แม้จะไม่ใช่วัดใหญ่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา เทียบเท่ากับวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) หรือวัดชัยมงคล แต่ชื่อวัดอุทัยก็มีความสำคัญอยู่คู่กับการพัฒนาเมืองสงขลายุคใหม่มาช้านานวัดอุทัยตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 14 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ริมถนนไทรบุรี ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสงขลา สร้างตั้งแต่เมื่อใดยังค้นหาหลักฐานแน่ชัดไม่ได้ แต่ปรากฏในแผนที่เขตเทศบาลเมืองสงขลา ปี 2478 จึงนับได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ของสงขลา
ความสำคัญของวัดอุทัยที่ผมกล่าวถึงในที่นี่ไม่ใช่ด้านศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมของโบสถ์วิหารภายในวัดแต่น่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง หากเดินทางมาจากหาดใหญ่เพื่อมาเยือนสงขลา เมื่อข้ามคลองสำโรงมาก็ถือว่าเข้าเขตเทศบาล ตรงมาตามถนนไทรบุรี จะผ่านวัดศาลาหัวยางทางซ้ายมือ ถัดมาคือวัดอุทัย จากนั้นก็ถึงสี่แยกที่เป็นจุดตัดของถนนไทรบุรีกับถนนนครนอกและถนนรามวิถี นั่นคือเข้าสู่ย่านตัวเมืองสงขลาแล้ว
ถ้าคอหงษ์คือจุดเริ่มต้นก่อนเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ วัดอุทัยก็น่าจะเป็นด่านแรกก่อนเข้าสู่ตัวเมืองสงขลา ว่ากันว่าในอดีตยุคปี 2500 ตรงหน้าวัดอุทัยเคยมีจุดจอดรถเก๋งโดยสารที่วิ่งระหว่างสงขลากับหาดใหญ่ มีหลักฐานบัตรคิวหลงเหลือมาให้เห็นอยู่ ระบุว่าออกจากคอหงษ์กี่โมงถึงป้อมวัดอุทัยกี่โมง นายกระจ่าง แสงจันทร์ หรือ ก.แสงจันทร์ ครูรุ่นเก่าของโรงเรียนมหาวชิราวุธ เคยแต่งกลอนนิราศเทพา เมื่อตอนไปทำสำมะโนครัวที่เทพา เมื่อ พ.ศ. 2460 ว่า
ถือเอาพุทธดำรัสกำจัดโศก ห้ามวิโยคยึดพระธรรมเทศนา พอถึงวัดอุทัยใกล้ศาลา มองหายาอุทัยมิได้ยลเคยได้รับเคยชะโลมโสมนัส ยินชื่อวัดว่าอุทัยใจฉงน แต่ยานี้แก้ข้างฝ่ายร้อนกายสกนธ์ จะผ่อนปรนร้อนใจไหนจะคลายเพราะร้อนรักหนักยิ่งสิ่งทั้งหมด เพียงโอสถหรือจะหักให้รักหาย ด้วยอาวรณ์ร้อนรนจนตัวตาย ทั้งหญิงชายมีดื่นนับหมื่นพัน ยิ่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่า วัดอุทัยมีมาก่อนปี 2460 เสียอีก
อีกประการหนึ่งที่มองข้ามเสียไม่ได้ คือ หน้าวัดอุทัยเป็นจุดตัดของทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลากับถนนไทรบุรี ซึ่งนับเป็นจุดตัดแห่งแรกเมื่อเข้าสู่เขตเทศบาลแล้ว อีกแห่งหนึ่งคือจุดตัดถนนทะเลหลวงยุค 2500-2520 เมื่อครั้งยังมีรถไฟสายสงขลาวิ่งผ่านหน้าวัดอุทัย ทางการรถไฟฯ ได้สร้างป้ายหยุดรถวัดอุทัยขึ้น ตรงหลักกิโลเมตรที่ 956.68 เป็นป้ายหยุดรถที่ใกล้กับสถานีรถไฟสงขลามากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่โดยสารรถไฟชานเมืองระหว่างหาดใหญ่-สงขลา และอาศัยอยู่บริเวณด้านใต้ของเมืองสงขลา ไม่ต้องไปขึ้นรถไฟไกลถึงสถานีสงขลา
ป้ายหยุดรถวัดอุทัย มีอยู่ทั้งสองฝั่งของถนนไทรบุรี สันนิษฐานว่ารถไฟขาขึ้นและขาล่องคงจะเลือกจอดคนละฝั่งของถนนให้ประชาชนขึ้นลง ก่อนจะข้ามถนนไทรบุรีที่มีเครื่องกั้นถนน เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยไปในตัว แต่ทั้งนี้ก็เคยเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถยนต์ มีผู้เสียชีวิต จนเป็นเรื่องเล่าจากปากของคนรุ่นเก่าสืบต่อกันมา
ดังนั้น วัดอุทัยนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนชาวพุทธในสงขลาแถบนี้แล้ว ในอดีตยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระหว่างสงขลากับหาดใหญ่ทั้งทางรถยนต์และรถไฟอีกด้วยวันนี้ วัดอุทัย เป็นเพียงวัดเล็กๆ ที่เงียบสงบของสงขลา หากมีโอกาสผ่านมา น่าลองแวะเข้าไปรำลึกถึงอดีตอันรุ่งเรืองดูสักนิดถนนเฉียง ๆ ข้างรั้ววัดอุทัยนี้เอง ในอดีตเคยมีทางรถไฟตัดผ่านถนนไทรบุรี นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูล : นายพุทธพร ส่องศรี
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 172ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 161ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 169ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 295พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 379ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 412ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 547ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,597