หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

อ.จอมขวัญ...ครู... ภาษา(โซเชียล)ไทย
28 มิถุนายน 2560 | 18,872

วันนี้ HatyaiFocus พาวาร์ปไปที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ แล้วมุ่งเข้าสู่คณะศิลปศาสตร์ สถานที่ที่มีอาจารย์ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า สวย หวาน ปานน้ำผึ้งเดือนห้า แต่ช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียน แอบลุ้นกันว่า อาจารย์คนที่ทางทีมงานตามหาจะอยู่ให้เชยชมความงามหรือไม่ ในที่สุดสวรรค์ก็เห็นถึงความตั้งใจจริงของเรา เจออาจารย์กำลังง่วนอยู่กับกองเอกสารในห้องทำงาน  ไม่รอช้ารีบเข้าไปรบกวนทันที  

 

เริ่มกันที่คำถาม "ก่อนจะเข้ามาเป็นอาจารย์ต้องทำอย่างไรบ้าง"  

อาจารย์จอมขวัญเล่าย้อนประวัติการศึกษาให้ฟังตั้งแต่เรียนมัธยมฯต้นว่า จบจากโรงเรียนธิดานุเคราะห์ มัธยมฯปลายจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ซึ่งทางทีมงานไปสืบมาด้วยว่าอาจารย์เคยเป็นเชียร์หลีดเดอร์ในงานกีฬาสีของโรงเรียนด้วย พอถามถึงการเป็นหลีดเดอร์ อาจารย์ก็ตอบแบบเขิน ๆ ว่า "เคยเป็นอยู่ 2 ปี แต่จำไม่ค่อยได้แล้วว่า สีอะไร ตอนเรียนชั้นอะไร" อาจารย์จบปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโทและปริญาเอกจาก คณะมนุษยศาสตร์  สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 อาจารย์เริ่มสอนเมื่อไหร่  

ก่อนหน้ามาสอนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์เคยสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551  เมื่อ ม.อ. เปิดอัตรากำลังเพิ่ม ก็มาสมัครเพื่อที่จะได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ  ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายผลักดันบุคลากร  คือ ตามระเบียบ 2 ปี จะต้องไปเรียนแต่ตัวอาจารย์เองมีความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก "พอเรารู้สึกว่าเราพร้อม ก็ไม่ต้องรอถึง 2 ปี เพราะมันเป็นสาขาขาดแคลนด้วย ก็เลยได้ไปเรียนต่อ หลังจากที่ทำงานที่นี่ได้ปีเดียว แล้วก็กลับมาสอนอีกครั้งในปี พ.ศ.2558" 

สอนวิชาอะไร  

อาจารย์สอนในหมวดภาษาไทย ของคณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาและภาษาไทยประยุกต์ สวยและมีความสามารถแบบอาจารย์ จึงพ่วงดีกรีเป็นประธานหลักสูตร ศิลปศาสตร์บัณฑิต (ภาษาไทยและภาษาไทยประยุกต์) มาอีก 1 ตำแหน่ง 

ทำไมถึงเลือกเรียนภาษาไทยและเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย  

"คิดว่า เราเป็นคนไทย แต่จริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ได้รู้ภาษาไทยทั้งหมด จนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกแล้วก็ยังไม่รู้ทั้งหมด แต่ว่าเราก็อยากจะรู้ รู้ให้มากเท่าที่เราจะรู้ได้ เราสามารถที่จะชี้แล้วก็แนะบอกคนที่เขาเรียนกับเราได้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดประการใด" 

หน้าตามีผลต่อการสอนในชั้นเรียนมากน้อยเพียงใด 

อาจารย์จอมขวัญบอกว่าเรื่องหน้าตาของอาจารย์ไม่มีผลต่อการเรียนการสอน เพราะ ถ้าการสอนของอาจารย์คือการเข้ามานั่งอ่านตามจอที่แสดงอยู่หน้าห้อง นักศึกษาที่ไหนก็ไม่อยากเรียน แต่อาจารย์จะให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพตัวเองด้วยอีกประการ "ถ้าคุณสวยแต่คุณแต่งตัวป้าสุดอ่า ก็เท่านั้นไหม มาหน้าสดทุกวัน แล้วก็ป่วยมาด้วย พูดช้า ๆ เรื่อย ๆ อ่านตามพ้อยท์ ล่องลอย ถึงคุณจะสวย คุณก็ไม่มีสเน่ห์ป่ะ  ดังนั้น มองว่าเป็นบุคลิกภาพโดยรวมดีกว่า ไม่น่าจะเป็นเพราะสวยหรือไม่สวย บุคลิกภาพในที่นี่หมายถึง วิธีการพูด วิธีการสอนด้วยค่ะ  เมื่อตอบคำถามให้ทีมงานอย่างยาวเหยียด อาจารย์ก็ถามกลับอย่างน่ารัก ๆ ว่า "ครูตอบตรงคำถามรึป่าว" 

หัวใจหลักของการเป็นครูคืออะไร 

"ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดวิชาความรู้เท่านั้น เราไม่ได้สอนแค่เชิงวิชาการแต่ว่า เมื่อไหร่มันมีประเด็นทางสังคมขึ้นมา เราอาจจะช่วยชี้แนะบางประการได้ มันอาจจะทางอ้อม ไม่ใช่ตรง ๆ ถ้าช่วงสถานการณ์นั้นมีข่าวอะไรเด่นดังขึ้นมาในสังคม เราก็อาจจะเอามาอภิปรายร่วมกัน ชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหามันน่าจะคืออะไร แล้วเราสามารถหลีกเลี่ยงมันได้ยังไง แต่จะไม่ฟันธงให้เขา ว่ามันควรจะเป็นแบบไหน เพียงแต่คอยชี้แนะให้เขาเท่านั้น" 

ตอนเด็ก ๆ เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเราต้องเป็นครูแน่ ๆ เลย แล้วตรงตามความฝันของอาจารย์ในวัยเด็กหรือเปล่า 

อาจารย์บอกว่าความฝันของอาจารย์ในวัยเด็ก คือ การได้ทำงานโรงแรม แต่งตัวในชุดยูนิฟอร์มสวย ๆ แต่การเป็นครูก็มีความคิดอยู่บ้างว่าวันหนึ่งตัวเองน่าจะได้เป็นครู เพราะ ตัวเองอยู่กับแม่ ซึ่งแม่เป็นครู  

ภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจารย์คิดอย่างไรบ้าง 

อาจารย์ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภาษาว่า "ภาษามันยังไม่ตาย ในเมื่อภาษามันไม่ตาย แปลว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  สังเกตดูสิ เดี๋ยวนี้ใครพูดจ๊าบบ้างไหม พูดแล้ว มันแบบเฟ่ยเนอะ ก็เลิกพูดกันแล้วป่ะ มันมีการเปลี่ยนแปลง ก็อย่าไปฟึดฟัด ฮึดฮัดกับมัน เพราะมันเหนือการควบคุม สังคมมันก็เป็นอย่างนี้แหละ คำที่เกิดใหม่วันหนึ่งก็จะตายไปเอง ดังนั้น เราก็ต้องอยู่กับธรรมชาติ แล้วก็เข้าใจธรรมชาติของภาษาว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ใช้ให้มันถูกกาลเทศะ และถูกบริบท ที่ควรจะใช้"  

อาจารย์คิดอย่างไรกับการใช้ภาษาในโซเชียล 

อาจารย์บอกกับทีมงานให้มองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเขา ถ้าเขาใช้แค่ในโซเชียลซึ่งไม่ได้เป็นงานเป็นการมากมาย ก็สามารถใช้คำเหล่านั้นได้ "ถ้าตราบใดที่เขาสามารถแยกแยะได้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในงานวิชาการ สามารถปรับตัวให้เป็นทางการได้ มีสติรู้ว่า ณ ขณะนี้คำที่ถูกคืออะไร คือเขาก็ต้องแยกแยะให้ได้ ทำงานเขียน คุณจะมาใช้ชุงเบย จุงเบย ก็ไม่ได้" มุมมองอาจารย์ต่อภาษาไทยในโซเชียลนั้นเป็นด้านบวกมาก ๆ คือ อาจารย์ให้มองในมุมของการสื่อสาร ถ้าสามารถสื่อสารกันเข้าใจ ก็แสดงว่าไม่เป็นปัญหาในระดับของการสื่อสาร คำจะถูกหรือผิดอันนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่เขาต้องการจะถ่ายทอดผ่านตัวอักษรออกมา ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด 

คำว่า คะ ค่ะ นะคะ ที่เขียนกันผิด ๆ แบบเขาไม่รู้ตัวว่าผิด อาจารย์มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร เห็นแล้วขัดใจไหม  

อาจารย์ตอบอย่างมั่นใจ ว่าไม่ขัดใจ และให้คำตอบที่น่าคิดตามกับทางทีมงานว่า "การที่เขายังใช้คำเหล่านี้ผิดอยู่ มันไม่ใช่เรื่องน่าขัดใจ แต่ครูมองว่าเขาน่าจะมีปัญหาในการเรียนรู้เรื่องของการผันเสียง เพราะจริง ๆ เรื่องอักษรสูง กลาง ต่ำ มันไม่ง่ายเลย ไม่ได้บอกว่าการใช้คำเหล่านี้ผิดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาได้รับการฝึกฝนและการเรียนรู้ที่ทำให้เขาสามารถเข้าใจได้ การเขียนให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ดี"   

ในฐานะครูภาษาไทย อยากบอกอะไรกับเด็ก ๆ บ้าง 

อาจารย์จอมขวัญพูดถึงภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่หลายคนเรียกกันว่า ภาษาวิบัติ ว่า "สิ่งหนึ่งที่รู้สึกมาก ก็คือ คำว่า ภาษาวิบัติ ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกตัวเอง ที่ใช้แนวคิดด้านภาษาศาสตร์รู้สึกว่าภาษาไม่มีวิบัติ มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ในสถาการณ์ไหนมากกว่า แล้วก็พยายามจะบอกเด็ก ๆ ที่สอนว่า ภาษามันไม่ได้วิบัติ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับกาลเทศะมากกว่า ว่าคุณจะเอามาใช้ผิดหรือถูกกาลเทศะ ซึ่งแม้แต่ตัวเอง เวลาแชทหรือตอบโต้กับนักศึกษาก็ใช้เป็นภาษาง่าย ๆ ที่สามารถสื่อสารกันเข้าใจ เพราะบริบทเราอยู่ในแชท แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรา เขียนงาน หรือตรวจงาน ภาษาเขียนก็ต้องเป็นภาษาเขียน  เพราะฉะนั้น ก็เลยมองว่า ภาษามันไม่ได้วิบัติ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเอามันไปใช้มันถูกที่ถูกเวลาไหม ไม่ได้บอกว่าการใช้ภาษาที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ถ้าเกิดว่าเราทำให้ถูกต้องจนติดเป็นนิสัยได้ก็ดี  มันทำให้เราจำได้ด้วย ว่าแบบไหนคือถูกต้อง จริง ๆ ทุกวันนี้ก็ใช้ภาษาแชทนะ บางทีก็มี เอ๊ะ ทำงานอยู่ต้องเปลี่ยน"  

  

รักในอาชีพการเป็นครูหรือยัง 

อาจารย์กล่าวอย่างมั่นใจและติดตลกว่า "รักแล้วค่ะ รู้สึกว่า ทำอย่างอื่นก็น่าจะไม่รอดแล้ว น่าจะด้วยความเป็นศึกษาศาสตร์ในระดับปริญญาตรีด้วย ทำให้เราวัดผล ประเมินผลเป็น แล้วรู้จิตวิทยาการศึกษาบ้าง ก็เลยนำมาสู่การเป็นครู แม้ว่าในระดับที่สูงขึ้นจะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการศึกษาแล้ว เป็นภาษาไทยเพียว ก็สามารถนำมาประยุกต์กับสิ่งที่เราเรียนตอน ป.ตรี คือ ในด้านการสอนได้ เหมือนมันค่อย ๆ หล่อหลอมตัวเราให้เราเป็นแบบเนี้ย" คำตอบสวยเหมือนอาจารย์เลย  

ขณะพูดคุยกับอาจารย์จอมขวัญ ทำให้รู้เลยว่าอาจารย์เป็นคนมองโลกในแง่บวกมาก ๆ เข้าใจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับฐานะทางสังคม เข้าใจความเป็นเด็ก วัยรุ่น และมีความเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมให้คำปรึกษาอยู่เสมอ ตลอดการพูดคุย อาจารย์จะยิ้มแย้มและอธิบายทุกอย่าง อย่างเข้าใจง่าย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนักศึกษาถึงหลงรักอาจารย์คนนี้  

สุดท้ายลาไปด้วยรูปอาจารย์คนสวยที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่อาจารย์เข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นครูที่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม... 

  

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง