หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เส้นทางบูรณะ วัดเขียนบางแก้ว กับพวกโจรสลัดมลายูอุยงตะนะบุกโจมตีวัด(พัทลุง)
27 กันยายน 2563 | 6,383

วัดเขียนบางแก้ว วัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ. 2533 ตั้งอยู่เลขที่ 52 บ้านบางแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีชื่อเรียกกันมาหลายชื่อซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา อาทิ วัดพระธาตุบางแก้ว วัดตะเขียนบางแก้ว วัดบางแก้ว แต่ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารมีชื่อเรียกขานกันว่า “วัดเขียนบางแก้ว” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของโคกเมืองมีคลองบางหลวง หรือคูเมืองกั้นกลาง ในบรรดาวัดเก่าแก่ในจังหวัดพัทลุงถือว่าวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-14) ตามตำนานเรื่องเล่าพื้นเมืองหลาย ๆ ตำนาน เช่น ตำนานเพลาวัด ได้กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วไว้ว่า นางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้ ตามที่ ทางหาดใหญ่โฟกัส เคยได้นำเสนอตำนานไปแล้วนั้น

แต่สำหรับวัดแห่งนี้แล้วก็มีความเกี่ยวโยงกับนาวเลือดขาวเช่นกัน ตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน ตอนต้นกล่าวถึงสงครามในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้ชาวอินเดียอพยพหนีภัยมาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู บริเวณเมืองท่าปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วข้ามแหลมมายังอำเภอตะโหนด และอำเภอปากพะยูน ขณะนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ชาวบ้านพระเกิดเป็นนายกองช้างไม่มีบุตร จึงเดินทางไปขอบุตรีชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตง บ้านตะโหมด นำมาเลี้ยงไว้ชื่อว่านางเลือดขาว เพราะเป็นคนผิวขาวกว่าชาวพื้นเมืองต่อมาได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่เสรี่ยง ให้ชื่อว่ากุมารหรือเจ้าหน่อ เมื่อทั้งสองเจริญวัย ตายายจึงให้แต่งงานกัน แล้วอพยพไปตั้งบ้านที่บางแก้ว เมื่อตายายถึงแก่กรรมทั้งสองก็ได้นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์

หลังจากนั้นทั้งสองได้สละทรัพย์ สร้างโบสถ์ วิหาร ในวัดเขียนบางแก้ว และวัดสทิง (สทัง) เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น และได้เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราชเพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดเขียนบางแก้ว และได้สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์วัดพระงามวัดถ้ำพระพุทธที่จังหวัดตรัง สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ หรือวัดเจ้าแม่อยู่หัว ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาวทราบไป ถึงกษัตริย์กรุงสุโขทัยจึงโปรดให้พระยาพิษณุโลก มารับนางเลือดขาวเพื่อชุบเลี้ยงเป็นมเหสี

โดยวัดเขียนบางแก้วมีเหตุการณ์ที่นา่จดจำอีกหนึ่ง นั่นก็คือการบูรณะใหญ่ครั้งที่ 2 ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าในสมัยอยุธยาตอนกลางเมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูอุยงตะนะ (อุยงตะนะคือกลุ่มโจรสลัดมาเลย์จากเมืองยะโฮร์ที่ตั้งอยู่ปลายแหลมมลายู) อยู่บ่อยครั้ง บางครั้งพวกโจรสลัดได้เข้ามาเผาทำลายบ้านเรือนราษฎร์วัดวาอารามเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัดเขียนบางแก้วชำรุดทรุดโทรม และเป็นวัดร้างในบางครั้ง จนเมื่อผู้คนสามารถรวมตัวกันได้และตั้งเมืองขึ้นใหม่ก็ได้ทำการบูรณะวัดขึ้นอีก ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา

ได้กล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ ๆ 2 ครั้ง คือครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนกลางระหว่างปี พ.ศ. 2109-2111 ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะวัดคือเจ้าอินบุตรปะขาวกับนางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ครั้งที่ ๒ สมัยพระเพทราชา ตรงกับ พ.ศ. 2242 ผู้นำในการบูรณะปฏิสังขรณ์ คือพระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง เมื่อท่านได้บูรณะแล้วจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา

เพื่อขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ได้ร่วมทำการบูรณะได้รับการเว้นส่วยสาอากรให้กับทางราชการ จึงก็ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯตามที่ขอทุกประการ ด้วยเหตุจึงทำให้วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นศูนย์กลางของคณะป่าแก้วในสมัยอยุธยา มีคณะขึ้นกับคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงทั้งใน เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาและเมืองตรัง เป็นจำนวนกว่า  290-298 วัด ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2  เมื่อปี พ.ศ. 2310 วัดเขียนบางแก้วก็กลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะ ต่อมาอีกหลายครั้งจนปัจจุบันวัดเขียนบางแก้วก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญ

ขอบคุณภาพข้อมูล : ข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง