ปราสาทนางผมหอม เป็นโบราณสถาน ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ บริเวณปราสาทนางผมหอมเป็นอุทยาน ที่ร่มรื่น สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในละแวก มีเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับชื่อบ้านนามเมืองดังนี้
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สยามได้ยกทัพมารวมพลกับทัพนครศรีธรรมราช เพื่อตีอาณาจักรปัตตานี ระหว่างรอทำศึกปรากฏว่าช้างศึกสำคัญ (ว่ากันว่าเป็นช้างเผือก) ได้หายเข้าป่าไป ซึ่งช้างนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของ 7 พี่น้อง ประกอบด้วย เณร พี่ชายคนโต น้องชายอีก 5 คือ แก้ว อ่อน มอน เภา จันทอน และน้องสาวอีก 1 ไม่ทราบชื่อ 7 พี่น้องนี้เป็นคนจามอพยพจากกัมพูชามาอยู่ที่บ้านลุมพลี อยุธยา ทุกคนมีความชำนาญในการเลี้ยงช้าง จับช้างป่ามาฝึกให้เชื่อง เมื่อเกิดสงคราม ก็รับหน้าที่เป็นควาญช้าง ในกรมอาสาจาม กองทัพสยาม เมื่อช้างในการดูแลหลุดเข้าป่า ทั้ง 7 พี่น้องจึงออกตามหา แต่ก็ไม่เจอ กระทั่งมาถึงป่าบริเวณเชิงเขาโต๊ะชุด (อ.ทุ่งยางแดง) พี่เณรจึงบอกน้องๆ ว่าไม่ตามต่อแล้ว ครั้นจะกลับไปยังกองทัพก็ไม่ได้ เพราะอาญาโทษถึงประหาร จึงตัดสินใจตั้งหลักปักฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ โดย ต.พิเทน เชื่อกันว่า น่าจะเพี้ยนมาจาก พี่เณร
ส่วนความเกี่ยวข้องของปราสาทนางผมหอมนั้น มีเรื่องเล่าว่า พี่เณรมีพี่น้อง 7 คน น้องสาวคนสุดท้องชื่อ ผมหอม วันที่ช้างหายนั้น พี่เณรนำช้างไปอาบน้ำ โดยมีนางผมหอมขี่คออยู่ ตามคำบอกนี้จึงหมายความว่า นางผมหอม คือ น้องสาวคนสุดท้องของพี่เณร ซึ่งเมื่อพี่ชายตัดสินใจลงหลักปักฐานแล้ว ตัวเองก็เลยสร้างที่อยู่บนเขาโต๊ะชุดด้วย ซึ่งก็คือปราสาทนางผมหอมนั่นเอง
ส่วนเรื่องเล่าของนางผมหอม มีหลากหลายเรื่องราวด้วยกัน บ้างก็ว่าเป็นหญิงสาวรูปงามมักปรากฎกายให้เห็นเมื่อมีผู้คนเข้าไปภายในอุทยานปราสาทนางผมหอม
อย่างเช่นเรื่องเล่าของคุณ Anusorn Srikhamkhwan นักเขียนท่านหนึ่งได้มีการเล่ารื่องเกี่ยวกับตำนานนางผมหอมไว้ว่า ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง มีตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับนางผมหอม รวมทั้งปราสาทนางผมหอมตั้งอยู่ จึงไม่รีรอที่จะไปสำรวจ แต่น่าแปลกที่น้อยคนนักจะรู้ว่ามีปราสาทนางผมหอมตั้งอยู่ แม้กระทั่งชาว อ.ทุ่งยางแดงเองยังหาคนรู้จักได้น้อย ผมและเพื่อนๆ ทีมงาน เราสืบหาตำแหน่งทางเข้าปราสาทนางผมหอม และมั่นใจว่าใกล้ๆ นั้นน่าจะใช่ แต่เมื่อถามหญิงชราบ้านใกล้ๆ นางกลับบอกว่า ไม่รู้จัก เราวนรถอยู่หลายรอบ กระทั่งล้มเลิกความตั้งใจ เพราะหาทางเข้าไม่เจอ แต่แล้วก็เจอพี่ผู้ชายใจดีท่านหนึ่งที่ร้านขายของชำ พอทราบว่าเราจะไปไหน เขาอาสานำทาง ปรากฏว่าทางเข้าอยู่หน้าบ้านของหญิงชรา ที่ปฏิเสธเรื่องตำแหน่งปราสาทนางผมหอมนั่นเอง ทางเข้ามีป้าย แต่ป้ายถูกหญ้ารกปกคลุมจนมองไม่เห็น ทีแรกพี่ผู้ชายเพียงจะมาส่งแค่ปากทาง ไปๆ มาๆ เขาบอกว่า จะพาไปส่งให้ถึงที่ คณะเราไปด้วยกัน 6 คน มีช่างภาพด้วย 2 คน แต่ช่างภาพทั้ง 2 มัวแต่ถ่ายภาพต้นไม้ ดอกไม้ เลยถูกเราทิ้งไว้รั้งท้าย เป็นอันว่า มีที่ตามคนนำทางไปแค่ 4 เท่านั้น เพื่อนร่วมทางกับผมคนหนึ่ง ชอบเดินป่า เขาเล่าว่า ทางคตินักเดินป่าบอกว่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางผมหอมย่านชายแดนใต้ คือ ผีนางไม้ เวลาเข้าป่าจะได้กลิ่นหอม และหากใครทักว่าหอม จะถูกพรางตาและหลงป่าทันที
จากป้ายปราสาทนางผมหอม เราเดินผ่านสวนยางโล่งเตียนไปเรื่อยๆ ผ่านลำธารเล็กๆ บ่อน้ำโบราณ สักครู่ก็ถึงทางเข้าส่วนที่เป็นอุทยานปราสาทนางผมหอม จากสวนยางโล่งเตียนที่มีความสว่าง ทันทีที่ก้าวเข้าเขตอุทยานบรรยากาศกลับครึ้มไปในบัดดล และกลิ่นหอมก็โชยมา เพื่อนอีกคนโผล่งออกมาทันทีว่า หอม ผมหันมองหน้าทันทีด้วยแววตาหวั่นๆ แปลกมากบรรยากาศที่โล่งสบาย กลับรก ครึ้ม ชื้น ขณะเดินดอกชบาสีแดงหล่นจากเบื้องสูงตกลงเบื้องหน้าผม ผมตกใจปกติชบาต้นไม่ใหญ่ขนาดที่ดอกจะร่วงมาจากที่สูงได้ แม้กลัวอยู่บ้างแต่ก็อดแหงนหน้ามองไม่ได้ จึงเห็นว่าต้นชบาถูกทิ้งไว้ในป่า มันจึงเร่งความสูงเพื่อรับแสงแดดนั่นเอง เราใช้เวลาเดินอยู่นานยิ่งเดินยิ่งมืด จึงมีมติกันว่าจะกลับ ไม่ไปต่อแล้ว กลัวกลับออกมาไม่ทัน และเมื่อเราตกลงว่าจะกลับ พลันได้ยินเสียงกู่ร้อิง "วู้ๆ" จากช่างภาพ 2 คนทันที คนนำทางห้ามไม่ให้เราตะโกนรับ เขาบอกว่ารอให้กู่ครบ 3 ครั้งก่อน เพราะนั่นหมายถึงเสียงคน หากต่ำกว่านี้ ไม่ใช่คน เดชะบุญเสียงกู่มี 3 ครั้ง เรารีบขานรับทันทีแล้วรีบจ้ำออกมา เมื่อเราก้าวออกมาจากเขตอุทยานจากที่ฟ้าครึ้มกลับสว่างโล่ง ยังกะคนละมิติ ช่างภาพทั้ง 2 คน ยืนรออยู่ทางออกพอดี เมื่อเขาเจอเรา เขาบอกให้รีบกลับบอกมีธุระ เราก็งงๆ เพราะตอนมาเขาบอกว่าง
เมื่อเราออกมาจากพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จึงได้รู้ว่า ทำไมช่างภาพจึงเร่งให้กลับนัก คนที่ 1 เล่าว่า เขากับอีกคนแยกทางกัน มัวแต่ถ่ายภาพ เมื่อละสายตาจากช่องมองภาพของกล้อง ปรากฏว่า ไม่มีใครอยู่แล้ว เขายืนงงอยู่ที่บ่อน้ำโบราณ พลันปรากฏหญิงสาวในชุดไทย สวยมาก ยิ้มให้ แล้วชี้มือไปยังทางเข้าเขตอุทยาน...ส่วนช่างภาพคนที่ 2 บอกว่า เขาเดินเพลิน จนพบว่าตัวเองอยู่ในป่ารกแห่งหนึ่ง แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงผู้หญิงกระซิบบอกทาง เขาเดินตามเสียงอย่างงงๆ กระทั่งมาเจอกับอีกคนที่ปากทางเข้าเขตอุทยาน หากไม่ได้ยินเสียง หรือเห็นหญิงคนนั้น คงหลงทางไปแล้ว เรื่องราวนี้เป็นที่ติดใจเราจนถึงทุกวันนี้ เมื่อไม่นานมานี้เรามีโอกาสกลับไป ต.พิเทน อีกครั้งจึงมีโอกาสไปพูดคุยกับหญิงชรา ที่บ้านอยู่ตรงข้ามทางเข้าปราสาทนางผมหม หญิงชราเฉลยว่า ที่บอกไม่รู้จัก เพราะไม่อยากให้เข้าไป หากเจอนางผมหอมน่ะไม่เป็นไรหรอก นางใจดี กลัวไปเจออย่างอื่นมากกว่า และก่อนหน้านี้ก็มีคณะพัฒนาเข้าไปหมายจะฟื้นฟูอุทยาน พวกเขาค้างแรมที่นั่น ปรากฏว่าเมื่อตกดึก กลับมีเสียงมโหรี ดนตรี อย่างครื้นเครง จนต้องย้ายออก และไม่มีใครเข้าไปพัฒนาอีก
ภาพข้อมูลบทความ : -MUSEUM THAILAND
-Anusorn Srikhamkhwan (เว็บบล็อคทรูไอดี)
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 172ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 160ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 169ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 295พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 379ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 412ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 547ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,597