หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เปิดประวัติ 19 หมู่บ้าน ในจังหวัดสงขลา
11 เมษายน 2564 | 7,847

สงขลาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่ติดต่อกับรัฐเคดาห์ (โทรบุรี) ของมาเลเซีย เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่ สําคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้มาแต่สมัยโบราณ มีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย อีกทั้งมีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาและการละเล่นพื้นเมืองที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษตกทอดให้ชนรุ่นหลังให้ติดมามากมาย สงขลามีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นทรายทะเล น้ําตก ทะเลสาบและมีทรัพยากร ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ในใน ฮาเภอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการค้า การคมมาคม และเป็นชุมทางขนส่งที่เด็บโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันที่อําเภอเมืองสงขลายังคงมีสภาพบ้านเมืองที่เก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ สงขลาจึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสมกับการท่องเที่ยว เพราะมีลักษณะที่แยกต่างกันในตัวถึง 2  ลักษณะคือ สภาพเก่าแก่ของบ้านเมืองสงขลาและความเจริญของเมืองหาดใหญ่ ด้วยระยะทางห่างกันประมาณ 20 กิโลเมตร

จังหวัดสงขลามีพื้นที่ประมาณ 7,300  ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยอำเภอเมืองสงขลา อําเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อําเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อําเภอควนเนียง อําเภอรัตภูมิ อําเภอบางแก้ว อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม  อำเภอจะนะ อาเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อําเภอสะเดา และอําเภอคลองหอยโข่ง วันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักของแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดสงขลากัน 

บ้านคลองแดน

บ้านคลองแดน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลงใหลในธรรมชาติของชุมชมแห่งนี้ สายน้ำที่หลั่งไหลมาทั้ง 3สายคืออำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา หล่อหลอมรวมกันเป็นวิถีชีวิตของผู้คนจนเป็นที่มาของคำว่า” สามคลอง สองเมือง”

บ้านเขาใน

บ้านเขาใน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ ตำนานเล่าขานกันว่ามีนายแรงตนหนึ่งได้หาบภูเขาไปไว้ที่จังหวัดพัทลุงเพื่อให้ภูเขาครบจำนวน 100 ลูก ด้วยความมุมานะของนายแรงหาบมาได้แล้วจำนวน 98 ลูก เหลือเพียงภูเขา 2 ลูกสุดท้าย ด้วยความโชคร้ายพอนายแรงหาบผ่านมาทางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าไม้คันหาบหัก ภูเขาลูกแรกตกลงบนพื้นที่ของหมู่บ้านซึ่งอยู่ด้านในต่อมาจึงเรียกว่า”ภูเขาใน” ซึ่งภาษาท้องถิ่นทางภาคใต้เรียกภูเขาว่า “เขา” ต่อมาก็มีชาวบ้านอพยพมาอยู่อาศัยรอบ ๆ ภูเขา จึงตั้งชื่อเรียกขานหมู่บ้านว่า “บ้านเขาใน” ในขณะที่ภูเขาตกจากคันหาบนั้นมีบางส่วนของภูเขาได้แตกออกและกระจายไปซึ่งบริเวณนั้นเรียกว่า “หัวเขานุ้ย” และ “หัวเขาเนียน” ตั้งอยู่ทางใต้ของภูเขาในซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 100 เมตร ส่วนภูเขาอีกลูกหนึ่งตกลงบนพื้นที่ของอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งต่อมาเรียกว่า “บ้านรัดปูน” (ภูเขามีรูปร่างเหมือนหม้อใส่ปูนกินหมากของคนสมัยก่อน)

บ้านกระดังงา

บ้านกระดังงา ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ เล่ากันว่าในอดีตเคยเป็นชุมชนของผู้อพยพที่ย้ายถิ่นมาจากหนองมวงพร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมีวัดทองพันชั่งกับวัดโคกเนียนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ในยุคต่อมาขาดพระสงฆ์ดูแล กอรปกับชุมชนได้ไปตั้งวัดขึ้นใหม่คือวัด “วัดพังตำเสา” เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำของชุมชนที่เรียกกันว่า “พังเสา” ภายในวัดเจ้าอาวาสได้ปลูกต้นกระดังงาไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมามีเจ้าอาวาสซึ่งได้รับสมณศักดิ์เป็นจางวางได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่และได้สร้างสะพานข้ามพรุนา ซึ่งทำด้วยไม้เคี่ยมยาวประมาณ 500 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ในสมัยนั้นชาวบ้านไม่ได้เรียกว่าสะพาะแต่จะเรียกว่า “ดานนา” แต่พอนานเข้าคำว่า “ดานนา” ก็เพื้อนเป็น “ดังงา” และต่อมาเพื่อมให้เหมาะสมกับสภาพภายในวัดและหมู่บ้านเลยเปลี่ยนจากวัดพังตำเสาเป็นวัดกระดังงา และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกระดังงา”

บ้านดอนทิง

บ้านดอนทิง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่าสมัยก่อนชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่สูงน้ำจากระดับมากมาประกอบกับมีป่าไม้ปกคลุมหนาแน่นจึงได้เรียกว่าชุมชนแห่งนี้ว่า “ดอน” ซึ่งหมายถึงที่โคกสูง ภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำอยู่ 5 แห่ง แต่ละแห่งในฤดูฝนจะมีน้ำเต็มตลอด ซึ่งมักจะมีกระทิงมาลงเล่นน้ำอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านเลยตั้งชื่อหนองน้ำเหล่านี้ว่า “หนองทิง” พอถึงหน้าแล้งกระทิงก็จะอพยพไปและจะย้อนกลับมาอีกในฤดูน้ำหลาก ในสมัยต่อมาเมื่อชุมชนเริ่มหนาแน่นมีผู้คนอพยพมาอาศัยมากขึ้นเหล่ากระทิงก็ค่อย ๆ หายไป และต่อมาก็ไม่มีใครเห็นกระทิงอีกเลย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ดอนกระทิง”

บ้านสวนทุเรียน

บ้านสวนทุเรียน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่ง ด้วยพื้นที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้เกาะยอเป็นแหล่งค้าขายทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่คราครั้งอดีต ประกอบกับด้วยบรรยากาศของชายฝั่งทะเลผสมผสานกับธรรมชาติรอบ ๆ เกาะเป็นที่ดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวให้มาเยือน ความงามของธรรมชาติที่ผสมผสานกับวิถีทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานของเกาะยอทำให้ชุมชนบ้านสวนทุเรียนมีเรื่องราวเล่าให้ผู้มาเยือนมิรู้จบ โดยเฉพาะในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งล้วนมีอุดมสมบูรณ์เฉพาะอย่างยิ่งไม้ผล อาทิ จำปาดะ ซึ่งปลูกที่นี้ที่แรกผู้ที่นำมาคือท่านพระยาวิเชียรคีรี เจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้น และที่มีการปลูกกันมากก็คือทุเรียน ต่อมาจึงได้เรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านสวนทุเรียน”

บ้านท่าไทร
บ้านท่าไทร ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ด้วยพื้นที่ตั้งเป็นเกาะขนาดเล็กบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ด้วยความงดงามของธรรมชาติและวิถีทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานทำให้ชุมชนบ้านท่าไทรมีเรื่องราวเล่าขานในเรื่องของชื่อชุมชนว่าในอดีตแต่เก่าก่อนนั้นเป็นท่าเรือที่สำคัญของเกาะยอ ชาวเกาะยอในสมัยก่อนจะใช้เรือเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าและติดต่อกับชุมชนใกล้เคียง และบริเวณท่าเรือแห่งนี้มีต้นไทรขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านจึงเรียกขานหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าไทร”

บ้านบางเหรียงใต้

บ้านบางเหรียงใต้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดลำคลองและทะเล ซึ่งบริเวณแถบนี้จะมีหลายหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับลำคลอง ซึ่งชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า”บาง” อาทิ บางกล่ำ บางทึง บางหยี บางเหรียง หรือปากบาง ซึ่งแต่ก่อนบ้านบางเหรียงน่าจะเรียกว่า “บางเรียง” เพราะชื่อหมู่บ้านที่มีคำว่าบางอยู่เรียงต่อกันมา พอเวลานานเข้าก็เพื้ยนไปจากบางเรียงเป็น “บางเหรียง”

บ้านบางหยี

บ้านบางหยี ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ บ้านบางหยีเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่งของอำเภอบางกล่ำ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางกล่ำบ้านเรือนของชาวบ้านมักจะตั้งอยู่ติดลำคลอง และมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมายโดยเฉพาะต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะต้นใหญ่ลูกดกสีดำรสเปรี้ยว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ ต้นหยี” และเมื่อเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านได้ตั้งชื่อว่า “บ้านบางหยี”

บ้านจังโหลน

บ้านจังโหลน ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ ประวัติเล่าว่าบ้านจังโหลนเป็นพื้นที่ที่มีป่าอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะพื้นที่รอบ ๆ เขาจังโหลน เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพรรณต่าง ๆ และบนเขาจังโหลนมีช้างป่าจำนวนมาก บ่อยครั้งที่ช้างลงมากินพืชไร่ของชาวบ้านซึ่งบางครั้งช้างลงมาเป็นจำนวนมากกินจนพืชไร่หมดสิ้น ทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “เขาช้างโลน” (โลนในภาษาใต้หมายถึงสิ้นเปลือง ในที่นี้หมายถึงกินทิ้งกินขว้าง) ต่อมาก็เพื้ยนเป็น “เขาจังโหลน”และก็กลายเป็นชื่อของบ้านจังโหลนในปัจจุบัน

บ้านหนองเสาธง
บ้านหนองเสาธง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ ชุมชนแห่งนี้มีเรื่องเล่าขานว่าในสมัยก่อนชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็ก ๆ มีหนองน้ำอยู่เพียงแห่งเดียว ซึ่งปกติชาวบ้านมักจะไปจับปลากันเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านได้ประชุมเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่จับปลาในวันพระ โดยจะนำธงไปปักไว้ ณ กลางหนองน้ำทุก ๆ วันพระ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ทั่วกัน ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็ปฏิบัติตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาก็กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านคือ “บ้านหนองเสาธง”

บ้านควนขี้แรด
บ้านควนขี้แรด ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลพะวง อำเภอหาดใหญ่ ควนขี้แรดเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพราะตั้งอยู่กลางเนินเขากลางป่า ทำให้มีสัตว์นานาชนิดไม่ว่าจะเป็นช้าง สมเสร็จ หมู่ป่า และสัตว์ที่พบบ่อยและมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุดคื “แรด”เพราะในการเพาะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เวลาออกไปเก็บเกี่ยวผลผลิตก็มักจะพบว่าฝูงแรดได้พากันมากัดกินและทำลายพืชผลให้เสียหายอยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งถ่ายมูลไว้ให้ดูต่างหน้า ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ควนขี้แรด”

บ้านหินเกลี้ยง

บ้านหินเกลี้ยง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ คำว่า “หินเกลี้ยง” นี้มีที่มาจากหิน ๓ ก้อนซึ่งได้กลิ้งลงมาจากยอดภูเขาและจะมีเสียงซึ่งเกิดขึ้นจากก้อนหินนี้ในทุก ๆ วันพระ จึงทำให้ผู้คนเล่าลือกันถึงความอัศจรรย์นี้จนเกิดศรัทธาและมีความเชื่อว่ามีของมีค่าอยู่ภายในก้อนหินนั้น และเมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นได้พบก้อนหินนี้เข้าก็ได้ทำการผ่าก้อนหินเพื่อเอาของค่าเหล่านั้นไป ชาวบ้านที่พบเจอเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ร้องบอกกันต่อ ๆ ไปว่าสมบัติของที่ค่าที่อยู่ในก้อนหินนั้นได้ถูกทหารญี่ปุ่นเอาออกไปจนหมดเกลี้ยงแล้ว ก็เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า “หินเกลี้ยง”

บ้านเขารูปช้าง

บ้านเขารูปช้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา มีตำนานเล่าขานความเป็นมาของเขารูปช้างไว้ว่า เมื่อประมาณ 700 ปีมาแล้ว พระมหาอุปราชาแห่งลังกาวี ได้จัดขบวนออกติดตามครอบครัวของพระนางปะไหมสุหรี (พระนางเลือดขาว) หลังจากทราบความจริงว่าพระนางเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้คบชู้หากแต่ถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง จึงได้จัดชุดเครื่องเงินทองของมีค่าเพื่อมาขอขมาต่อครอบครัวที่เหลืออยู่ของพระนาง ในขบวนการติดตามนั้นมีช้างมาด้วย 3 ช้าง ประกอบด้วยช้างพ่อ แม่ และลูกช้าง ขณะที่ขบวนติดตามมาใกล้จะถึงถ้ำพญาเลือดขาว ขบวนได้เดินผ่านบนหนองน้ำที่แห้ง ปรากฏว่าพ่อช้างและแม่ช้างได้ตกลงไปในหนอง โดยแม่ช้างซึ่งบรรทุกเครื่องขอขมาได้ถูกโคลนดูดได้ร้องออกมาด้วยความตกใจ และด้วยสัญชาตญาณของช้างแสนรู้ก่อนที่จะจมหายไปได้ใช้งวงหยิบเชี่ยนหมากยืนไปทางถ้ำนางพญาเลือด ซึ่งปรากฎหลักฐานในปัจจุบันคือ “เขาเชี่ยน” ส่วนลูกช้างตกใจหันหลังวิ่งเพื่อให้พ้นจากโคลนดูดก็เกิดปรากฎการณ์แผ่นดินแยกทำให้ลูกช้างถูกโคลนดูดติดอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “เขารูปช้าง”

บ้านทุ่งส้าน

บ้านทุ่งส้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ เป็นชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติมาก ๆ เพราะพื้นที่ตั้งเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิด เล่ากันมาว่าเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว ชาวบ้านได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่จำนวนมากชาวบ้านเรียกว่า “ต้นส้าน” ต่อมาเมื่อตั้งเป็นชุมชนเข้มแข็งได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทุ่งส้าน”

บ้านทุ่งครก

บ้านทุ่งครก ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลแค อำเภอจะนะ คำว่าทุ่งครกนั้นมาจากเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว ชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพทำนาได้นำครกซึ่งเป็นอุปกรณ์ตำข้าวติดตัวออกไปทำนาด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้ตำข้าวและนำเมล็ดข้าวกลับมาบ้าน แต่เพราะด้วยความเหนื่อยล้าและน้ำหนักของครกซึ่งหนักมาก ทำให้ชาวนาส่วนมากตัดสินใจทิ้งครกไว้ตามคันนา เพื่อจะได้ขนย้ายข้าวเปลือกกลับบ้านได้มากและรวดเร็ว “การทิ้งครก”หรือ “การทุ่มครก” ในภาษาภาคใต้ ต่อมาเมื่อเวลาล่วงไปได้กลายเป็น “ทุ่งครก” ในที่สุดและได้กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านในปัจจุบัน

บ้านหัวควน

บ้านหัวควน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าหมอไทร อำเภอจะนะ บ้านหัวควนเริ่มแรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านช้างคลอด ในการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านในช่วงแรกนั้นจะตั้งอยู่รายรอบวัดและการเรียกชื่อของหมู่บ้านจะเรียกกันโดยใช้วัดช้างคลอดเป็นจุดศูนย์กลาง เช่น ชุมชนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกจะเรียกว่า “บ้านออก” ถ้าทิศตะวันตกของวัดจะเรียกว่า “บ้านตกหรือบ้านควนเส้ง” ทิศเหนือของวัดเรียกว่า “บ้านตีน” ทิศใต้จะเรียกว่า “บ้านหัวนอน” สำหรับชุมชนบ้านหัวควนเป็นกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลจากวัดช้างคลอดมาทางทิศใต้ เป็นระยะทางประมาณ 2,500  เมตร และเป็นกลุ่มคนเดียวที่มีลักษณะของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบสูงเป็นลักษณะของภูเขาหรือควน (ภาษาใต้) จึงเป็นที่มาของบ้านหัวควน

บ้านเขานา

บ้านเขานา ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี บ้านเขานาเป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากบ้านล่องมุด หมู่ที่ ๕ ประวัติของบ้านเขานานั้นเล่าว่าเป็นชื่อเรียกกันตามเรื่องราวของนายขุนดำและนายที่ลานควาย ซึ่งทั้ง 2 เป็นเพื่อนรักกัน ทั้ง 2 ได้เดินท่องเที่ยวกันไปตามที่ต่าง ๆ จนมาพบบริเวณพื้นที่แห่งหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อทั้ง ๒ คนเห็นดังนั้นจึงได้ตัดสินในตั้งบ้านเรือนขึ้น ต่อมาได้กลับไปชักชวนพี่น้องมาอยู่กันที่แห่งนี้และได้ช่วยกันกันปลูกข้าวซึ่งปลูกบนภูเขา ทำให้พื้นที่แห่งนี้เขียวขจีไปด้วยต้นข้าว ผู้คนเดินผ่านไปมาก็จะมองเห็นพื้นที่นาได้ในระยะไกล ต่อมาภูเขานี้ได้รับการเรียกขานว่า “เขานา”

บ้านใหม่

บ้านใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีฝายทดน้ำบ้านใหม่ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 การสร้างชุมชนขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2394 ซึ่งเดิมอยู่ในเขตปกครองของหมู่ที่ 1 บ้านคลองยอ แต่เดิมเรียกขานกันว่า “บ้านทับไข่เน่า” โดยที่คนพื้นเพนั้นได้อพยพมาจากบ้านทุ่งโตนด อำเภอนาหม่อม ต่อมาได้เกิดโรคไข้ทรพิษขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้อพยพหนีโรคร้ายมาตั้งทับอยู่กันหลาย ๆ คน ซึ่งเรียกว่า “ทับขี้หนู” หลังจากหายจากโรคไขแล้วได้อพยพกลับเข้ามาอยู่ใหม่โดยห่างจากที่เดิมพอประมาณ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านใหม่”

บ้านนา

บ้านนา ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย บ้านนาเป็น 1 ใน 7 หมู่บ้านของตำบลเขาแดง จากที่เล่าต่อกันมาว่าแรกเริ่มเดิมทีหมู่บ้านแห่งนี้มีชาวบ้านจากบ้านสวนชาม หมู่ที่ 2 ตำบลเขาแดง ได้เข้ามาบุกเบิกเพื่อทำนา ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่า “บ้านนา”

ขอบคุณข้อมูล : ข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง