หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

"พยาบาลสาว" โรงพยาบาลสงขลา มุ่งมั่นปฎิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19
29 เมษายน 2563 | 5,285

หากพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ทุกคนต้องนึกถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเเน่นอน โดยปัจจุบันนี้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โรคนี้ทำให้เกิดอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ (เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่) โดยมีอาการอย่างเช่น ไอ เป็นไข้ และหายใจลำบากในรายที่มีอาการรุนแรง โดยหลักแล้ว โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่ไอหรือจามออกมา รวมถึงการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีไวรัสอยู่ แล้วไปสัมผัสดวงตา จมูก หรือปากของตัวเอง ซึ่งหาดใหญ่โฟกัสได้สอบถามเรื่องราวจากผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยสอบถามจากพี่ ๆ พยาบาล ซึ่งเป็นตัวแทนจากงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลสงขลา

-จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตัวเราเองหรือคนรอบข้าง สังคม มากน้อยเพียงใด อย่างไรบ้างคะ ?

กระทบเพราะเป็นสถานการณ์ของโรคระบาด ต่อตัวเราในบทบาทของวิชาชีพในการทำงาน เราต้องปรับเปลี่ยนแผนการทำงานใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับการระบาดของโรค งานประจำต้องดีไซน์ใหม่ทั้งหมดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้โรคระบาดเข้ามาสู่โรงพยาบาล และสามารถควบคุมได้ โดยปกติการทำงานในโรงพยาบาลคือเรามีงานประจำ แต่พอโรคระบาดเข้ามา เราต้องลดความแออัด ลดปริมาณคนไข้ เพื่อไม่ให้กระทบกัน เราต้องมีแผนประคองกิจการงานของเราอีก แปลว่าเราต้องใช้การดีไซน์ระบบใหม่ ส่วนเรื่องส่วนตัว ถ้ากระทบต่อเราและคนในครอบครัวก็คือ เราทำงานในโรงพยาบาล เรามีโอกาสที่จะเป็น super spreader ให้กับคนในครอบครัวได้ ตอนนี้เราต้องระมัดระวังการนำพาเชื้อโรคกลับไปติดที่บ้าน เราต้องมั่นใจว่าตัวเราเองสะอาด ปลอดเชื้อ ก่อนกลับบ้านทุกครั้งก็จะต้องอาบน้ำ เพราะที่บ้านสะอาด คนที่บ้านปลอดเชื้อ

- การที่ตัวคุณพยาบาลเองต้องใกล้ชิดหรือพบเจอคนป่วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอาการสุ่มเสี่ยง หรือติดเชื้อ คุณมีการรับมืออย่างไรบ้างคะ และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรในการป้องกันตนเอง ?

เราต้องมีอุปกรณ์การป้องกันตัวเราเองให้เหมาะสม จากการปฏิบัติงานแบบเดิมที่ป้องกันอยู่แล้วนะคะ เช่นการรักษาระยะห่าง ถ้าเราต้องพูดคุย ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เรามีการล้างไม้ล้างมือเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างในตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้เราต้องมีอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น เพิ่มมากกว่าปกติ อย่างเช่น เราต้องมีชุด PPE ถุงมือ รองเท้า แว่นตากันลม หน้ากาก N95 และ face shield เป็นต้น เป็นอุปกรณ์ที่มาใช้เพิ่มเติมขึ้น เพราะโรคนี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าสามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองเสมหะ (droplets) ดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้จึงจำเป็นกับเรามาก การที่มีองค์กรหรือกลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามาบริจาคก็ช่วยได้เยอะ นอกจากพวกอุปกรณ์แล้ว การดูแลสุขภาพก็สำคัญ ถ้าเรามีอุปกรณ์ป้องกันครบชุด แต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ เราไม่เข้มแข็ง เราก็จะต่อสู้กับเจ้า COVID-19 ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะนอกจากตัวเราจะต้องเข้มแข็งแล้ว เรายังต้องพาทีม พาคนอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งผู้ป่วยที่เราดูแลอีกนะคะ เขาก็ต้องเข้มแข็งสู้ไปกับเรา บางคนพอรู้ว่าเข้าข่ายสงสัย COVID-19 เขาก็กลัว สิ้นหวัง ดังนั้นเราก็ต้องพยุงกันไป เสริม

-คิดว่าอุปกรณ์การป้องกันของโรงพยาบาลในตอนนี้เพียงพอรึยังคะ ซึ่งในบางสถานที่ยังคงขาดแคลนขอรับบริจาค ?

ถ้าเราประเมินกับปริมาณผู้ป่วยในปัจจุบันตอนนี้เพียงพอค่ะ แต่เราก็ไม่อาจรู้เพราะโรคระบาดนี้มีหลายปัจจัย จะมารอบสองอีกหรือไม่ ถ้ามีการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง แล้วเยอะก็จะไม่เพียงพอ ต้องคิดกับปริมาณผู้ป่วยเป็นหลักซึ่งเป็นเรื่องของการคาดการณ์ เราไม่อยากให้เมื่อเกิดเหตุขึ้น แล้วเราไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน แต่ตอนนี้ที่ทุกคน ทุกหน่วยงานพยายามเตรียมการก็คือการบริหารจัดการความเสี่ยงให้มันไม่เกิดเหตุการณ์ที่อุปกรณ์ไม่เพียงพอค่ะ

- รู้สึกท้อไหมคะเวลาที่เจอเคสเสี่ยงๆ (เคสผู้ป่วยโควิด-19) หากไม่ท้อ คุณพยาบาลมีกำลังใจที่ดีได้จากไหนบ้างคะ ?

ไม่ท้อ เราอยากเห็นคนไข้หาย อยากให้เขากลับมาหาย ใช้ชีวิตอย่างปกติ พี่ไม่ท้อนะ ไม่กลัวด้วย การทำงานถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยบ้าง อาจจะท้อเป็นบางเวลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่เราอยู่ได้ ก็คือหนึ่งถ้าเราเห็นคนไข้หายแล้วกลับไป สองคือทีมทำงาน ถ้าทีมดี ความเหนื่อยมันก็หายไป ทุกคนอาจจะมีท้อ มีเหนื่อย แต่อยู่ที่ทีม และผลที่ได้รับจากการดูแลคนไข้ เลยทำให้หายเหนื่อย หายท้อ ถ้าคนไข้ตอบสนองต่อการรักษา เราจะมีความสุข วันไหนที่คนไข้กลับบ้านได้ เราก็จะมีความสุข พี่เข้าใจทหารเลยนะ พี่ๆทหาร ที่เขาก็มีครอบครัว คนที่อยู่ข้างหลัง แต่พอวันไหนที่มีศึกเข้ามา เขาก็จะฮึกเหิม มันเป็นความรู้สึกเดียวกัน มันเป็นหน้าที่ของเรา . ถ้าถามว่ากลัวไหม ทุกคนอาจจะกลัว อาจจะท้อ อาจจะเหนื่อยบ้างในบางครั้ง แต่ว่าเราเป็นตัวแทนมาปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ ก็ได้อะไรหลายๆอย่างเยอะเลยค่ะ สนุกกับงาน ไม่ได้กลัวหรือกังวลอะไรเท่าไหร่ แต่จะกังวลและเป็นห่วงกับเรื่องที่บ้าน ว่าเขาเป็นห่วงเรา แต่ในตัวของเรา เราไม่ได้กลัวตัวโรค เพราะเรารู้ว่าจะป้องกันอย่างไร คือเรามองว่าเราโชคดี ผู้บริหารเข้าใจ เขาสนับสนุน อันนี้ก็เป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง ผู้บริหารเขาก็คิดถึงพวกเรา เขาก็จะติดตาม ถามไถ่ อีกอย่างการที่มาปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดนี้มองว่ามาเป็นตัวแทน ถ้าทีมดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง การทำงานเป็นทีม เราจะช่วยเหลือกัน เข้าใจกัน แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน ความร่วมมือของสหวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกัน

-การที่คุณพยาบาลเองต้องใกล้ชิดหรือพบเจอกับผู้ป่วยที่มีอาการสุ่มเสี่ยง หรือติดเชื้อ แล้วตัวคุณพยายาลเองมีไข้ มีอาการเข้าข่ายภายหลัง จนต้องสอบสวนโรค ต้องกักตัว มีความเครียดไหม และมีผลกระทบกับครอบครัวหรือไม่ ?

อาจจะเครียดในกรณีที่ครอบครัวมีความเป็นห่วง ส่วนตัวมั่นใจว่าตัวเราเองไม่มีการปนเปื้อน เรารู้และเข้าใจว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เมื่อเราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคนไข้ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 พอเรามีไข้ เราก็ต้องเข้าระบบของการกักกันตัวและการตรวจ swab แต่โดยส่วนตัว คิดว่าตนเองใส่อุปกรณ์ป้องกันครบถ้วน และปฏิบัติตามหลัก ไม่น่าจะมีปัญหา แต่อาจจะมีความเครียดบ้างคือกลัว เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดว่าเป็นขึ้นมาโดยส่วนตัวเอง ก็ไม่กลัวมาก เพราะคิดว่าเราอยู่ในระบบสาธารณสุข การดูแลเราเต็มที่อยู่แล้ว มั่นใจในระบบสาธารณสุข เรารู้และเข้าใจว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เรากลัวที่บ้านมากกว่าเพราะมีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ จะเครียดเรื่องที่บ้านมากกว่าค่ะ

- อยากให้ฝากกำลังใจถึงประชาชนทุกคนที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติเช่นนี้หน่อยค่ะ?

เราอย่าตื่นตระหนก ตื่นกลัว แต่ให้ตระหนักในเรื่องของการควบคุมและป้องกันโรค อย่าให้ความร่วมมือกับนโยบายต่างๆที่มีขึ้น ในความรู้สึกส่วนตัว เมื่อเราใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆและรักษาระยะห่างโรคพื้นฐานก็จะไม่ค่อยเห็น พบน้อยลง เช่น โรคหวัด มันดีขึ้นนะ ถ้าเรานำไปปฏิบัติใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันจนเกิดความเคยชินก็จะโอเค พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทุกคนรู้จักป้องกันตนเอง ถ้าทุกคนร่วมมือกันมันก็จะดีขึ้น ที่สำคัญคือสติ ต้องตั้งสติให้ดีในการตั้งรับกับโรคที่มันเกิด ดังคำที่ว่า สติมาปัญญาเกิด พอเรามีสติ เราตั้งรับ แล้วเราเข้าใจ เรารู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยง ทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตน กักตัว ดูแลตนเอง รักษาระยะห่างทางสังคม social distancing มันก็จะทำให้หยุดการแพร่กระจายของโรคได้เยอะ จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อก็จะลดลง ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ถ้าหากเราปฏิบัติจนเกิดความเคยชินก็จะช่วยลดการแพร่กระจายได้อาจจะไม่ใช่แค่ COVID-19 แต่รวมถึงอีกหลายๆโรคด้วย มันจะช่วยได้เยอะ ในอนาคตถึงแม้ว่า COVID-19 จะหายไปก็ควรที่จะตระหนัก และปฏิบัติจนเป็นนิสัย ที่เรียกกันว่า New Norm หรือ New Normal ซึ่งก็คือ มาตรฐานใหม่ เป็นค่านิยมหรือบรรทัดฐานของสังคม เราต้องร่วมด้วยช่วยกันปฏิบัติตามนโยบายและคำแนะนำที่ออกมาเสริม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง