หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

"น้องสอง" เยาวชนต้นแบบ สืบสานวัฒนธรรมหนังตะลุง ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นของภาคใต้
31 กรกฎาคม 2563 | 5,720

หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ โดยเป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท" มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม 

ซึ่งปัจจุบันทราบว่ามีเยาวชนอยู่น้อยคนนักที่สนใจ เเละยังคนอนุรักษ์ไว้ เช่นเดียวกับหนังสองนุ้ย วาทีบันเทิง หรือนายหนังสองที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยนายธรรมรัตน์ จันทภาโส หรือน้องสอง เยาวชนชาวควนเนียง ปัจจุบันศึกษา ป.ตรี สาขารปศ. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา โดยน้องสองมีความสนใจเเละเเรงบันดานใจที่จะสืบสานวัฒนธรรมหนังตะลุง หาดใหญ่โฟกัสจึงได้สัมภาษณ์น้องสองเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา พร้อมทั้งเเรงบันดาลใจให้มาเป็น หนังสองนุ้ย วาทีบันเทิง

- เส้นทางที่น้องใฝ่ฝันมาเป็นนายหนังตะลุง?

ถ้าให้เล่าถึงเส้นทาง อาจจะมีความซับซ้อนมากกว่าจะมาเป็นนายหนัง เพราะเด็ก ๆ ชอบมากกับหนังตะลุง เห็นตัวหนังตะลุงที่ไหน ก็จะชอบซื้อเก็บไว้ แล้วมาเล่นกับฝาผนังบ้าน เพราะความชอบ จนกระทั่ง พ่อต้องมาเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน จึงทำให้ผม ผันตัวมาพึ่งธรรมะ ยึดร่มพระศาสนา บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 3 ปี และได้ศึกษาทางธรรม ได้นักธรรมชั้นโท และเรียนกศน.ควบคู่กันไป เพื่อเป็นการไม่ทิ้งการเรียน ก็เลยทิ้งหนังตะลุงมาตั้งแต่บัดนั้น เวลาผ่านไป เมื่อลาสิกขามา ก็มีแรงบันดาลใจกระตุ้นตัวเองอีกครั้ง ในด้านการแสดงหนังตะลุง ได้มีพระอาจารย์รูปนึง ท่านชื่อว่า พระอาจารย์เชษฐา เขมธโร วัดควนโส เห็นว่า ผมมีความชอบในด้านนี้ จึงพาไปฝากตัวเป็นศิษย์ ของหนังชายป้อ ประทุมศิลป์ อ.ควนเนียง จ.สงขลา ก็ได้ฝึกฝนหนังอย่างจิงจังอีกครั้ง และได้ออกงานครั้งแรก ในนามคณะหนังสองนุ้ย ประทุมศิลป์เป็นที่ประทับใจในระดับหนึ่งของสายตาคนดู 

หนังชายป้อ มองเห็นเส้นทางตรงนี้ จึงสนับสนุนเต็มที่ ผลักดัน และนำไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต ศิลปินแห่งชาติ จังหวัดตรัง และได้ชื่อคณะของตัวเองว่า หนังสองนุ้ย วาทีบันเทิง และทำการเเสดงต่อมา ถึงปัจจุบัน ยังไม่ถึงขั้นทีชื่อเสียง แต่พอเป็นที่รู้จักในวงการหนังตะลุง

- ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง น้องมีความรู้สึกอย่างไรบ้างที่มาเป็นนายหนัง?

ในฐานะที่เป็นเยาวชนคนหนึ่ง มีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนใต้ ได้พูดใต้ ได้รักษาเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของคนใต้ ที่สำคัญได้อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะแขนงหนังตะลุง คิดได้ว่า “ชาตินี้เกิดมาไม่เสียดายแล้วที่ได้เกิดเป็นคนใต้ และรักษาวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้”

- การที่เราเล่นหนังตะลุงมีส่วนในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไรบ้าง?

การที่เลือกเส้นทางนี้ ก็มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่น เหมือนเรามีงานเเสดง เราก็ได้ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนที่ได้ก็เอามาแบ่งกัน ให้กับลูกคู่ทีมงาน ซึ่งส่วนใหญ่ลูกคู่ยังอยู่ในวัยการศึกษา เป็นทีมงานลูกคู่เยาวชน ที่กำลังเรียนไปด้วย หาเงินไปด้วย ก็ได้นำเงินที่ได้ค่าตัว ไปใช้จ่ายในการเรียน เป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัว และที่ล่าสุดที่ผมได้มีความภาคภูมิใจ และดีใจที่ได้ทำ นั้นคือ เมื่อตอนสถานการณ์โควิดระบาด ผมได้นำเงินที่ได้จากการแสดงหนังจำนวนหนึ่ง ไปบริจาค ซื้อกล่องใส่ข้าวให้กับโรงทานวัดไทรงาม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการทำบุญ และก็ช่วยเหลือคนที่ลำบาก เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

- น้องสองอยากจะฝากอะไรถึงเยาวชนรุ่นหลังมั๊ย?

ขอฝากเยาวชนรุ่นหลังว่า ศาสตร์และศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นแขนงไหน จะเป็นหนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า หรืออื่น ๆ ก็ช่วยกันอนุรักษ์รักษาไว้ ถึงจะไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์มันเอง แต่ก็ให้เป็นผู้ชมที่ดี ไม่ทอดทิ้ง ไม่หลงแสงสี ไม่หลงอารยธรรมใหม่ ๆ เพราะศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเหล่านี้ เป็นเอกลักษณ์ และรากเหง้าของคนใต้ ลูกหลานควรเห็นค่าในจุดนี้ครับ หากสนใจติดต่อการเเสดงหรือเข้ามาเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมการเล่นหนังตะลุงสามารถติดต่อมาได้ที่เบอร์ 098-0753691 หรือช่องทางเฟซบุ๊ก หนังสองนุ้ย วาทีบันเทิง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง