ฝรั่งเศสเคยทำไว้ และท่านได้กรุณาถ่ายสำเนาให้ผม 1 ชุด

พอกลับถึงกรุงเทพผมก็รีบไปหารุ่นพี่ที่เคยสนิทสนมกันตั้งแต่ยังเป็นนิสิต เวลานั้นท่านเป็นอาจารย์ในแผนกวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์แล้ว ชื่อของท่านก่อนถึงแก่กรรมก็คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.แพรวโพยม บุณยะผลึก ขอร้องให้ท่านช่วยแปลข้อความทั้งหมดที่ปรากฏบนผังเมืองสงขลาและพัทลุง ครั้นพี่แพรวโพยมเห็นต้นฉบับก็ร้องลั่น บอกแปลไม่ได้หรอก นี่มันเป็นภาษาโบราณมาก แต่ก็โชคดีที่ตอนนั้นมีอาจารย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งรัฐบาลของเขาส่งมาช่วยสอนที่คณะ พี่แพรวโพยมจึงนำไปขอให้เขาช่วย

ซึ่งข้อข้อความที่วิศวกร De Lamar เขียนขึ้นเมื่อสามร้อยปีก่อน จึงถูกแปลมาเป็นภาษาฝรั่งเศสปัจจุบันโดยอาจารย์ Oliver Guitton และอาจารย์ Pie Pierre สองคนช่วยกัน แล้วพี่แพรวโพยมจึงแปลเป็นภาษาไทยให้กับทางผมอีกทีหนึ่ง มีความดังนี้

คำอธิบายผังเมือง Singor (ซิงฆอร์) 

A เมืองเก่าด้านชายฝั่งทะเลได้เคยถูกน้ำท่วมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และเมื่อ 8 ปีก่อนถูกคนของพระเจ้ากรุงสยามยกมาล้อม

a หมู่บ้านของชาวฮอลันดาซึ่งถูกทำลายและถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

b เมืองใหม่

c ร่องน้ำลึกเก่าซึ่งสังเกตว่าตื้นเขินหมดแล้ว

d เขา rouge (แดง)

e เขา bosenje

f สันดอนซึ่งเป็นทรายดูด

g กองโคลน

s กองโคลนอีกกองหนึ่งซึ่งจะโผล่เวลาน้ำลง

h ร่องน้ำแห่งใหม่

k ร่องน้ำซึ่งกว้าง เนื้อที่ระหว่างเส้นประ2เส้น

l หมู่บ้านบ่อยาง Boyan

m เกาะ chat (แมว)

n เกาะ rat (หนู)

x หินโสโครกที่โผล่พ้นน้ำ

t ปลายหินโสโครก

o หมู่บ้านบนเกาะ Jes

q สวนผลไม้แห่ง peinres

r แม่น้ำซึ่งไหลไปใกล้เคดะห์ (Guida )

u ทางผ่านไปยังพัทลุง (Bourdelun)

หน้า 2

ในบริเวณนี้มีแต่ลมตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ต้องระมัดระวัง เพราะลมทั้งสองมักเป็นลมพายุ ดังนั้นจึงไม่ควรเผลอเรอที่ต้องทอดสมอไว้ในตำแหน่งที่เขียนตัว Y ไว้ในอ่าว เพื่อกำบังลมและจะได้ไม่ต้องตกใจ ที่อื่นนอกจากร่องน้ำลึกนั้นไม่ค่อยจะดี เรือที่ทอดสมออย่างดีอาจจะเสี่ยงจอดได้สองสามคืนในช่วงอากาศดีหรือในฤดูที่ไม่มีพายุ แต่ก็ทอดสมอได้เพียง 3 จุดที่กำหนดไว้ เพื่อจะได้เตรียมออกเรือเข้าไปในอ่าว Y เป็นที่ซึ่งมีน้ำลึก 19 ปิยส์ ในยามน้ำลง ได้วัดตำแหน่งอื่นในขณะน้ำลงไว้ด้วย (ประโยคสุดท้ายอ่านไม่รู้เรื่อง)

หมายเหตุของผู้แปล : มาตราส่วนวัดระยะทางของฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตามกำหนดของราชสภา Chatelet de Parist 1ตัวส์ (toise) เท่ากับ 6 เปิยส์ (pieds = foot)..

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเอกสารนี้ก็คือ

1. ชื่อเมือง ที่ฝรั่งเศสสมัยนั้นเขียนว่า (Singor) น่าจะมาจากภาษาที่มลายูรับมาจากอินเดียอีกที คือคำว่าสิงขร หรือ สิงขระ (Singora) ซึ่งแปลว่าภูเขา และเขาดังกล่าวนี้คือเขาแดงนั่นเอง แม้เดอ ลามาร์ยังเขียนด้วยการแปลทับศัพท์ตรงๆว่าภูเขาสีแดงด้วยซ้ำ ผมชอบใจมากที่กลุ่มนิเวศวิทยาวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเรียกเมืองโบราณหัวเขาแดงนี้ว่า ซิงฆอรา จึงขออนุญาตนำมาใช้ด้วย

แม้ว่าต่อมาคำนี้ได้เพี้ยนไปเป็น สงขรา และ สงขลา ก็ตาม รากเหง้าก็ต้องมาจากคำที่ผู้สร้างเมืองเรียกภูเขาในภาษาของเขา ไม่ใช่ว่ามาจากคำว่าสิงห์ แล้วกลายมาเป็นสิงหนคร อันเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นแทนกิ่งอำเภอเขาแดงดั้งเดิม

2. ที่ตั้งครั้งแรกของเมืองนี้ หรือเมืองที่สุลต่านสุไลมานเป็นเจ้าครอบครองอยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททองนั้น ตามแผนผังของเดอ ลามาร์ ก็เป็นทะเลไปกว่าครึ่งแล้ว แต่ทรากป้อมทรากกำแพงคงยังเห็นได้ชัด จากบันทึกเขียนไว้ว่า เมืองดังกล่าวเคยมีพายุใหญ่พัดพาคลื่นยักษ์นำน้ำมาท่วมทำลายเมือง

นี่แม้จะสามร้อยกว่าปีมาแล้ว คนในเมืองสงขลาก็ไม่ควรประมาทว่ามันจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ยุคนี้ดูว่าโลกจะวิปริตชอบกลทั้งธรรมชาติและจิตใจของมนุษย์

3. เมืองใหม่ที่สุลต่านมุสตาฟาผู้บุตรสร้างขึ้นและตั้งรับกองทัพสยามในสมัยพระนารายน์นั้น อยู่ด้านในเข้ามาโดยใช้แนวกำแพงด้านในเดิมของเมืองเก่า เป็นกำแพงด้านหน้าติดทะเลของเมืองใหม่ สภาพตามผังเมืองยังเห็นได้ชัดเจนในคราวเมื่อผมไปเดินสำรวจ เวลานั้นยังสมบูรณ์แบบมากหากจะนำไปใช้ในการทำแผนอนุรักษ์เมืองซิงฆอราที่ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม น่าเสียดายความพยายามของคนรุ่นผมได้ผลบ้าง แต่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

บริเวณใกล้ๆกับที่เดอ ลามาร์ เขียนว่าเป็นหมู่บ้านของชาวฮอลันดาซึ่งถูกทำลายเพราะโดนน้ำท่วมนั้น เคยมีบริเวณที่เป็นสุสานอยู่ไม่ไกลจากทะเล ผมมีเวลาถ่ายภาพหลุมฝังศพหลงเหลืออยู่ไว้ได้เพียงสองสามหลุม จากบันทึกที่ว่ามี ๒๒ หลุม น่าเสียดายทั้งที่มีหลักฐานการขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว แต่ที่ดินผืนนั้นกลับกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ปัจจุบันเปลี่ยนสภาพไปหมดสิ้น

4. ผังเมือง Singor ของ มงเซียร์ เดอ ลามาร์ เป็น Engineering Drawing ที่ไม่ใช่ภาพเขียนในเชิงจิตรกรรม เพราะมีการวัดระยะต่างๆถูกต้องตามมาตราส่วนในทุกมิติ มีความละเอียดน่าทึ่งว่าชายหนุ่มในวัยเบญจเพศตัวคนเดียวในสมัยโน้นกระทำได้อย่างไร ดูจะฉลาดและเก่งเกินที่สามารถเขียนขอบเขตรูปร่างของแผ่นดิน ภูเขาและแนวชายฝั่ง เหมือนกับมี Google Earth อยู่ในมือ การวัดความลึกร่องน้ำในช่วงเวลาน้ำลงเพื่อกำหนดจุดที่เรือใหญ่ควรทอดสมอนั้น เป็นวิธีการเดียวกับชาวญี่ปุ่นที่มาหากินเป็นอิสระอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลของไทยในช่วงก่อนสงครามโลกได้กระทำ เพื่อส่งข้อมูลให้ต้นสังกัดกำหนดแผนปฏิบัติในเช้าของวันยกพลขึ้นบก

5.ได้ทราบจากคุณสามารถ ซาเล็มว่า ได้รับข้อมูลจากรุ่นพี่ว่ามีเอกสารบันทึกส่วนตัวของเดอ ลามาร์อยู่ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงทหารเรือ ของฝรั่งเศส นักวิชาการไทยน่าจะสนใจ เพราะเขาคงเขียนอะไรเกี่ยวกับสยามในสมัยอยุธยาไว้ไม่น้อย กรมศิลปากรหากยังไม่มี ก็น่าจะขอความร่วมมือจากสถานทูตไทย เพื่อติดต่อขอทำสำเนานั้นมา

เรื่องราวทั้งหมดถือเป็นเรื่องราวที่ดี เหมาะแก่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ที่พร้อมส่งต่อความรู้ให้แก่ลูกหลานชาวจังหวัดสงขลาได้เรียนรู้ และสืบค้นข้อมูล ผ่านการบันทึกของ ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ครั้งต่อไปใน หาดใหญ่โฟกัส จะนำเสนอเรื่องใดอีก นักอ่านเรื่องราวเก่าแก่ของหาดใหญ่ หรือประวัติศาสตร์ต้องห้ามพลาดกันนะคะ

ขอบคุณภาพข้อมูล :  ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง