หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ประวัติกุโบร์ อัชชะฮีดชัยค์อับดุสซอมัด อัลปะเล็มบานี ตามเส้นทางจะนะ (บ้านตรับ)
28 กุมภาพันธ์ 2564 | 9,015

ตามเส้นทางจะนะ-สงขลา ก่อนถึงป้ายบ้านตรับประมาณ 100 เมตร มีถนนแคบ ๆ ตัดผ่านสวนยางขึ้นเนินเขา เป็นที่ดินของไทยพุทธถ้าสังเกตให้ดีจะมีศาลาเล็ก ๆ ซึ่งเจ้าของกันไว้เฉพาะและข้าง ๆ มีกุโบร์หรือสุสาน ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นของ ชัยค์อับดุสซอมัด อัลปะเล็มบานี อุละมาอฺ (นักปราชญ์ศาสนา) นามอุโฆษของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ดั้งเดิมเป็นชาวปาเลมปัง ตอนใต้ของเกาะสุมาตรา พ่อมาเป็นมุฟตีของรัฐเคดาห์ แรกๆได้รับการศึกษาที่ปาตานี ต่อมาเดินทางไปมักกะห์ อุละมาอฺที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นก็เช่น ชัยค์มุฮัมมัด อัรชาด อัลบันญารี ผู้เขียนตำราฟิกฮฺ “ซะบีลุล มุฮฺตะดีน” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในโลกมลายู อีกท่านหนึ่งก็คือชัยค์ดาวูด บิน อับดุลลอฮฺ อัลฟะฏอนีย์ คนหลังนี้คงไม่ต้องบรรยายมาก ตำรางานเขียนที่แพร่หลายที่สุดของชัยค์อับดุสซอมัด ได้แก่ ฮิดายะตุซซาลิกีนฯ Hidayatus Salikin fi Suluki Maslakil Muttaqin และ ซียยารุซซาลิกีนฯ Siyarus Salikin ila ‘Ibadati Rabbil ‘Alamin ที่ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังใช้สอนอยู่ปอเนาะต่าง ๆ ในบ้านเรา

การเป็นชะฮีดของท่านระบุอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์รัฐเคดาห์ (Al-Tarikh Salasilah Negeri Kedah) กล่าวคือท่านได้ร่วมในสงครามช่วงปี ค.ศ. 1828-1832 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.1) ถือเป็นการก่อกบฏครั้งใหญ่สุดครั้งสุดท้ายของหัวเมืองมลายูต่ออำนาจรัฐสยาม นับแต่เสียอธิปไตยต่อสยามโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1786 (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1) เป็นต้นมา กล่าวกันว่าผู้ที่ชวนชัยค์อับดุซซอมัดมาร่วมรบครั้งนี้ก็คือ ชัยค์ดาวูด อัลฟะฏอนีย์ สหายของท่านนั่นเอง

ซึ่งสงครามครั้งนี้นอกจากปาตานี ยะลา ระแงะและหนองจิกแล้ว ก็มีเคดาห์ กลันตันและตรังกานูร่วมด้วย ซึ่งก็ไม่บ่อยนักที่จะร่วมมือกันได้อย่างนี้ ครั้งล่าสุดก่อนหน้านั้น ก็คงเป็นสมัยราชินีอูงู (ค.ศ. 1624-35) ครั้งนั้นมียะโฮร์และปาหังร่วมด้วยช่วยกันต่อต้านการโจมตีของอยุธยา จนต้องถอยทัพกลับไป

 

จุดพลิกผันของการก่อกบฏรอบนี้ เกิดขึ้นขณะที่กองทัพร่วมมลายูไล่ตีไปจนถึงสงขลา (ในกองทัพสยาม ก็มีพระยาราชบังสัน ซึ่งก็เป็นมุสลิม เป็นนายกอง ร่วมกับพระยาเพชรบุรีหรือเจ้าพระยายมราช) ปรากฏว่า “เติงกูเด็น” หลานชายของสุลต่านเคดาห์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการร่วมกองทัพฝ่ายมลายูเสียทีแก่ฝ่ายสยาม ถูกสังหารในสนามรบทำให้กองทัพมลายูเสียขวัญ ถูกล้อมและฆ่าตายจำนวนมาก ที่เหลือล่าถอยแตกกระเจิงอย่างไม่เป็นรูปขบวน คนละทิศละทาง ชัยค์อับดุสซอมัดก็มาเสียชีวิตในการรบตอนนี้นี่เอง

สำหรับชัยค์ดาวูด หลังสงคราม ท่านไปที่ตรังกานู ก่อนจะตัดสินใจกลับนครมักกะห์อีกครั้ง เพื่อพำนักในบั้นปลายชีวิตของท่านที่นั่น

ขอบคุณภาพข้อมูล : โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน

 

 

 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง