หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สวยงามยืนหนึ่งในระโนด ประวัติ "วัดเจดีย์งาม" สร้างสมัยศรีวิชัย
2 สิงหาคม 2563 | 8,059

วัดเจดีย์งามหรือวัดพระเจดีย์งาม ตั้งอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีวิชัย ตามปรากฏในแผนที่ภาพกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยาเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระไจดีงาม" เป็นวัดที่ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้วเมืองพัทลุง แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฎภายในวัดแล้ว พบว่ามีการพัฒนาต่อเนื่องกันมาเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์

วัดเจดีย์งามหรือวัดพระเจดีย์งาม น่าจะสร้างขึ้นในสมัยใดยังไม่ปรากฎแน่ชัดแต่จากหลักฐานที่ปรากฎทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรื่อง อันเนื่องจากลักษณะของสถาปัตยกรรมคือองค์เจดีย์ น่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อมาได้บูรณะและปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบทรงลังกา ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนรูปแบบการสร้างเจดีย์ที่พระอโนมทัสสีนำมาจากลังกาทวีป และจากหลักฐานที่ปรากฎในตำนานกล่าวว่าเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 ภายใต้การปกครองของ "ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช" หรือ "ราชวงศ์ปทุมวงศ์" (ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช หรือราชวงศ์ปทุมวงศ์มีที่มาจากกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรศรีธรรมราชเป็นราชวงศ์หนึ่งของสยาม ที่เคยมีอำนาจปกครองอาณาจักรศรีธรรมาราช ซึ่งปกครองเมืองใหญ่ในคาบสมุทรมลายูจำนวน 12 เมือง เรียกว่าเมือง 12นักษัตร

 เมื่ออาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจและสถาปนาอาณาจักรไทยขึ้นด้านทางภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนอาณาจักรศรีธรรมาราช มีอำนาจรุ่งเรืองทางภาคใต้โดยทั้งสองอาณาจักรได้เจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยเฉพาะด้านศาสนามีการส่งพระสงฆ์ไปยังอาณาจักรสุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และจากหลักฐานที่ปรากฎว่าอาณาจักรศรีธรรมาโศกราช ยอมที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยของราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ.1792-1981) อาณาจักรศรีธรรมาราชราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชโดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เริ่มสถาปนาประมาณปี พ.ศ. 1830) พระมหากษัตริย์แห่งปัทมวงศ์ ได้มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่หลังจากที่เสื่อมถอยด้วยอิทธิพล และในเวลาต่อมาก็ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จึงได้เกิดวัดวาอาราม พระสถูป เจดีย์ ขึ้นทั่วไปตามบ้านเมืองที่ตั้งอยู่สันทราย ศิลปกรรมที่เกิดขึ้นในยุคนี้เป็นการปรับปรุงลักษณะศิลปกรรมของท้องถิ่นภาคใต้ แต่เดิมให้เข้ากับลัทธิและคติทางหินยานที่รับมาจากลังกา

จากหลักฐานและนักโบราณคดีได้กล่าวถึงเมืองสทิงพระหรือสทิงปุระไว้ว่าเป็นชุมชนโบราณของภาคใต้รองจากเมืองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เป็นเมืองระดับรองเดียวกับเมืองไชยา อาณาเขตของเมืองสทิงพระประกอบด้วยบริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลา โดยที่ทิศตะวันออกกับตะวันตกของทะเลสาบ (ปัจจุบันนี้คืออำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา กับท้องที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุงคือวัดเขียนบางแก้ว) บริเวณที่เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ที่สุดได้แก่ที่เรียกว่าแผ่นดินบก

คือบริเวณตั้งแต่หัวเขาแดงบนฝั่งตรงข้าม กับตัวเมืองจังหวัดสงขลาเรื่อยไปทางเหนือ ผ่านเขตอำเภอสทิงพระ ไปจนสุดเขตอำเภอระโนดเป็นบริเวณที่เป็นเกาะอันเกิดจากการทับถมของซากปะการัง มีลักษณะเป็นสันยาวทอดขึ้นไปทางเหนือ ขนาบด้วยทะเลในปะการัง มีลักษณะเป็นสันยาวทอดขึ้นไปทางเหนือ ขนาบด้วยทะเลในอ่าวไทยทางด้านตะวันออก และทะเลสาบสงขลาทางด้านตะวันตก ผิวดินของเกาะนี้ประกอบด้วยที่สูงและต่ำสลับกันไปที่สูง คือสันทรายหลายสายทอดยาวขนาบไปตามความยาวของเกาะบริเวณสันทรายเหล่านี้เป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนที่เป็นบ้านเป็นเมือง เหตุที่ชาวบ้านเรียกแผ่นดินบกก็เพราะขนาบด้วยน้ำทั้งสองข้างและเคยเป็นบ้านเมืองมาช้านาน

ซึ่งวัดเจดีย์งามเป็นวัดที่มีสำคัญกับชุมชนบ้านเจดีย์และชุมชนใกล้เคียง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดเจดีย์งาม ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า3715 เรื่องประกาศขอบเขตโบราณสถานวัดเจดีย์งาม (เพิ่มเติม) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 31 วันที่ 12 มีนาคม 2528 หน้า 1208 พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา มีข้อความไว้ดังนี้คือปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (วัดเจดีย์งาม) ปี พ.ศ. 2528กรมศิลปากรประกาศขอบเขตโบราณสถานเพิ่มเติม พ.ศ. 2553กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

ขอบคุณภาพข้อมูล : สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง