หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

ชีวิตที่ท้าทายของ"รัชต สำราญชลารักษ์" ก่อนก้าวเข้าเป็นผอ.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา
7 กุมภาพันธ์ 2564 | 6,163

พบกับคอลัมน์ดี ๆ ส่งต่อพลังบวกในเดือนแห่งความรักกับเรื่องราวของชีวิตการต่อสู้ในวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ความท้าทายของผู้ชายที่ว่า "รัชต สำราญชลารักษ์" ชายที่เกิดในพื้นที่ ตำบลบางกะเจ้า อ.พระประแดงจ.สมุทรปราการ ที่เลือกอุทิศทั้งหมดในการพัฒนาเมือง พัฒนาการท่องเที่ยวมาแล้วทุกจังหวัด ล่าสุดได้มีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งอยู่ที่จังหวัดสงขลา พร้อมผลักดันทำประโยชน์อย่างเต็มที่

สมัยก่อนในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า ถึงแม้จะตรงข้ามกับท่าเรือคลองเตย กรุงเทพมหานคร แต่ที่นี่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้อาชีพของคนในสมัยนั้นทำสวนมะพร้าวเพื่อทำน้ำตาล นอกจากนั้นมีหมาก มะนาวและผลไม้ ซึ่งผลผลิตที่นี่ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ พืช ผัก คนกรุงเทพหรือคนในอำเภอพระประแดงมักนิยมซื้อและจะเรียกผลผลิตที่มาจากที่นี่ว่า “ของสวน” ดังนั้นอาชีพหลักของคนที่นี่ก็คือเกษตรกรและค้าขาย นอกจากนี้หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยก็เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ผมเองเริ่มต้นชีวิตที่นี่และด้วยเหตุบังเอิญหรือเพราะวิธีคิดของคุณพ่อ ซึ่งเป็นข้าราชการครู

ก็ไม่อาจจะสรุปได้ว่าการเดินทางของชีวิตได้สร้างสมให้ผมเป็นแบบนี้ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่ามันดีหรือไม่ดี ซึ่งในแง่มุมหนึ่งอาจจะดูว่าดีแต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจจะบอกว่าไม่ดี แต่ก็ช่างมันครับเพราะชีวิตเดินทางมาจนไกลขนาดนี้แล้ว สมัยที่ผมยังเด็กอายุ 5 ขวบ ผมเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องรับหน้าที่เป็นภารโรงเปิดทำความสะอาดโรงเรียนตั้งแต่ตีห้าครึ่งทุกวันเมื่อเรียบร้อยก็วิ่งกลับบ้านอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนให้ทันเพื่อน ๆ จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาตอนต้นหรือ ป.4 ด้วยปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวและปัญหาการบ้านการเมือง พ่อเคยบอกเสมอว่าอยากให้ลูก ๆ เรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกร

ในช่วงนั้นทำให้ผมต้องจากบ้านเกิดย้ายตามคุณแม่ที่ต้องไปทำมาหากินที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่นั่นวิถีชีวิตก็ต่างจากบ้านเกิดทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนา เพราะนอกจากเรียนหนังสือแล้วก็ต้องช่วยแม่ทำงานนั่นก็คือเป็นเกษตรกร ทำไร่อ้อย สวนผัก ทำนา และรับจ้าง พอเข้าสู่วัยรุ่นก็กลับเข้าสู่บ้านเกิดอีกครั้งเพื่อเรียนหนังสือในระดับมัธยมปลายจนถึงปริญญาตรี ระหว่างเรียนก็ต้องหารายได้จากการรับจ้างในเวลาว่างจากการเรียน ขี่สามล้อรับจ้าง มอเตอร์ไซรับจ้าง และช่วยคุณแม่ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้นในห้วงเวลาวัยเด็ก วัยรุ่น ชีวิตของผมผ่านหลากหลายอาชีพหลากหลายวิถีชีวิต

ความสำเร็จในการงานสู่ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา

ชีวิตการรับราชการของผมไปแบบเรื่อย ๆ ตามขั้นตอน ค่อย ๆ เดินเพราะผมทำงานเพื่อประชาชน ผมจึง ไม่มีนายที่จะคอยผลักดันให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ผมรับราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ในสมัยนั้นยังไม่มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บรรจุเป็นข้าราชการสังกัดกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ทำงานในตำแหน่งสารวัตรนักเรียนและนักศึกษา เนื้องานก็เป็นเรื่องของการพัฒนาตัวเด็กและเยาวชน พัฒนาการมีส่วนร่วมของ ชุมชน สถานศึกษา ครอบครัวเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย

ซึ่งเป็นงานที่คนทั่วไปไม่เข้าใจแต่ผมคิดว่าเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมมากมาย ผู้ปฏิบัติงานอย่างผมต้องควบคุมตัวเองให้สะอาดเสมอเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสังคม จนกระทั่งในปี 2554 นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตราชการของผมเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผมก็ตัดสินใจย้ายไปสังกัดที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และก็ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน จังหวัดมุกดาหารซึ่งเป็นจังหวัดแรกของการทำงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การทำงานของผมตั้งแต่สมัยอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการจนกระทั่งย้ายมาอยู่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สิ่งที่ผมยึดเป็นแนวการทำงานของผมไม่ว่าจะเป็น งานพัฒนาเยาวชน งานพัฒนาการกีฬาและงานพัฒนาการท่องเที่ยวก็คือ กระบวนการมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่าย ผมถือว่ามีความสำคัญซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและก่อให้เกิดความร่วมมือการช่วยเหลือในการทำงานของเราให้ประสบผลสำเร็จ เมื่อมาอยู่บ้านหลังใหม่คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ด้วยนโยบายหรือเพราะความเหลื่อมล้ำในตำแหน่งของแต่ละจังหวัดรวม ทั้งหลักเกณฑ์ที่ไม่มีความแน่นอนส่งผลให้การทำงานของผมก็ไม่ได้อยู่กับที่และก็ได้ย้ายไปอีกหลาย ๆ จังหวัด

สิ่งที่น่าแปลกมากจนถือว่าเป็นโชคชะตาของผมก็ว่าได้ ทุกครั้งเมื่อมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งที่นำมาใช้ใหม่ผมต้องไปเริ่มต้นของหลักเกณฑ์นั้นทุกครั้งไป  โดยเฉพาะในสามปีล่าสุดผมต้องย้ายถึง 3 ภาค ภาคอีสาน อุดรธานี ภาคเหนือ ลำปาง และภาคใต้ สงขลา แต่การมาปฏิบัติหน้าที่ที่สงขลาเป็นการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ในตำแหน่งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา (อำนวยการสูง) ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ในกระทรวงที่ท่านกรุณาต่อผมในครั้งนี้ 

อุปสรรคและความท้าทายในการทำงาน

-ตั้งแต่ผมรับราชการมาประมาณ 34 ปี ผมย้ายมา 2 กระทรวง 13 จังหวัด ผมว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดของการทำงานคือ 

1) ระบบและระเบียบของทางราชการเองที่สร้างขึ้นมาทำให้ข้าราชการต้องจำนน ทั้ง ๆ ที่ระเบียบเหล่านั้นสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบราชการและความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการกับประชาชน เป็นอุปสรรคต่อคนทำงานและอุปสรรคต่อการพัฒนา ซึ่งผมก็แปลกใจจริง ๆ ทำไมบ้านเมืองถึงกล้าออกระบบ ระเบียบ เหล่านี้มาได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์ทุกคนต้องอาศัยปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตเหมือน ๆ กัน แต่ทำไมต้องมีความแตกต่างกันเช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก และอื่น ๆ ทำไมครับชาวบ้านกินข้าวน้อยกว่าข้าราชการเหรอครับ

หรือข้าราชการต้องกินอาหารที่แพงกว่าชาวบ้านเหรอครับ ผมรับราชการมา 34 ปียังไม่มีคำตอบ รู้แต่เพียงว่าถ้าให้ชาวบ้านกินข้าวในอัตราเดียวกับข้าราชการ ผิดระเบียบแน่นอน นอกจากนี้ยังสร้างระบบตรวจสอบมามากมายจนข้าราชการดี ๆ จำนวนมากต้องกลายเป็นคนผิดไป นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านพัฒนาเมือง สำหรับประเด็นนี้มีเรื่องที่ต้องพูดอีกมากมายครับเอาไว้เป็นเรื่องเฉพาะน่าจะดีกว่าครับ
ผมเองอาจจะถูกหล่อหลอมวิธีคิดมาจากครอบครัวที่ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ได้มีการสร้างวิธีคิดให้มองเรื่องส่วนรวมนั้นสำคัญมาก ๆ

ถ้าคุณคิดที่จะทำงานรับใช้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือนักการเมือง จำเป็นที่จะต้องสร้างตรงนี้ให้เป็นชีวิตจิตใจ ผมเคยเสวนากับนักการการเมืองที่ผมคิดว่าเป็นนักการเมืองน้ำดีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ผมยอมรับทำให้ผมได้วิธีคิดที่ตอกย้ำให้ผมมองว่ามันคือสิ่งที่ดีและผมเองยึดถือมาโดยตลอดนั่นคือประชาชนต้องได้ประโยชน์ มันจึงทำให้ผมทำงานนอกกรอบ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้มีความขัดแย้งกับระบบ ระเบียบ ค่อนข้างมาก ผมเองจึงไม่มีคำว่าสะสมแต่ก็ไม่เป็นอะไรครับไม่นานคงต้องล้มหายตายจากกันไป แต่สิ่งนี้ก็คงไม่ใช่แบบอย่างที่ดีนะครับเพราะปกติคนเราต้องมีทายาทมีลูกมีหลานที่ทุกคนต้องดูแล

2) ปัจจุบันสังคมบ้านเรามีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว การท่องเที่ยวเป็นเรื่องของการแข่งขันที่มีทั้งเรื่องของการอนุรักษ์ เรื่องของการพัฒนา เรื่องของเทคโนโลยีความทันสมัย มันเป็นความท้าทายในการทำงานของนักพัฒนาที่จะต้องทำให้เรื่องเหล่านี้ที่อยู่ตรงข้ามกันกลายเป็นเรื่องเดียวกันเดินไปด้วยกันได้ อีกเรื่องหนึ่งตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา ก็ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของเจ้า COVID-19 ที่เด่นชัดและท้าทายมาก ๆ คือการท่องเที่ยวในพื้นที่หาดใหญ่และพื้นที่ด่านนอกสะเดาเห็นแล้วเศร้าใจจริง ๆ ครับ มันคือโจทย์ที่ท้าทายจริง ๆ ครับ จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเมื่อก่อน

ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่า COVID-19 มันจะหายไปจากโลกหรือมันจะอยู่กับเราตลอดไป ถ้ามันไปจากโลกเราผมว่าการแก้ปัญหาตรงนี้คงไม่ยากครับแต่ถ้ามันยังคงอยู่กับเรา นั่นสิครับเราจะยอมจำนนปิดทุกสิ่งทุกอย่างสังคมก็คงเดินไม่ได้อยู่กันไม่ได้ จะทำกันอย่างไรจะฟื้นฟูกันอย่างไรผมว่าพวกเราต้องปรับตัวให้มากครับนั่นก็คือเราต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับมันให้ได้ ผมประเด็นนี้ท้าทายมาก ๆ ครับ

งานที่ทำอยู่มีส่วนขับเคลื่อนเมืองสงขลาไปในทิศทางใดบ้าง

-ผมมาอยู่เมืองสงขลาได้ประมาณ 2 เดือนก็ต้องยอมรับนะครับว่าสงขลาไม่ธรรมดาทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยวและในเรื่องของการกีฬา ที่ผมมองใน 2 เรื่องก็เพราะมันคืองานที่ผมรับผิดชอบ การท่องเที่ยวใคร ๆ ก็รู้นะครับว่าเป็นพระเอกในทางเศรษฐกิจ จำนวนผู้มาเยือนในปี 2562 ประมาณ 7,000,000 คน รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2562 ประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท ผมจึงบอกว่าสงขลาไม่ธรรมดาครับ ดังนั้นงานด้านการท่องเที่ยวจึงเป็นงานที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา หรือการสร้างความมั่งคั่งให้กับจังหวัดสงขลา นี่ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญอีกอันหนึ่งว่าเราจะทำกันอย่างไรให้เกิดความมั่งคั่งและที่สำคัญต้องทำให้เกิดความยั่งยืน สำหรับผมเองพยายามจะเรียนรู้สิ่งที่มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้แล้ว ผมก็พอที่จะได้เห็นภาพลาง ๆ แต่ยังไม่ชัดเจนนะครับ

โดยเฉพาะการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ผมคิดว่าสงขลายังขาดการพัฒนาฐานรากหรือต้นน้ำ นั่นก็คือกระบวนการคนหรือชุมชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริง สิ่งที่พบเห็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องสินค้า ผลผลิต มากกว่าการบริการการท่องเที่ยวซึ่งมันเปิดโอกาสให้เฉพาะกลุ่มที่มีสินค้าเท่านั้น หรือการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชนจึงไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการท่องเที่ยว ด้วยภาพลาง ๆ ผมมีความเห็นว่าเราจะสร้างให้การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวสงขลาอย่างยั่งยืนได้ จะต้องปรับใน 2 ประเด็นให้ได้ก่อน ประเด็นแรก ปรับวิธีคิดของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ต้องเข้าใจในบริบทของการท่องเที่ยวเป็นเรื่อง ๆ

ซึ่งปัจจุบันนี้การพัฒนาไปเร็วมาก ใครคิดจะทำอะไรก็ทำซึ่งก็ดีนะครับที่ทุกคนลุกขึ้นมาทำและสามารถสร้างรายได้ได้แต่อาจขาดความยั่งยืน แต่ถ้าเรามีทิศทางในการพัฒนาที่ไม่ทิ้งหลักการผมว่ามันจะนำไปสู่ความยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศควรพัฒนาในทิศทางไหน การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอย่างไร หรือทำไมต้องจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเพราะอะไร นี่คือ ประเด็นแรก ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาให้เกิดความยั่งยืน  ประเด็นที่สอง เรื่องของการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว

อย่างที่ผมได้กล่าวมาแล้วแหล่งท่องเที่ยวหลายแหล่งเราขาดกระบวนการชุมชน หรือการมีส่วนร่วมของชุมชน ตรงนี้ต้องชัดนะครับเพราะมันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวและทำให้รายได้กระจายไปยังชุมชน ผมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพความร่วมมือของชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวนั่นก็หมายถึงเขาต้องมีรายได้ด้วยนะครับ

นั่นคือเราต้องมาปรับเรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวใหม่ครับ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบให้ดูป่าไม้ในบ้านเราทำไมป่าถูกทำลายไปมากเหลือเกินก็เพราะป่าไม่ได้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมีแต่คุณค่าให้ร่มเงา ให้ฝนตอต้องตามฤดูการแต่ไม่สร้างเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้าน ป่าไม้จึงอยู่ไม่ได้ถูกตัดฟันแผ่วถางเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว มัน อ้อย ยาง ปาล์ม พืชเหล่านี้สร้างเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้านครับแต่ป่าไม้ไม่ได้สร้างครับก็ต้องหมดไปในที่สุด แหล่งท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกันครับชาวบ้านจะช่วยดูแลให้มีความยั่งยืนต้องสามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าชาวบ้าน

ส่วนงานอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของกีฬาผมว่าก็มีความสำคัญไม่แพ้การท่องเที่ยว ผมขอพูดในส่วนของกีฬาเพื่อมวลชน ที่ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน จังหวัดสงขลาได้รับการประกาศให้เป็นเมืองกีฬา เน้นไปที่ความเป็นเลิศซึ่งก็ได้ประโยชน์กับกลุ่มเฉพาะในเชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนในเรื่องของกีฬาเพื่อมวลชนนั่นหมายถึงการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม เด็ก เยาวชน วัยทำงาน คนเฒ่าคนแก่ ได้ออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพ สมรรถภาพร่างกายที่ดี สามารถประกอบกิจกรรมในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุข

โจทย์ที่สำคัญในเรื่องนี้ก็คือทำอย่างไรให้คนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายและหันมาออกกำลังกายกันจนเป็นวิถีชีวิต นี่ละครับเราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อการออกกำลังกาย เครือข่ายในทุกพื้นที่ทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศทุกวัย นั่นคือเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาการส่งเสริมการออกกำลังกายของชาวสงขลา การจะเดินสู่เป้าหมายตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะครับ แต่เป็นความท้าทายสำหรับนักพัฒนา

สุดท้ายนี้ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและการกีฬาโดยเฉพาะกีฬาเพื่อมวลชน ถ้าสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาถึงจุดหมายที่กล่าวมาแล้ว นั่นหมายถึงความสำเร็จของการพัฒนาและก็เป็นความสำเร็จของพี่น้องประชาชน เป็นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและมั่นคงทางสุขภาพท่านลองคิดดูนะครับว่าพวกเราจะมีความสุขขนาดไหน

 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง