หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

บ่อโอ บ่อน้ำโบราณเมืองสงขลา ขุดขึ้นเพื่อใช้ในกิจการรถไฟตั้งแต่เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว
5 กรกฎาคม 2563 | 5,923

สงขลาเป็นเมืองสองทะเล ไม่มีแหล่งน้ำจืดผิวดิน และดินเป็นดินทราย จึงต้องขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้ เมื่อทางรถไฟสร้างมาถึงสงขลาในปี พ.ศ. 2456 นั้น สิ่งที่มาพร้อมกันกับขบวนรถไฟและอาคารสถานี คือโรงซ่อมบำรุงรถจักร บ้านพักเจ้าหน้าที่ โรงรับส่งสินค้าถังน้ำและบ่อน้ำ 

แม้สถานีสงขลาจะเป็นเพียงสถานีปลายทางที่อยู่ในทางแยก ไม่ใช่เส้นทางหลักอย่างสถานีอู่ตะเภาหรือชุมทางหาดใหญ่ แต่ความสำคัญอยู่ที่มีท่าเรือรับส่งสินค้าทางทะเล ระยะแรกจึงสร้างเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถจักรไอน้ำไว้อย่างพร้อมสรรพ

โรงรถจักรตั้งอยู่หลังวัดโรงวาสต่อกับวิทยาลัยพยาบาลในปัจจุบัน หน้าโรงรถจักรมีแท่นหรือวงเวียนกลับรถจักร ซึ่งใช้ประโยชน์ในการหมุนรถจักรให้ตรงกับโรงซ่อมและใช้ในการกลับหัวรถจักรไอน้ำ ซึ่งมีห้องขับเพียงด้านเดียว

หลังโรงรถจักรมีถังน้ำสูงรูปแก้วไวน์ มีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก รถจักรไอน้ำวิ่งได้ เพราะใช้ความร้อนจากการเผาฟืนไปต้มน้ำ เอาพลังไอน้ำไปขับดันลูกสูบ จึงต้องมีจุดเติมน้ำเติมฟืนให้รถจักรแวะ เทียบได้กับปั๊มน้ำมันในสมัยนี้ สงขลาเป็นเมืองสองทะเล ไม่มีแหล่งน้ำจืดผิวดิน และดินเป็นดินทราย จึงต้องขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสะอาดสำหรับเติมรถจักร โดยสูบขึ้นไปเก็บไว้ในถังสูง แล้วปล่อยลงมาเติมรถจักรด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก

แม้ยังสืบค้นประวัติได้ไม่ชัดเจนมากนัก แต่ผมคิดว่าโรงรถจักรสงขลาและถังน้ำคงไม่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าอย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อตอนแรกสร้าง ด้วยเหตุที่ห่างออกไปเพียง 30 กิโลเมตรก็มีสถานีชุมทางหาดใหญ่ที่พัฒนามากกว่า มีอุปกรณ์ครบครัน ถังน้ำและโรงรถจักรจึงยุติการใช้งานไปก่อน พ.ศ. 2500 ปัจจุบันไม่มีร่องรอยใด ๆ เหลือให้เห็น บ่อน้ำก็ถูกทิ้งร้างอยู่ริมรั้วคลังน้ำมันสงขลา ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อโอ เป็นบ่อกลมก่อด้วยอิฐ คล้ายบ่อพลับที่มัสยิดอุสาสนอิสลาม แต่กว้างกว่ามาก ในบ่อเต็มไปด้วยเศษขยะและน้ำสกปรก

ชาวบ้านเล่าว่า คลังน้ำมันมีส่วนทำให้น้ำปนเปื้อนคราบน้ำมัน เมื่อคลังน้ำมันรื้อถอนออกไป และเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือนกลายเป็นชุมชน ชาวบ้านและเทศบาลได้ฟื้นฟูบ่อโอให้ใช้งานได้อีกครั้ง เป็นแหล่งน้ำใช้สำคัญของชุมชนจนถึงทุกวันนี้

ขอบคุณภาพข้อมูล : เพจสถานีรถไฟสงขลา , นายพุทธ ส่องศรี

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง